วันที่ 21 ก.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เข้าปฎิบัติหน้าที่เป็นประธานการประชุมหารือเรื่องมาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงสถานการณ์โควิด - 19 โดยมี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และปลัด อว.เข้าร่วม พิจารณาแนวทางการลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เช่น พิจารณาให้ส่วนลดเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นกรณีพิเศษ โดยให้คลอบคลุมทั้งสถานศึกษารัฐและเอกชน
ภายหลังการประชุม ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงการเรียนของนักเรียน การจัดการเรียนการสอนของครู และค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 จึงมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดทำโครงการมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ของนักเรียน ครู และผู้ปกครองในสถานการณ์โควิด ซึ่งมาตรการช่วยเหลือนี้จะครอบคลุมทั้งโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โรงเรียนสังกัด กทม.และโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยจะนำมาตรการการช่วยเหลือเหล่านี้เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบหลักการในวันที่ 27 ก.ค.
ทั้งนี้มาตการการช่วยเหลือนักเรียน ครู และผู้ปกครองนั้น ซึ่งมีหลักการเบื้องต้น คือ ศธ.จะไม่ทิ้งเด็กคนใดคนหนึ่งไว้ข้างหลังและไปให้ถึงผู้ปกครอง และมาตรการช่วยเหลือสถานศึกษาให้ได้พัฒนาเรื่องสื่อเรียนการสอน โดยมาตรการทั้งหมดจะใช้งบประมาณกลางในการดำเนินการ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังมีความเป็นห่วงเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ของนักเรียนมัยมศึกษาตอนปลายมากขึ้น โดยอยากให้เปิดช่องทางการเรียนการสอนผ่าน Onair ในรูปแบบการเรียนการสอนของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กมีช่องทางการเรียนรู้อย่างหลากหลาย
ในส่วนของกระทรวงการอุดมศึกษาฯที่ประชุมเห็นชอบในหลักการที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อสรุปว่า ลดค่าเล่าเรียนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นนักศึกษาชาวไทย ระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา ภาคปกติ ภาคพิเศษ และภาคสมทบ ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน โดยพบว่า มีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและในกำกับของรัฐ 35 แห่ง จำนวนนักศึกษา 922,794 คน มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง นักศึกษา 396,858 คน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง นักศึกษา 133,782 คนสถาบันวิทยาลัยชุมชน 1 แห่ง 11,678 คนสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 72 แห่ง นักศึกษา 285,500 คน รวม 155 แห่ง นักศึกษา 1,750,109 คน
โดยสถาบันอุดมศึกษาฯภาครัฐ ลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาโดยกำหนดเป็นขั้น ดังนี้
ส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียม การศึกษาร้อยละ 50
และส่วนตั้งแต่ 50,001 บาท ถึง 100,000 บาท ลดร้อยละ 30
ส่วนตั้งแต่ 100,001 บาทขึ้นไป ลดร้อยละ 10
โดยงบประมาณที่ใช้สนับสนุนจากสถาบันอุดมศึกษาสนับสนุน ร้อยละ 20 และรัฐบาลสนับสนุนเพิ่มเติมอีกร้อยละ 30
ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาเอกชน รัฐบาลสนับสนุนลดค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษาคนละ 5,000 บาท และลดค่าเรียนเพิ่มเติมและสนับสนุนมาตรการ อื่น ๆ เช่น สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งจะมีมาตรการขยายเวลาผ่อนชำระหรือผ่อนจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา ตั้งกองทุนสนับสนุนการศึกษา จัดหาอุปกรณ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับนักศึกษาเพื่อใช้ศึกษาออนไลน์ ส่วนลดค่าหอพักนักศึกษา จัดสวัสดิการพิเศษกรณีนักศึกษาป่วยด้วยโรคโควิด-19 เป็นต้น