ไม่พบผลการค้นหา
สวทช.ชี้ 10 เทคโนโลยีน่าจับตามอง ประจำปี 2562 หวังผู้ประกอบการและนักวิจัยไทยนำมาต่อยอดยกระดับเศรษฐกิจ

รัฐบาลไทยพยายามยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศให้ก้าวหน้าขึ้น โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาผสมผสาน ล่าสุด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน Thailand Tech Show 2019 เพื่อส่งเสริมการปรับใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคธุรกิจ

Thailand Tech Show

'ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล' ผู้อำนวยการ สวทช. ชี้ว่า ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมี 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองเป็นพิเศษในปี 2562 ได้แก่ ;

  • เครือข่ายโทรศัพท์ 5G/6G
  • การคำนวนและวิศวกรรมควอนตัม
  • เอไอแห่งอนาคต
  • การเดินทางแบบไร้รอยต่อ
  • เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดเพอรอฟสไกต์
  • แบตเตอรี่ลิเทียมยุคหน้า
  • โครงเสริมภายนอกกาย
  • ไฟเบอร์สารพัดประโยชน์จากจุลินทรีย์
  • กายจำลองทดสอบยา
  • วัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคล
"คนไทยจำเป็นต้องศึกษาเรื่องพวกนี้ เพื่อสร้างประโยชน์" ณรงค์ กล่าว

จากตัวอย่าง 10 เทคโนโลยีน่าจับตามองข้างต้น 'ณรงค์' ยกตัวอย่าง ผลดีของเทคโนโลยีเหล่านี้ โดยในกรณีของวัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคล การรักษาแบบใหม่จะเริ่มจากการนำเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติของผู้ป่วยมาวิเคราะห์ตรวจหายีนที่กลายพันธุ์ หลังจาได้ข้อมูลแล้ว ขั้นต่อไปคือการพัฒนา 'นีโอแอนติเจนวัคซีน' เพื่อฉีดกลับเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยเพื่อกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ป่วยทำงาน

ข้อดีของวิธีดังกล่าวคือไม่เป็นการทำร้ายร่างกายส่วนอื่นๆ ของผู้ป่วยเหมือนวิธีเดิมที่มีการใช้กันอยู่อย่าง ฮอร์โมนบำบัด การผ่าตัด การปลูกถ่ายไขกระดูก ภูมิคุ้มกันบำบัด การฉายรังสี และ เคมีบำบัด

Thailand Tech Show

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแข่งขันนำเสนอผลงานเพื่อขอรับเงินระดมทุน ซึ่งงานวิจัยที่ได้รับคะแนนโหวตมากที่สุดจากผู้เข้าชมงานคือ โครงการ Thai Colostomy Bag ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมจากยางพารา ของ ผศ.นพ. วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

โดยมีเป้าหมายในการลดการนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากต่างประเทศ ทั้งยังเป็นการสนับสนุนยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยด้วย 'วรวิทย์' ย้ำว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการทดลองใช้จริงแล้ว ซึ่งให้ผลลัพธ์ทัดเทียมกับยี่ห้ออื่นๆ ในตลาด อีกทั้งผลิตภัณฑ์ยังมีความเหมาะสมกับสรีระของคนไทยมากกว่าแบรนด์อื่นๆ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ