ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ระดมฉีดคลอรีนทำความสะอาดตลาด ด้านผู้ดูแลตลาดกลางกุ้งมั่นใจเชื้อไม่ได้มาจากแรงงานเมียนมาที่ทำงานในตลาด

ที่บริเวณหน้าตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีทั้งแพกุ้ง และแพปลา (บางส่วน) อยู่ในพื้นทีเดียวกันนั้น ประกาศปิดตลาด 1 วัน เพื่อล้างทำความสะอาดทั่วทั้งตลาด แต่ในส่วนที่พบผู้ติดเชื้อโควิดรายแรก ซึ่งเป็นทั้งแพกุ้ง และแพปลาอยู่ในโซนเดียวกัน มีคำสั่งให้หยุดทำการ 3 วัน 

วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย ชิงชัย บุญประคอง ปลัดเทศบาลฯ รักษาการแทนนายกเทศมนตรีนครสมุทรสาคร และทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรคฯ ลงพื้นที่นำคลอรีนฉีดพ่นทำความสะอาดทั่วทั้งตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด – 19 อีกทั้งยังมีมาตรการกำชับให้แรงงานต่างด้าวที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ตลาดกลางกุ้งกว่า 2,000 คน ต้องสวมหน้ากากอนามัย และต้องใช้แอลกอฮอล์ล้างมือทุกครั้ง อีกทั้งยังต้องมีการตรวจคัดกรองโรคก่อนเข้าทำงานทุกวันด้วย 

วีระศักดิ์ กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงที่มีความใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิด– 19 ที่เป็นหญิงวัย 67 ปี นั้น ขณะนี้ตามตัวได้ครบหมดแล้วทั้ง 18 คน โดย 2 รายล่าสุดคือ แรงงานต่างด้าวที่เป็นลูกจ้าง อยู่ในระหว่างการดูแลของโรงพยาบาล ขณะที่การสอบสวนโรคเพื่อหาต้นตอของเชื้อโควิด- 19 ยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้เพราะยังไม่มีความชัดเจน แต่คาดว่าน่าจะได้คำตอบเพิ่มขึ้น หากทุกคนยอมให้ข้อเท็จจริงทั้งหมด และจะได้ลำดับเหตุการณ์ออกมาอย่างละเอียดมากกว่าครั้งแรก ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าติดเชื้อมาจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาหรือไม่ ยังคงต้องพยายามหาสาเหตุให้ได้ จะสามารถหาต้นตอในการติดเชื้อครั้งนี้ และตีกรอบเพื่อป้องกันเชื้อได้ง่าย ซึ่งเจ้าหน้าที่อยากจะหาสาเหตุว่าติดเชื้อเพราะอะไร ที่น่ากลัวอย่างหนึ่งก็คือ หาสาเหตุไม่ได้ เราไม่รู้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อมาจากที่ใด แต่ที่สอบสวนโรคผู้ป่วยยังไม่พบว่ามีการเดินทางออกนอกพื้นที่  

วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า แรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร มีประมาณ 2,000 คน แต่ได้เข้ามาให้ข้อมูลและทำการตรวจคัดกรองโรคไปแล้วประมาณ 200 - 300 คน ที่เหลืออยู่ในระหว่างหารือว่าจะให้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้มาให้ข้อมูลครบได้อย่างไร ส่วนใหญ่พักอาศัยอย่างเดียว ไม่ได้ทำงานที่นี่ แต่ก็ต้องสอบสวนโรคให้ครบทุกคนก่อน ซึ่งความยากในการสอบสวนโรคก็คือ แรงงานต่างด้าวค่อนข้างเยอะ ขณะเดียวกันทางจังหวัดได้ใช้มาตรการกับแรงงานต่างด้าวมาหลายเดือนแล้ว เพราะฉะนั้นพิสูจน์ให้เห็นว่ากลไก "สมุทรสาครโมเดล" ทำงานเชิงรุกตลอดเวลา แต่ตามไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง เพราะสมุทรสาครไม่ใช่จังหวัดปิดแบบห้ามคนเข้าออกนอกพื้นที่ ดังนั้นจึงมีคนที่หลบหนีเข้าเมืองเข้ามาโดยใช้ช่องทางธรรมชาติ บางคนเดินทางมาถึงมหาชัย เมื่อจับได้ก็ส่งตัวกลับ โดยจะพบเกือบทุกวัน

วีระศักดิ์ ย้ำว่า ด้านความเข้มข้นในมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ก็คงต้องเน้นย้ำเรื่องของการสวมหน้ากากอนามัย ตามประกาศของจังหวัดสมุทรสาครที่เคยออกมา บังคับว่าหากไม่สวมหน้ากากอนามัยออกจากบ้าน จะถูกจับปรับ 20,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมาพอสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การบังคับใช้ก็หย่อนลงไปด้วย ดังนั้นเมื่อสถานการณ์กลับมาตรึงเครียดอีกครั้ง จึงจะต้องมีการหารือเพื่อปรับและบังคับใช้อย่างเข้มข้นกันอีกครั้ง โดยจะมีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร แล้วจะประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป รวมถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 20 ธ.ค.นี้ อาจจะต้องนำมาตรการทางกฎหมาย มาผสมกับมาตรการของจังหวัดในการบังคับใช้เรื่องของการสวมหน้ากากอนามัยเข้าคูหาเลือกตั้ง

โควิด สมุทรสาคร ตลาดกลางกุ้ง

ส่วนเรื่องภาพลักษณ์ จ.สมุทรสาคร ที่ผู้ซื้อกลัว จนไม่กล้ามาซื้อกุ้งและปลา ตลอดจนอาหารทะเลนั้น วีระศักดิ์ กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่าเป็นความตื่นตระหนกของผู้คน เหมือนเหตุการณ์ที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ บางคนโทรศัพท์หาว่าทำไมคนที่กลับจากเชียงราย เชียงใหม่ถึงไม่กักตัว ทำไมไม่กักบริเวณไว้ ชี้แจงว่าไม่ได้เป็นพื้นที่เสี่ยงอันตราย ในขณะเดียวกัน เหตุการณ์เกิดขึ้นที่สมุทรสาคร จะไปดำเนินการกับสินค้าต่างๆ ที่มาจากสมุทรสาคร กล่าวหาว่าไม่ได้คุณภาพ ต้องช่วยบอกกัน เพราะจริงๆ แล้วที่จังหวัดสมุทรสาครมีคณะกรรมการคอยดูแลเรื่องนี้อยู่ ทุกอย่างเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ ควบคุมเด็ดขาด ทุกอย่างเป็นเรื่องของความเชื่อมั่น อยากให้ทุกคนที่เป็นคนสมุทรสาครได้ช่วยกัน บ้านของเรากำลังถูกหลายฝ่ายโจมตีว่าทำให้เกิดความเสียหาย ต้องช่วยกันแสดงน้ำใจว่าสมุทรสาครยังอยู่ดีมีสุข ยังไม่ใช่เมืองอันตรายหรือโซนห้ามเข้า สินค้าที่ออกจากที่นี่ยิ่งต้องมีความเข้มข้นในการตรวจตรามากขึ้น ขอให้ประชาชน ผู้บริโภคทั่วประเทศมั่นใจว่า สินค้าที่มาจากสมุทรสาครถูกหลักอนามัยและมีคุณภาพจริงๆ พวกเราจะผ่านไปด้วยกัน ถ้าทุกคนร่วมมือกัน สมุทรสาครไม่แพ้แน่นอน


ผู้ดูแลตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร รับเกิดผลกระทบผู้ค้ารายอื่น

ดำรงค์ มั่นสิน ผู้ดูแลตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร บอกว่า หลังจากที่เกิดเหตุการณ์พบผู้ติดเชื้อโควิด– 19 ยอมรับว่าเกิดผลกระทบกับผู้ค้ารายอื่นด้วย แต่ในส่วนของมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด -19 ในพื้นที่ตลาดกลางกุ้งนั้น ทางตลาดฯ ได้มีการตรวจคัดกรองโรคอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้แรงงานต่างด้าวที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าออกภายในพื้นที่ จึงเชื่อมั่นได้ว่าเชื้อโควิดนี้ ไม่น่าจะมาจากแรงงานต่างด้าวที่พักอาศัยหรือทำงานอยู่ภายในตลาดกลางกุ้ง แต่จะมาจากที่ใดนั้นก็ไม่ทราบเช่นกัน นอกจากนี้ที่ตลาดทะเลไทย ซึ่งเป็นอีกตลาดหนึ่งที่สำคัญของจังหวัดสมุทรสาคร และเป็นศูนย์กลางส่งออกสินค้าสัตว์น้ำรายใหญ่ของจังหวัดสมุทรสาคร ที่พลอยได้รับผลกระทบจากการพบเชื้อโควิด – 19 ในตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาครไปด้วยนั้น ก็ได้จัดให้มีการตรวจคัดกรองโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยนำห้องตรวจปลอดเชื้อเคลื่อนที่ พร้อมอุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิด – 19 เข้าตรวจแรงงานข้ามชาติ (เมียนมา) ที่เข้าทำงานในพื้นที่จำนวน 200 คน อีกด้วย 

โควิด สมุทรสาคร ตลาดกลางกุ้ง

ตลาดทะเลไทย หวั่นลูกค้าสับสน ยันมีมาตรการเข้มป้องกันโควิด-19

อำไพ หาญไกรวิไลย์ ประธานสหกรณ์พัฒนาการประมงมหาชัย จำกัด พร้อมด้วย คณะกรรมการบริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงทำความเข้าใจต่อสื่อมวลชนและบุคคลภายนอกว่า ตามที่มีข่าวว่าเจ้าของแพปลาในตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครติดโควิด 19 นั้น ข้อเท็จจริงคือ ผู้ติดเชื้อคนดังกล่าวเป็นเพียงผู้ซื้อขายที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาครเท่านั้น ซึ่งตลาดกลางกุ้ง เป็นสถานที่คนละแห่งกับตลาดทะเลไทย และตั้งอยู่ห่างกัน จึงไม่อยากให้ประชาชนเกิดความสับสนระหว่างตลาดทะเลไทย กับ ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร โดยตลาดทะเลไทยนั้นได้มีมาตรการป้องกันโควิด 19 ตามที่ทางราชการกำหนดและปฏิบัติเป็นประจำอย่างเคร่งครัด สำหรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการตลาดทะเลไทย ตามนโยบายภาครัฐ คือ ผู้ที่เข้าตลาดทะเลไทย จะต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิและสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย , จัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ตรวจบนแพกุ้ง แพปลา หากพบใครไม่สวมหน้ากาก จะเชิญลงจากแพ , มีอ่างล้างมือพร้อม เจลล้างมือ สบู่ล้างมือ จุดล้างเท้า อาคารแพปลา แพกุ้ง 6 จุด , ล้างพื้นถนนรอบตลาด และอาคารแพกุ้ง อาคารแพปลา ทุกวันด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด,ร้านค้าอาหารในตลาดอนุญาตเฉพาะซื้อกลับบ้านเท่านั้น , ประชาสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการแออัดของผู้มาใช้บริการ,อาคารตลาดกุ้งเปิดทำการค้าขาย ตั้งแต่เวลา 24.00 น เป็นต้นไป,อาคารตลาดปลาเปิดทำการค้าขาย ตั้งแต่เวลา 04.00 น เป็นต้นไป,ห้องสุขาภายในตลาด มีการจัดอ่างล้างเท้า เจลแอลกอฮอล์และสบู่เหลวล้างมือ ไว้ให้สำหรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการ และตลาดมีการจัดเก็บขยะและทำความสะอาดตลาดทุกวัน

ดังนั้นขอให้มั่นใจได้ว่า ตลาดทะเลไทย ปลอดภัยแน่นอนและยังคงเปิดค้าขายเช่นเดิม โดยผู้ซื้อสามารถเข้ามาซื้อสินค้าในตลาดทะเลไทยได้เหมือนเดิม เพราะสินค้าที่เข้ามาขายในตลาดทะเลไทยทุกประเภท ไม่ว่าจะมาจากที่ใดจะต้องมีใบรับรองผ่านการตรวจสอบและยืนยันความปลอดภัยแล้วทุกราย

โควิด สมุทรสาคร ตลาดกลางกุ้ง


สธ.แถลง พบเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 ราย ใกล้ชิดหญิงเจ้าของแพปลา

ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในไทย ว่า สำหรับความก้าวหน้าผลสอบสวนผู้ป่วยโควิด-19 ในบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในสถานกักกันทางเลือก (ASQ) กทม. เหตุการณ์นี้เราพบผู้ติดเชื้อครบถ้วนแล้ว 7 ราย ซึ่งรายสุดท้ายรายที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.จนถึงวันนี้ 6 วันแล้วยังไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ดังนั้นถือว่าเหตุการณ์นี้ควบคุมโรคได้แล้ว เหลือเพียงติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำให้ครบ 14 วัน

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีผู้ป่วยโควิด-19 เป็นหญิงไทย อายุ 67 ปี อาชีพค้าขายที่ตลาดแพกุ้ง จ.สมุทรสาคร ที่มีการสอบสวนโรคตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.นั้น มีการติดตามผู้สัมผัสทั้งหมด 165 คน เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 26 ราย ได้แก่ คนในครอบครัว 7 ราย สัญชาติไทย ผลไม่พบเชื้อ 4 ราย ผลพบเชื้อ 3 ราย ได้แก่ มารดา พี่สาว และน้องสะใภ้ ,คนในแพปลาของผู้ป่วย 3 ราย เป็นลูกชาย สัญชาติไทย 1 ราย ไม่พบเชื้อ และลูกจ้างเมียนมา 2ราย รอผลการตรวจ ,ในโรงพยาบาลเอกชน 8 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์ สวมชุดป้องกัน ผลการตรวจไม่พบเชื้อ ,แรงงานในตลาดกุ้ง 8 ราย แบ่งเป็นสัญชาติไทย 3 ราย เมียนมา 4 ราย และสัญชาติอื่น 1 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ นอกจากนี้จะมีการหาเชื้อจากแรงงานในตลาดทะเลไทย ซึ่งเป็นตลาดใกล้เคียงด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 139 ราย เป็นแรงงานในตลาดกุ้ง สัญชาติไทย 14 ราย เมียนมา125 ราย อยู่ระหว่างเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม

นพ.โสภณ กล่าวว่า ทั้งนี้สถานที่เกิดเหตุคือตลาดกุ้งที่ผู้ป่วยทำงาน ในโซนเอ พบผู้ป่วยโควิด 4 ราย คือตัวผู้ป่วยอายุ 67 ปี และคนในครอบครัว 3 รายไม่มีอาการ ขณะที่ในตลาดกุ้งโซนบี อยู่ระหว่างดำเนินการค้นหาผู้ป่วยและผู้สัมผัสเพิ่มเติมในวันนี้ และอีกจุดหนึ่งคือหอพักซึ่งมีแรงงานเมียนมาพักอาศัยอยู่ ทีมงานจะเข้าไปดำเนินการสอบสวนและเก็บตัวอย่างเพิ่มเติม ส่วนมาตรการที่จะดำเนินเพิ่มเติม คือการค้นหาตีวงในการควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดต่อ มีการเฝ้าระวัง สื่อสาร และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสอบสวนค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมนุมและตลาดใกล้เคียง ขอให้ทุกคนที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำอยู่ในที่จำกัด สามารถสังเกตอาการได้ หากมีอาการป่วยจะได้นำตรวจวินิจฉัยในโรพยาบาลได้ทันที นอกจากนี้การเฝ้าระวังยังขยายไปที่ ร้านขายยา คลินิก และโรงพยาบาล ซึ่งผู้ที่มารับการตรวจรักษาโรคทางเดินหายใจ เช่นไข้หวัด สถานพยาบาลจะทำการตรวจหาเชื้อโด -19 ในช่วงนี้ และขอให้ทุกภาคส่วนร่วมทำความสะอาดพื้นที่ในตลาด และลดความแออัดเพื่อความปลอดภัย

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการสอบสวนควบคุมโรค เราวางวัตถุประสงค์หลักไว้ 3 ประการ 1.เพื่อยืนยันว่าเกิดจากโรคอะไร ซึ่งรายนี้ยืนยันแล้วว่าเกิดจากไวรัสโควิด 2.หาสาเหตุการติดเชื้อครั้งนี้เกิดจากไหน อย่างไร ซึ่งขณะนี้ในกระบวนการสอบสวนโรคกำลังดำเนินการอย่างเข้มข้น และ 3.ประเมินว่ามีการติดเชื้อไปยังคนอื่นๆอย่างไร เพื่อดำเนินการควบคุมโรคได้ ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมด 4 ราย ขณะนี้อยู่ในโรงพยาบาลและได้รับยาทุกคนแล้ว อาการยังไม่หนัก แต่ต้องติดตามต่อไป ส่วนที่มีข่าวลือว่ามีการติดเชื้อที่ตลาดทะเลไทยนั้นไม่ใช่ ขอยืนยันเป็นคนละตลาดและอยู่ห่างกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวหลายกระแสว่ามีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำนับหมื่นๆราย นำมาสู่การตรวจคัดกรองโควิด-19 นพ.โอภาส กล่าวว่า มีผู้สัมผัสจากกรณีนี้เพียงร้อยกว่าราย แต่ตามมาตรการค้นหาตีวง สื่อสาร เราจะค้นหาให้มากที่สุด จะมีการตรวจอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นข่าวที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่เป็นความจริง แต่การตรวจในคนอีกจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับข้อมูลบ่งชี้ที่เราได้และจะลงไปสอบสวน


ชี้เชื้อไวรัสปนเปื้อนในอาหารมีได้น้อยมาก แต่แนะนำให้รับประทานอาหารสุกร้อน

เมื่อถามว่า การติดเชื้อภายในประเทศ ที่ จ.สมุทรสาคร ที่เกี่ยวข้องกับอาหารทะเล มีประชาชนกังวลว่าการรับประทานอาหารทะเล รวมถึงซูชิที่เป็นอาหารดิบจะปลอดภัยหรือไม่ เพราะจากรายงานหลายประเทศมีการติดเชื้อโควิดจากอาหารแช่แข็ง นพ.โสภณ กล่าวว่า เรื่องของอาหารเราแนะนำให้รับประทานสุกและร้อน แต่ขณะนี้เราพบผู้ติดเชื้อในตลาดรายเดียวและอยู่ระหว่างการสอบสวนค้นหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม คำแนะนำเบื้องต้นให้เน้นมาตรการส่วนบุคคล ส่วนโอกาสที่จะมีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่ในอาหารมีได้น้อย จะเห็นจากข่าวในต่างประเทศที่มีการส่งออกอาหารทะเลไปต่างประเทศเกิดการปนเปื้อนเมื่อมีการระบาดแรงๆในประเทศ พูดง่ายๆคือมีคนในชุมชนติดเชื้อจำนวนมาก มีโอกาสที่เชื้อจะลงไปในอาหารที่เป็นวัตถุดิบในการส่งออก แต่ในจำนวนนี้พบผู้ติดเชื้อจำนวนไม่กี่ราย ด้วยมาตรการที่เรากำหนดเพื่อป้องกันไว้ก่อน แนะนำให้รับประทานอาหารสุกร้อน ขอให้ประชาชนสบายใจได้แต่ไม่ประมาทในการป้องกัน

โควิด สมุทรสาคร ตลาดกลางกุ้งโควิด สมุทรสาคร ตลาดกลางกุ้งโควิด สมุทรสาคร ตลาดกลางกุ้งโควิด สมุทรสาคร ตลาดกลางกุ้งโควิด สมุทรสาคร ตลาดกลางกุ้ง