บรูไนเริ่มบังคับใช้กฎหมายลงโทษเกย์ที่มีเพศสัมพันธ์กันด้วยการปาหินจนเสียชีวิต จากเดิมที่มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กันเองก็จะถูกเฆี่ยน 100 ครั้ง ส่วนการลักทรัพย์ก็จะถูกลงโทษด้วยการตัดมือขวาในการกระทำผิดครั้งแรก และตัดเท้าข้างซ้ายในการก่อเหตุครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลบรูไนระบุว่า กฎหมายนี้จะถูกบังคับใช้กับชาวมุสลิมเท่านั้น
ราชวงศ์บรูไนถือเป็นหนึ่งในครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ประชาชนชาวมุสลิมมาเลย์มักได้รับสวัสดิการจากรัฐ โดยไม่ต้องเสียภาษีใดๆ บรูไนยังมีการลงโทษด้วยการประหารอยู่ แม้จะไม่มีการประหารชีวิตนักโทษมากตั้งแต่ปี 1957 แล้ว ทั้งนี้ บรูไนใช้กฎหมาย 2 ระบบคือกฎหมายจารีตและกฎหมายชารีอามาตั้งแต่ปี 2014 โดยรัฐบาลบรูไนวางแผนจะค่อยๆ เปลี่ยนมาใช้กฎหมายชารีอาอย่างเต็มตัว
ปฏิกิริยากลุ่ม LGBTQ ชาวบรูไนต่อกฎหมายฉบับใหม่
เกย์ชาวบรูไนคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า เมื่อคุณตื่นขึ้นมาพบว่าเพื่อนบ้าน ครอบครัว หรือแม้แต่หญิงชราใจดีที่ขายของอยู่ริมถนนไม่คิดว่าคุณเป็นมนุษย์ หรือเป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่จะถูกปาหินจนตาย ถือเป็นเรื่องน่าตกใจและน่ากลัวมาก
อดีตพนักงานรัฐของบรูไน ซึ่งหนีออกนอกประเทศหลังถูกตั้งข้อหากบฏเพราะโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์รัฐบาลบรูไนระบุว่า การเพิ่มโทษครั้งนี้ทำให้ประชาชรหวาดกลัว กลุ่มหลากหลายทางเพศในบรูไนไม่เคยเปิดเผยตัวตนของตัวเอง เมื่อมีแอปฯ หาคู่ของเกย์อย่าง Grindr ก็ทำให้เกย์นัดพบกันอย่างลับๆ ได้ แต่ปัจจุบัน อาจไม่มีใครกล้าใช้แอปฯ ดังกล่าวแล้ว เพราะกลัวว่าตำรวจจะปลอมตัวมาเป็นเกย์ แล้วจับกุมพวกเขา
ปฏิกิริยาต่างชาติและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่อกฎหมายฉบับใหม่ของบรูไน
ก่อนหน้านี้ จอร์จ คลูนีย์ นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังเขียนบทความซึ่งเผยแพร่โดย Deadline เพื่อประณามการเพิ่มโทษอาญาของบรูไน พร้อมเรียกร้องให้คนบอยคอตโรงแรม 9 แห่งของสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ประมุขของบรูไน โดยมีคนร่วมกันบอยคอตโรงแรมเหล่านี้กันทั่วโลก รวมถึง เอเลน ดีเจเนอเรส พิธีกรเลสเบี้ยนชื่อดังของสหรัฐฯ
ด้านนักศึกษาวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา (SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน ก็ออกมาเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนชื่ออาคารเรียน "บรูไน แกลลอรี" เพื่อตอบโต้กฎหมายที่ล้าหลังเช่นนี้
ขณะที่แอมเนสตี้ อินเทอร์เนชันแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลได้เรียกร้องให้บรูไนยุติการเพิ่มโทษใหม่ทั้งหมด โดยเรเชล โช-ฮาเวิร์ด นักวิจัยบรูไนกล่าวในแถลงการณ์ว่า การบังคับใช้บทลงโทษที่ทารุณและไร้มนุษยชนเป็นเรื่องน่ารังเกียจด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่บางข้อหาไม่ควรเป็นอาชญากรรมด้วยซ้ำ เช่น การร่วมเพศกันโดยสมัครใจระหว่างคนเพศเดียวกัน
ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลกล่าวว่า การเพิ่มโทษครั้งนี้เป็นการลงโทษที่ป่าเถื่อนโดยแก่นแท้ พร้อมเรียกร้องให้สุลต่านบรูไนระงับการตัดอวัยวะ ปาหิน และการลงโทษอื่นๆ ที่ละเมิดสิทธิทันที
ส่วนเดอะบรูไนโปรเจค กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า การเพิ่มโทษในหลายข้อหารอบนี้เป็นไปอย่างลับๆ คนส่วนใหญ่ในประเทศไม่รู้เลยว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ในอีกไม่กี่วันนี้ ซึ่งกฎหมายนี้จะส่งผลกระทบกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างมหาศาล
ทำไมเพิ่งมาบังคับใช้กฎหมายตอนนี้?
แมทธิว วูลฟี ผู้ก่อตั้งเดอะบรูไนโปรเจคอธิบายว่า การเพิ่มโทษอาญาในเวลานี้อาจอธิบายได้ด้วยหลายทฤษฎี โดยหนึ่งในนั้นคือ รัฐบาลบรูไนพยายามรักษาอำนาจไว้ให้มั่น เพื่อรับมือกับความไม่สงบที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำ และการทำเช่นนี้ก็อาจช่วยดึงดูดนักลงทุนจากประเทศมุสลิม รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเข้าไปในบรูไนมากขึ้น
วูลฟีกล่าวว่า รัฐบาลบรูไนพยายามจะออกกฎหมายนี้อย่างเงียบๆ ไม่มีการประกาศออกมาให้สาธารณชนรับทราบ แม้จะมีการแก้ไขกฎหมายตั้งแต่เดือนธ.ค. 2018 แล้ว เพราะไม่ต้องการให้นานาชาติหลังมาสนใจมากเท่ากับการเปลี่ยนแปลงสู่การใช้กฎหมายชารีอาในช่วงแรกเมื่อปี 2014
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :