ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ ย้ำรัฐบาลหนุนสร้างองค์ความรู้ด้านอาหารให้ไทยเป็น Soft Power ดึงดูดนักท่องเที่ยว เปิดโอกาส Start up ด้านอาหารรายใหม่ ผลักดันให้ไทยมีความมั่นคงด้านอาหาร เป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลที่หลายประเทศต้องการ

วันที่ 2 ต.ค. 2566 เวลา 11.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับฟังการนำเสนอ Thailand Soft Power Halal & Future Food จากบุญเลิศ อ่องไพบูลย์ รองประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต (PFC) สภาหอการค้าไทย 

บุญเลิศ กล่าวว่า อุตสาหกรรมฮาลาล ครอบคลุมสินค้าและบริการ ได้แก่ การเงิน อาหาร แฟชั่น สื่อและสันทนาการ ยาและการแพทย์ ท่องเที่ยว เครื่องสำอาง ฯ มีอัตราการเติบโต 7.5% (2021-2025) มีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (2025) ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาล และอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ โดยอาหารฮาลาล คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของการส่งออกอาหารทั้งหมดของประเทศไทย และร้อยละ 60 ของการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564/2565 

ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายกรัฐมนตรี ระบุ รัฐบาลมองเห็นโอกาสในสินค้า Halal ที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ซึ่งมีผู้บริโภคจำนวนมาก มีศักยภาพในการจับจ่ายสูง และในกลุ่ม Future food ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เราอยากใช้อุตสาหกรรมอาหารมาเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศ และอยากผลักดัน Gastronomy Diplomacy โดยไทยเป็นประเทศแรกที่ผลักดันการทูตเชิงอาหาร (Gastronomy diplomacy) แต่ประเทศเกาหลีใต้ผลักดันได้ไกลกว่าประเทศไทย โดยรัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญทั้งเงินทุน การตลาด การทำหลักสูตร การทำ Certificate การส่งออกอาหาร จะช่วยทำให้สินค้าการเกษตรมีราคาที่ดีขึ้น เพราะเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าในประเทศทำให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง สร้างองค์ความรู้ด้านอาหารให้ประเทศไทยเป็น Soft Power โดยอาหารไทยรูปแบบใหม่ ๆ จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว เปิดโอกาสให้ Start up ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร สามารถเกิดขึ้นได้

นายกรัฐมนตรีฝากให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนภาคเอกชน โดยให้บูรณาการการทำงาน กำหนดแผน กำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านอาหาร เป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลที่หลายประเทศมีความต้องการ