เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2564 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหาชาวบางกลอยว่า การประชุมในวันนี้ได้ข้อสรุปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะนำมติที่ประชุมในวันนี้ โดยมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ข้อเท็จจริง ในการแก้ไขปัญหาชาวบางกลอย ตามเงื่อนไขของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้ง 7 ข้อ โดยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ลงนาม
"หลังจากนี้ฝ่ายเลขาฯ ครม.จะนำเรื่องดังกล่าวรายงานให้ครม.รับทราบ ซึ่งมีกรอบระยะเวลาการทำงาน 30 วันโดยเมื่อได้ข้อสรุป ก็จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกับกรณีการแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะนะ" ร.อ.ธรรมนัสกล่าว
ส่วนเรื่องคดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะมีการชะลอการดำเนินคดีทั้งหมด ซึ่งในวันนี้จะเดินทางกลับบางกลอยทั้งหมด ส่วนคนที่เรียกร้องแทนชาวบางกลอย ร.อ.ธรรมนัสมองว่าคุยกับผู้เดือดร้อนโดยตรง ไม่ใช่ผู้ที่เรียกร้องให้ชาวบางกลอย อะไรก็ตาม สิ่งที่เขาเรียกร้อง นั่นคือปัญหา
1.สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทบทวนท่าทีในการแก้ไขปัญหา โดยไม่วางตัวเป็นคู่ขัดแย้งและเป็นปฏิปักษ์กับประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งขอให้รัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับยุติการบิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริง อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ความเกลียดชังต่อกลุ่มชาติพันธุ์
2.ขอให้ดำเนินการยุติและเพิกถอนการดำเนินคดีกับชาวบ้านทั้ง 30 ราย ทั้งนี้ เนื่องจากชาวบ้านคือผู้ได้รับผลกระทบจากความล้มเหลวจากการถูกบังคับให้อพยพจากพื้นที่ชุมชนเดิม และไม่ได้รับการดูแลคุณภาพชีวิตอย่างที่ควรจะได้รับเป็นเวลามากกว่า 20 ปี อีกทั้งข้อเท็จจริงในกระบวนการจับกุมดำเนินคดีอาจเป็นไปโดยมิชอบ อาทิ ขั้นตอนการออกหมายจับ ปฏิบัติการจับกุม การกีดกันไม่ให้พบญาติ การพรากเด็กหรือผู้เยาว์ไปจากผู้ปกครองให้ไปอยู่ในการดูแลของบุคคลที่ไม่ได้รับการยินยอมและการกีดกันทนายความในขั้นตอนการสอบสวนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในทางคดี รวมทั้งจากการสอบถามชาวบ้านผู้อยู่ในเหตุการณ์จับกุม ได้ความว่ามีการจับกุมด้วยการบังคับ มิใช่จำยอม มีการใส่สายรัดข้อมือ ใช้วาจาข่มขู่ รวมทั้งมีการตรวจดีเอ็นเอและเจาะเลือดชาวบ้าน
3.ให้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” กระบวนการจับกุมดำเนินคดีการกีดกันขัดขวางการส่งความช่วยเหลือด้านอาหาร การเยี่ยมเยียนให้กำลังใจจากสาธารณะและการทำงานข่าวของสื่อมวลชน
4.ในระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงตามข้อ 3 ให้มีคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องออกจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อาทิ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติกรรมข่มขู่คุกคามชาวบางกลอย ทั้งนี้เพื่อให้การสอบสวนหาข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่เกิดความแย้ง ตลอดจนมีการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม
5.สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดถือและดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงระหว่างตัวแทนรัฐบาลที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการประทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับตัวแทนภาคี saveบางกลอย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและผู้แทนชุมชนบางกลอย เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ทำเนียบรัฐบาล อย่างเคร่งครัด
6.ให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ที่ลงนามแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 สามารถเข้าไปในพื้นที่ทำงานได้อย่างอิสระ เพื่อแสวงหาข้อมูลและข้อเท็จจริงที่รอบด้านมาประกอบการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
7.ให้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระที่ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ องค์กรอิสระ ภาคประชาสังคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปัญหาของชุมชนบางกลอยบน-ใจแผ่นดินพร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา
วันเดียวกัน วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาชาวบางกลอย จ.เพชรบุรีว่า เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมา ตนได้มอบให้ จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรวจเยี่ยมพื้นที่บางกลอยด้วยตัวเอง ตนยังยืนยันในสิ่งที่หลายฝ่ายได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งน้ำและการจ้างงาน โดยประชาชนส่วนหนึ่งยังขาดแคลนปัจจัยด้ายการเกษตร และการพัฒนาพื้นที่ให้มีนำ้ที่อุดมสมบูรณ์ โดยขณะนี้ทางกระทรวงฯ มีการศึกษาระบบนำ้เพื่อการเกษตร โดยคาดว่าอีกไม่กี่เดือนจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ โดยคาดว่าอาจใช้เวลา 3-4 เดือน ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาสำคัญ คือ การไม่มีที่ดินทำกินได้
"กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการในทุกมิติ และขอประสานงานไปยังกรมพัฒนาที่ดินในการพัฒนาคุณภาพดิน เพื่อให้สามารถทำการเกษตรได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ" วราวุธกล่าว
ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องทบทวนสิทธิที่ดินใน 30 วันนั้น วราวุธระบุว่า เรื่องการสอบสิทธิ์เป็นสิ่งที่ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่พื้นที่ดินบางกลอยอยู่ในการดูแลของกรมป่าไม้ ซึ่งแต่ละฝ่ายจะต้องมีการพิสูจน์กันไปว่ามีการยึดถือครองกันรูปแบบใด ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องมีหลักฐานพิสูจน์กันอย่างชัดเจน
ส่วนข้อเรียกร้องขอให้ชะลอการดำเนินคดี วราวุธ ระบุว่า ต้องให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ชี้แจง
ทั้งนี้ วราวุธ มองว่า ความพยายามที่จะเชื่อมโยงประเด็นดังกล่าวไปเป็นเรื่องอื่น ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาเดือดร้อนทางการทำเกษตร ส่วนความพยายามให้ NGO พยายามเข้ามาเคลื่อนไหว ตรงนี้ตนไม่สามารถตอบได้ แต่การที่ปลัดกระทรวงได้ไปพูดคุยกับชาวบ้านส่วนใหญ่ระบุเพียงว่าอยากได้นำ้ทำการเกษตรซึ่งก็ถือว่าการแก้ไขปัญหานั้นตรงจุด