เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ตนได้สั่งการไป 2-3 เรื่อง ซึ่งมีเรื่องค่าแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เสนอและสรุปเองว่า ต้องนำกลับไปตั้งข้อสังเกต และพิจารณาเรื่องของสูตรคิดค่าแรงใหม่ ซึ่งท่านนำมาเสนอและได้ดึงกลับไปแล้ว
เมื่อถามว่า การปรับขึ้นค่าแรงจะต้องมากกว่านี้ใช่หรือไม่ เศรษฐา กล่าวว่า ก็ตั้งข้อสังเกตไปแล้ว ก็ต้องแล้วแต่และให้เกียรติคณะกรรมการด้วย และคาดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะมีการนำเสนอ หรือหลังจากนี้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ อาจจะเป็นวันที่ 25 ธันวาคม น่าจะเข้ามาทัน
เมื่อถามว่า ตัวเลขค่าแรง ที่นายกฯหวังจะขึ้นอยู่ที่เท่าไหร่ นายกฯ กล่าวว่า ก็ไม่ใช่ตัวเลขในปัจจุบันนี้ แต่ก็ต้องฟังเขาก่อน เพราะมีข้อกฎหมายอะไรอย่าง ที่ทักท้วงกันมา ซึ่งตัวเลขที่ตนต้องการก็ไม่ใช่ตัวเลขจำนวนนี้
เมื่อถามว่าจะได้ค่าแรง 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศหรือไม่ เศรษฐา นิ่ง ก่อนที่จะกล่าวว่า ขอคำถามต่อไปครับ
‘โฆษกรัฐบาล’ แจงเหตุตั้งข้อสังเกตใช้ตัวเลขปี 63-64 ช่วงโควิดระบาดมาคำนวณ
ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ว่า จากกรณีคณะกรรมการไตรภาคี มีมติเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 66 ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ อัตราวันละ 2-16 บาท เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ซึ่ง พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้นำเสนอให้ ครม.รับทราบ แต่เนื่องจากในที่ประชุมรัฐมนตรี ว่ารัฐมนตรีการกระทรวงแรงงาน ได้ตั้งข้อสังเกตโดยมองว่าหากการใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 67 เป็นการใช้หลักเกณฑ์โดยนับตัวเลขย้อนหลัง 5 ปีมาคำนวณเฉลี่ย
และมีการนำเอาตัวเลขปี 2563 และ 2564 มาร่วมพิจารณา ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 มาคำนวณ ทำให้ได้ตัวเลขต่ำ ซึ่งน่าจะมีวิธีคำนวณที่ดีกว่า ซึ่งครม. ก็รับทราบและแสดงความเห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าว ในเมื่อครม รับทราบให้เห็นด้วย จึงมอบให้สิทธิให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่าจะยังคงยืนยันเสนอให้กับรัฐมนตรีครม หรือ ขอถอนไปก่อน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอถอนออกไปด้วยข้อสังเกตดังกล่าว
ชัย ยืนยันว่า ครม. ไม่มีอำนาจในการสั่งทบทวนอะไรทั้งสิ้น ดังนั้นการนำข้อสรุปของคณะกรรมค่าจ้างจะนำมาเสนอครม. อีกครั้งเมื่อใด ส่วนจะมีการทบทวนหรือไม่ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของครม. แต่เป็นบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง
'ที่ปรึกษานายกฯ' ยัน ค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศทำได้
พิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ระบุถึงกรณีที่ ศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ทักท้วงให้มีการทบทวนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่าให้มากกว่าที่คณะกรรมการไตรภาคีได้มีการเสนอเข้ามานั้นว่า ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะตัวเลขที่ประกาศขึ้นมานั้นน้อยเกินไป และไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นของพี่น้องแรงงาน
จะเห็นได้ว่าค่าแรงที่ระดับ 300 บาทต้นๆนั้นใช้มาตั้งแต่ปี 2012 แล้วเป็นเวลากว่า 10 ปี ซึ่งการปรับขึ้นในครั้งนี้ควรจะเพิ่มมากกว่าตัวเลขที่ประกาศออกมา และใกล้กับระดับ 400 บาทต่อวันที่นายกรัฐมนตรีให้นโยบายนั้นเป็นเรื่องที่ดีที่สุด
ส่วนการปรับค่าแรงขั้นต่ำจะสามารถปรับเพิ่มขึ้น 400 บาททั่วประเทศเท่ากันได้หรือไม่นั้น พิชัย ยืนยันว่า เรื่องนี้น่าจะทำได้เพราะไม่อย่างนั้นจะไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำ เพราะแรงงานที่ทำงานประเภทเดียวกันในทุกจังหวัดก็ควรจะได้ค่าจ้างแรงงานเท่ากัน
“ปกติการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ภาคธุรกิจต่างๆนั้นจะสามารถปรับตัว ใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น และเพิ่มทักษะให้กับแรงงาน ซึ่งก็จะดีกับภาพเศรษฐกิจโดยรวมด้วย” พิชัย กล่าว