อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (FTA) แบบถาวร เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่เสียประโยชน์และได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งได้มอบสถาบันวิจัยศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนฯ และจัดรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไปก่อนหน้านี้ คาดว่าในช่วงปลายเดือน ต.ค. 2563 จะสามารถเปิดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาต่อสาธารณะ ก่อนเสนอคณะทำงานพิจารณาแนวทางกองทุนฯ ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในช่วงเดือน ธ.ค. 2563
สำหรับรายละเอียดเบื้องต้น ยังไม่ได้สรุปเรื่องวงเงินของกองทุนฯ แต่ในส่วนของการนำเงินเข้ากองทุนจะมาทั้งจากงบประมาณ และเงินสมทบจากฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จาก FTA ส่วนรูปแบบการช่วยเหลือจะเป็นการใช้เงินช่วยเหลือ จากเดิมที่ให้คำปรึกษา แนะนำ และการจัดสัมมนา
ส่วนแผนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมฟื้นการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU), ไทย – สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) พร้อมเจราจา FTA ใหม่ ทั้ง ไทย-สหราชอาณาจักร (UK), ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU), อาเซียน-แคนาดา รวมถึง FTA ที่ค้างท่ออยู่ 3 ฉบับ ที่ไทยอยู่ระหว่างการเจรจากับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา ให้คืบหน้าและได้ข้อสรุป พร้อมยกระดับและปรับปรุงความตกลง FTA กรอบอาเซียน ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ อาเซียน-จีน, อาเซียน-อินเดีย, อาเซียน-เกาหลีใต้ และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ โดยทั้งหมดคาดว่าจะชัดเจนภายในปี 2564
โดยปัจจุบันไทยมี FTA 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เปรู ชิลี อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยในปี 2562 มูลค่าการค้าของไทยกับ 18 ประเทศ อยู่ที่ 302,991 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นสัดส่วน 62.8% ซึ่งยังน้อยเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่ 94.5% มาเลเซีย 71.5% และเวียดนาม 69.9%
นอกจากนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเร่งรัดการลงนามและเร่งรัดการบังคับใช้ความตกลง RCEP ไทยจะร่วมกับสมาชิก RCEP ผลักดันให้มีการลงนามความตกลงฯ ในเดือน พ.ย. 2563 และจะเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เพื่อให้ไทยสามารถให้สัตยาบันได้ในปี 2564