ไม่พบผลการค้นหา
ไม่แตกต่างจากตู้โทรศัพท์ ร้านซ่อมเครื่องพิมพ์ดีด หรือบ้านของชนชั้นกลาง เมื่อ ‘ร้านหนังสือ’ คือสิ่งถัดไปที่กำลังสูญหาย

ในปี 1950 ย่านแมนฮัตตันมีร้านหนังสืออยู่ทั้งหมด 386 ร้าน แต่จากการสำรวจของ Gothamist เมื่อปี 2015 พบว่า มีร้านหนังสือเปิดบริการอยู่เพียง 106 ร้าน และปัจจุบันเหลืออยู่น้อยกว่า 80 ร้าน

มากไปกว่านั้น ร้านหนังสือย่านบุ๊คโรว์ (Book Row) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของร้านหนังสือมือสอง และหายากกว่า 50 ร้าน ปัจจุบันกลับเหลือเพียง Alabaster Bookshop เพียงร้านเดียวเท่านั้น

หากกล่าวเชิงวรรณกรรม การปิดตัวของร้านหนังสือในนิวยอร์กก็คล้ายๆ กับการปูทางสู่วิกฤต และปมปัญหาของเรื่อง Drama Book Shop ร้านหนังสือที่มีส่วนผสมของศิลปะการแสดง จนกลายเป็นเสาหลักให้กับนิวยอร์กเกอร์มาเนิ่นนาน ได้ประกาศปิดตัวลงเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพราะไม่สามารถต่อสู้กับค่าเช่าได้อีกต่อไป

4.jpg
  • ลิน มานูเอล มิแรนด้า นักแสดงชื่อดัง และเจ้าของร้านหนังสือ Drama Book Shop

ทว่าเหตุการณ์เลวร้ายย่อมมีตัวละครเอกมาแก้ไข บทนำเรื่องนี้ตกเป็นของ ลิน มานูเอล มิแรนด้า (Lin-Manuel Miranda) นักแสดงชื่อดังชาวอเมริกัน ผู้เขียนบทละครเวทีเรื่อง Hamilton ซึ่งก้าวเข้ามารับช่วงต่อของ Drama Book Shop ร่วมกับเพื่อนนักแสดงจาก Hamilton อีก 3 คน และกำลังมองหาสถานที่ใหม่ เพื่อเปิดร้านอีกครั้งกับค่าเช่าที่ถูกลง

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มิแรนด้าเข้ามาช่วยกอบกู้วิกฤตการณ์ของพื้นที่แห่งความทรงจำ และศิลปวัฒนธรรมของอเมริกันชน เพราะก่อนหน้านี้ เขาทำการระดมทุนจากมวลชน (Crowdfunding) เมื่อ Drama Book Shop เกิดเหตุท่อระเบิดจนทำให้ร้านบางส่วนเสียหายในปี 2016 

นอกจากร้านหนังสือดังกล่าว ประชาชนชาวนิวยอร์กแสดงออกอย่างชัดเจนว่า พวกเขาหวงแหนสิ่งที่อยู่ในชุมชนของตนเอง เมื่อ Westsider Books หนึ่งในร้านหนังสืออิสระที่แข็งแกร่งที่สุดในนิวยอร์ก และมีอายุถึง 35 ปี ได้ประกาศว่า พวกเขาอาจจะปิดตัวหลังสัญญาเช่าหมดอายุ ก็มีคำสั่งซื้อหนังสือเข้ามาจำนวนมาก อีกทั้งลูกค้าบางส่วนยังเข้ามาช่วยเหลือด้วยการระดมทุนจนได้เงินมาหาทางขับเคลื่อนธุรกิจอีกครั้งถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ 

ด้านร้านหนังสืออิสระขนาดใหญ่ที่สุดในนิวยอร์กอย่าง The Strand ที่เปิดบริการมาตั้งแต่ปี 1927 มีข้อได้เปรียบมากกว่าร้านหนังสืออิสระทั่วไป ด้วยการมีพื้นที่เป็นของตนเอง ทว่าสถานการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนไป เมื่อคณะกรรมการเมืองได้เสนอให้ The Stand เป็นแลนด์มาร์คของนิวยอร์ก 

การได้รับสิทธิ์นั้นร้านหนังสือดังกล่าวต้องเสียค่าบำรุงรักษาเป็นจำนวนมากจน แนนซี เบส วายเดน (Nancy Bass Wyden) ทายาทรุ่นที่ 3 ของ The Strand ขอให้คณะกรรมการกลับไปทบทวนมติดังกล่าวอีกครั้ง

2.jpg
  • Strand Bookstore ร้านหนังสืออิสระที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นแลนด์มาร์คของนิวยอร์ก

การเปลี่ยนสถานะร้านหนังสืออายุ 92 ปี ให้กลายเป็นแลนด์มาร์คเต็มไปด้วยข้อกำหนดมากมายที่เจ้าของร้านไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

เจ้าของร้าน The Strand บอกว่า ในความพยายามที่จะรักษาประวัติศาสตร์ คณะกรรมการอาจจะลงเอยด้วยการทำลายบางส่วนของเมืองทิ้งไป เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นอาจทำให้ ไม่สามารถเปิดให้บริการได้อีกต่อไป

วายเดนกล่าวกับ The Guardian ว่าตนเองสามารถทำเงินได้มากขึ้นหากปล่อยเช่าพื้นที่บางส่วนแก่ผู้ค้ารายอื่น อย่างไรก็ตาม เธอยืนยันว่าไม่มีแผนที่จะทำเช่นนั้น เช่นเดียวกับการขายตึกออกไป


พฤติกรรมการอ่านและซื้อหนังสือที่เปลี่ยนไป 

ร้านหนังสืออิสระกำลังโดนโจมตีจากหลายทิศทางรวมถึงการแข่งขันกับ แอมะซอน (Amazon) ในฐานะร้านขายหนังสือออนไลน์รายใหญ่ที่สุด และร้านค้าปลีกที่มีมูลค่ามากที่สุดของโลก ก่อนหน้านี้นิวยอร์ก และหน่วยงานภาครัฐ ได้เสนอเงินอุดหนุนในรูปแบบสิทธิทางภาษีมากถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการมาตั้งสำนักงานใหญ่ที่นิวยอร์ก ซึ่งภายหลังแอมะซอนตัดสินใจสร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่ ลองส์ ไอแลนด์ และ คริสตัล ซิตี้ ภายหลังการประท้วงของชาวนิวยอร์ก

5.jpg
  • สถิติบอกว่าชาวอเมริกันอ่านหนังสือเป็นเวลา 17 นาที/วัน ในปี 2017 ลดจาก 23 นาที/วัน ในปี 2004

เจ้าตลาดหนังสือออนไลน์เปลี่ยนแปลงธุรกิจของร้านหนังสืออิสระโดยสิ้นเชิง ด้วยกำลังซื้อที่เหนือกว่า หรือการขายด้วยกำไรต่ำแต่เน้นปริมาณ อีกทั้งเทคโนโลยีการอ่านในรูปแบบใหม่อย่าง Kindles หรือสมาร์ทโฟนก็สร้างความเดือดร้อนแก่ร้านหนังสืออิสระเช่นกัน 

ปัจจุบัน นักสังคมวิทยาเชื่อว่าการอ่านกำลังจะเป็นเรื่องของชนกลุ่มน้อย ซึ่ง คาเลบ เครน (Caleb Crain) นักเขียนชาวอเมริกันคาดการณ์กับ The New Yorker ไว้ตั้งแต่ปี 2007 ว่าการอ่านของอเมริกันชนจะกลับไปคล้ายช่วงเวลาก่อนการเฟื่องฟูของวรรณกรรม ซึ่งแนมโน้มเป็นไปได้มากขึ้นจากสถิติที่สำรวจการอ่านของชาวอเมริกันตั้งแต่ปี 2003 - 2017 พบว่า อเมริกันชนอ่านหนังสือน้อยลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ 


ถ้าตลาดยุติธรรม ร้านหนังสือในนิวยอร์กยังคงรุ่งเรือง 

แม้สถานการณ์ของร้านหนังสือในนิวยอร์กจะดูน่าเป็นห่วง แต่หากมองให้ลึกลงไปปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่พฤติกรรมการอ่าน หรือธุรกิจขายหนังสือออนไลน์เสมอไป

หลายฝ่ายมองว่า ปัญหาที่แท้จริงของนิวยอร์กคือ ‘ค่าเช่า’ เพราะการขายหนังสือมีกำไรต่ำ แต่ต้องการพื้นที่จำนวนมากร้านหนังสือในนิวยอร์กต่อสู้กับมรสุมทางธุรกิจมาหลายทศวรรษ สำหรับพวกเขาไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าค่าเช่าซึ่งถีบตัวสูงขึ้น 3-4 เท่า

1.jpg
  • ร้านหนังสือในนิวยอร์กมักจะถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับกิจกรรมต่างๆ อาทิ คอนเสิร์ต หรืองานเสวนา

เจเรไมอาห์ มอสส์ (Jeremiah Moss) เจ้าของผลงาน Vanishing New York: How A Great City Lost Its Soul บอกว่า ทุกครั้งที่ตนเองก้าวเข้าไปในร้านหนังสือจะเต็มไปด้วยผู้คนที่กำลังสรรหาหนังสือที่ชื่นชอบ ในตลาดที่ยุติธรรมสิ่งนี้ย่อมเป็นการประสบความสำเร็จที่ยั่งยืน แต่ไม่มีอะไรยุติธรรมสำหรับธุรกิจในตอนนี้ 

ไม่เพียงแต่ร้านหนังสืออิสระธุรกิจอื่นๆ ในนิวยอร์กต่างโดนปฏิเสธการต่อสัญญากันถ้วนหน้า มอสส์ บอกว่าตึกที่ว่างเปล่าจะมีราคามากกว่าตึกที่มีผู้เช่าเสมอ เจ้าของสถานที่จึงพยายามไม่ต่อสัญญา เพื่อที่พวกเขาจะได้กำไรมากกว่าเดิม 

ที่มา:


On Being
198Article
0Video
0Blog