ไม่พบผลการค้นหา
เวลา 08.00 น. เป็นเวลาที่คณะราษฎร 2563 นัดชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วางแผนเคลื่อนขบวนไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล บังคับให้รัฐบาลยอมทำตาม 3 ข้อเรียกร้อง

1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) กลาโหม ต้องออกไป 

2. เปิดวิสามัญรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากประชาชน 

3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

ยังไม่ระบุ วัน ว. เวลา น.ยุติการชุมนุมว่าเป็นเมื่อใด ในจังหวะที่ข้อเรียกร้องที่ดูเหมือนจะถูกนำไปปฏิบัติมากที่สุด เป็นทางออกที่ดีที่สุด คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กลับถูกแช่แข็งอยู่ในสภา  

อีกทั้ง ปฏิทินการชุมนุมรอบนี้ ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินทรงตั้งเปรียญธรรม 9 ประโยคและเปรียญธรรม 6 ประโยค 

แด่พระภิกษุสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคและเปรียญธรรม 6 ประโยค ประจำปี 2563 ในเวลา 17.00 น. ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

แกนนำคณะราษฎร 2563 “อานนท์ นำภา” จึงโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “นึกภาพขณะขบวนรถกษัตริย์วิ่งผ่านประชาชนเรือนแสน แสดงออกอย่างอารยะด้วยสันติวิธี ร่วมกันชู 3 นิ้ว” 

และเป็นเหมือนการ “โหมโรง” เมื่อคณะราษฎรอีสาน นำโดย “ไผ่ ดาวดิน” เข้าพื้นที่ก่อนกำหนด เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้อง “กระชับพื้นที่” ขอพื้นที่คืน แกนนำ 21 คนถูกจับ และถูกควบคุมตัวไปไว้ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี  

สถานการณ์จึงอยู่ในภาวะตึงเครียด เพราะทำให้แกนนำม็อบฝ่ายขวา สายอนุรักษ์นิยม ต่างพากันนัดมวลชนมาประจันหน้า ตั้งขบวนที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ทั้ง กลุ่มไทยภักดี ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม กลุ่มพุทธอิสระ กลุ่มหมอเหรียญทอง แม้กระทั่งกำนันสุเทพ – สุเทพ เทือกสุบรรณ

สุเทพ 14 ต.ค.63

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 “พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เผยว่าคนร่วมชุมนุมไม่ถึงหมื่น แต่ไม่ประมาท

“นายกฯเป็นห่วงต่อสถานการณ์ที่จะเกิด มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ติดตามดูแลการชุมนุม ฝ่ายความมั่นคงจะพยายามดูแลสถานการณ์ให้เรียบร้อยที่สุด” 

สตช. พยายามติดตามการเคลื่อนย้ายมวลชนอยู่ ข้อมูลเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ จากข้อมูลปัจจุบันคงมีผู้ร่วมชุมนุมไม่มากเท่าไหร่ ไม่ถึงหลักหมื่น แต่เราไม่ได้ประมาทหรือปรามาส จากข้อมูลการข่าวมีการเคลื่อนย้ายประชาชนจากต่างจังหวัด 40-50 จังหวัด แต่มาจำนวนไม่มาก 

“ส่วนผู้ดำเนินการเป็นกลุ่มเดิมๆเหมือนครั้งที่ผ่านมา มีฝ่ายการเมืองเกี่ยวข้องบ้าง แต่ไม่ขอระบุว่าเป็นฝ่ายไหน ส่วนประเด็นเรื่องมือที่สามนั้น ตอนนี้ยังไม่มีรายงานเข้ามา แต่เราไม่ประมาท” 

การชุมนุมของขบวนการนักศึกษาในครั้งนี้ มิใช่เปลี่ยนแค่นายกรัฐมนตรี แต่เปลี่ยนเชิงโครงสร้าง เปลี่ยนมากกว่า 47 ปีที่แล้ว ในการชุมนุมของขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 

เพราะการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา ก่อนกลายเป็นชนวนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เริ่มจาก 5 ตุลาคม 2516 สมาชิกกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 10 คน อาทิ ธีรยุทธ บุญมี ประสาร มฤคพิทักษ์ ประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร ธัญญา ขุนชฎาธาร แถลงข่าวโครงการรณรงค์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ

เสกสรรค์   นักศึกษา ชุมนุม 14 ตุลาคม 2516  : หนังสือย้ำยุครุกสมัย เฉลิมฉลอง 40 ปี 14 ตุลา -18CF-4BE-4CC5-91E1-D24B16611DD3.jpeg

ข้อเรียกร้องในการแถลงข่าววันนั้น เกิดขึ้นที่ลานสนามหญ้า อนุสาวรีย์ทหารอาสา โดย “ธีรยุทธ” อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แถลงถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ 3 ข้อ

1. เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งร่างรัฐธรรมนูญ และประกาศใช้โดยเร็วที่สุดด้วยสันติวิธี

2. ให้การศึกษาทางการเมืองเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน 

3. กระตุ้นเตือนให้ประชาชนเกิดความสำนึกและหวงแหนในสิทธิ เสรีภาพของมนุษยชน

ขณะเดียวกันโครงการรณรงค์เรียกร้องรัฐธรรมนูญได้วางแผนไว้ 6 โครงการ 

1. ออกหนังสือวิชาการด้านการเมือง บทความ บทวิจารณ์ที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

2. โครงการรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชน โดยจัดบรรยายและสัมมนาเรื่องรัฐธรรมนูญทุก 2 สัปดาห์ โดยจะเผยแพร่ไปสู่ประชาชนในต่างจังหวัดด้วย เริ่มตั้งแต่ 13-14 ตุลาคม 2516

3. อภิปรายและบรรยายเรื่องรับธรรมนูญตามวาระโอกาส

4. ยื่นจดหมายเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธานศาลฎีกาและประธานคณะกรรมการร่างรับธรรมนูญ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2516 ให้ประกาศรัฐธรรมนูญ โดยจะรวบรวมรายชื่อของประชาชนทุกระดับชั้น อาชีพ

5. เรียกร้องผ่านทางคอลัมน์หนังสือพิมพ์

6. เผยแพร่ทางโปสเตอร์และใบปลิวโครงการนี้จะใช้เวลาดำเนินการติดต่อกันถึง 2 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2516 เป็นต้นไป ในระยะแรกจะแจกหนังสือและใบปลิวตามย่านชุมชนต่างๆ 2 วัน

ทนายอานนท์.jpg

กลายเป็นว่านักศึกษา อาจารย์ ที่ร่วมเดินแจกใบปลิว ตั้งแต่ริมคลองหลอด ตลาดบางลำภู ยาวไปจนถึงประตูน้ำ รวมถึงคนในเครือข่าย 13 คน ถูกจับ และต่อมาถูกเรียกว่า 13 ขบถรัฐธรรมนูญ ข้อหา “มั่วสุมชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน” ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 4

กลายเป็นชนวนให้นิสิต นักศึกษา ประชาชน รวมตัวกันครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเวลานั้น เรียกร้องให้ปล่อยตัว 13 ขบถอย่างไม่มีเงื่อนไข มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นศูนย์รวมการต่อสู้การชุมนุม 

การชุมนุมเมื่อ 47 ปีที่แล้ว นำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ถูกขนานนามว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งที่เคยมีมา

นำไปสู่การสิ้นสุดระบอบ “สฤษดิ์ – ถนอม – ประภาส” 

แต่วันนี้ ขบวนการนักศึกษา ในนาม “คณะราษฎร 2563” ผลักความฝันถึงขั้นเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ให้ “จบที่รุ่นเรา”  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง