ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ แจง ครม.จำเป็นปรับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% เพื่อแก้ ศก.ในช่วงโควิด-19 เผยกู้เพิ่มหรือไม่รอดูแผนงานก่อน ปัด 2 ป.แยกกันลงพื้นที่วัดกำลัง วอนอย่าสร้างข่าวขัดแย้ง ขณะที่ ครม.เห็นชอบ 'เที่ยวด้วยกัน' เฟส 3 หากโควิดรุนแรงยุติโครงการได้

วันที่ 21 ก.ย. 2564 ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐมีมติเห็นชอบให้มีการทบทวนกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากเดิมที่กำหนดไว้ ต้องไม่เกินร้อยละ 60 เป็น ต้องไม่เกินร้อยละ 70 การขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็นร้อยละ 70 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า เพดานหนี้สาธารณะครั้งนี้เป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้กับรัฐบาลในกรณีที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการคลัง ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ซึ่งอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 รัฐบาลได้ใช้จ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน จากการแพร่ระบาดของโควิด มาส่วนหนึ่งแล้ว ส่วนจะกู้หรือไม่กู้เพิ่มเติม ก็จะพิจารณาตามความจำเป็น และแผนงานที่ชัดเจน กู้เท่าที่จำเป็น ไม่ได้กู้ครั้งเดียวเต็มพิกัด ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เป็นการปรับทุกๆ 3 ปี เป็นไปตามพ.ร.บ.อยู่แล้ว

สำหรับแผนการหารายได้เพื่อชำระหนี้นั้น รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนเรื่องการเร่งรัดหารายได้ใหม่ๆตามแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมใบใหม่ เช่น new s Curve และ BCG รวมไปถึงการลงทุนในอีอีซี และการส่งเสริมมูลค่าและการส่งออก ซึ่งจะช่วยให้จีดีพีและรายได้ของรัฐ

ปัดพื้นที่วัดพลัง 2ป. ย้ำ วอนอย่าหาเรื่องให้ขัดแย้ง ไม่เหนื่อยสู้ศึกการเมือง-ม็อบบนถนน

ส่วนกรณีการลงพื้นที่วันพรุ่งนี้(22 ก.ย.) ของพล.อ.ประยุทธ์​ ที่ชนกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกมองว่าเป็นการวัดพลังของ 2ป. นั้น ธนกรระบุว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน ขออย่าหาเรื่องมาสร้างความขัดแย้ง ซึ่งการลงพื้นที่ที่นายกฯ ได้สั่งการคณะรัฐมนตรี (ครม.) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนได้ลงพื้นที่หากไม่ติดราชการสำคัญใดๆ เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และการเตรียมการแก้ปัญหาอุทกภัยไว้ล่วงหน้า 

ธนกร กล่าวอีกว่า ส่วนที่อยากให้นายกฯ เปิดใจ ว่าเหนื่อยหรือไม่กับศึกการเมืองทั้งในพรรคและการเมืองบนท้องถนนนั้น นายกฯ ยืนยันว่าเหนื่อยไม่ได้ พร้อมขอขอบคุณรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทุกกระทรวง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หน่วยงานความมั่นคงและประชาชนทุกคนที่เข้าใจร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเห็นใจผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุม อย่างไรก็ตามมีหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่แล้วโดยจะดูแลตามกฎหมาย ขณะเดียวกันสังคมก็ต้องช่วยกันดูแล เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่น

ประวิตร 32000000.jpg

นายกฯ สั่งกำชับข้าราชการเร่งช่วยประชาชน-เคลียร์ร้องทุกข์โควิดกว่า 4 แสนเรื่อง

ธนกร ยังระบุด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีข้อสั่งการ หลังได้เดินทางตรวจเยี่ยมลงพื้นที่ โครงการ Factory sandbox ของบริษัทมิตซูบิชิมอเตอร์จำกัด ในจังหวัดชลบุรีเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีรายงานยอดการส่งออกรถว่ามีการปรับตัวที่ดีขึ้น และขอบคุณ ประธานบริษัทมิตซูบิชิมอเตอร์ ที่ดูแลในเรื่องป้องกัน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างดี

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังมีข้อสั่งการถึงแนวทางการทำงานแบบใหม่ พลิกโฉมประเทศไทย โดยเน้นการพัฒนาสร้างโอกาส ให้กับประเทศไทยทั้งฮาร์ดแวร์ซอฟต์แวร์ และการพัฒนาเตรียมการด้านทรัพยากรมนุษย์ รองรับโลกยุคใหม่ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 รวมทั้งเร่งสร้างความเข้าใจว่าจะต้องอยู่กับคนติดต่อไปช่วยกันนำพาประเทศก้าวผ่านภาวะวิกฤตไปให้ได้

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี กำชับข้าราชการทุกคน ทุกระดับต้องรู้จักปรับตัวเรียนรู้ ตามนโบายของรัฐบาล เป็นการต่อยอดการทำงานตามแนวทางพระราชดำริ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนก็ไม่เกิดช่องว่างระหว่างข้าราชการและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบการทำงานอย่างเข้มงวดของข้าราชการทุกระดับ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคด้วย

ขณะที่มีการรายงานสรุปผลการดำเนินการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 ถึง 20 ก.ย. 2564 มีเรื่องราวร้องทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับ โควิด-19 จำนวน 448,287 เรื่อง ยุติเรื่องได้จำนวน 446,545 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 99.61 และรอผลดำเนินการอีกจำนวน 1,742 เรื่อง หรือร้อยละ 0.39 ส่วนการร้องทุกข์ในภาพรวมทั่วไป มีทั้งสิ้น 66,500 เรื่อง ยุติเรื่องได้จำนวน 61,522 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 92.51 รอผลดำเนินการอีก 4,978 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 7.49

ครม.เห็นชอบ 'เที่ยวด้วยกัน' เฟส 3 - 'ทัวร์เที่ยวไทย' ชี้แนวโน้มติดโควิดลดลง

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปรับปรุงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของ “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” และ “โครงการทัวร์เที่ยวไทย” โดยเปลี่ยนแปลงระยะเวลาสิ้นสุดการดำเนินโครงการฯ ทั้ง 2 โครงการ เป็นวันที่ 28 ก.พ. 2565 และกำหนดให้ประชาชนใช้สิทธิได้ไม่เกินวันที่ 31 ม.ค. 2565 พร้อมให้ ททท. เร่งรัดการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน รายละเอียด ดังนี้

1. “โครงการทัวร์เที่ยวไทย” ปรับ 2 หลักเกณฑ์ ได้แก่ (1) เปลี่ยนแปลงการเดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัด สามารถเดินทางได้ทุกวัน จากเดิมเดินทางได้เฉพาะวันอาทิตย์ – พฤหัสบดี (2) เพิ่มรายการนำเที่ยว เป็น 30 รายการต่อบริษัท จากเดิม 15 รายการต่อบริษัท โดย ททท. ได้เตรียมความพร้อมสำหรับแพลตฟอร์มการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว

2. “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” ขณะนี้ได้เตรียมเปิดลงทะเบียนสำหรับผู้ประกอบการที่จะสมัครเข้าร่วม โครงการตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.– 1 ต.ค. 2564 ทั้งนื้ คาดการณ์ว่าจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการและให้ประชาชนใช้สิทธิท่องเที่ยวในเดือน ต.ค. นี้

ในส่วนของรายละเอียดโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 คือ รัฐสนับสนุนค่าโรงแรม 40% (ไม่เกิน 3,000 บาท/ ห้อง/คืน) สนับสนุนคูปองอาหาร 600 บาทต่อคืน และสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 40% (ไม่เกิน 2,000 บาท หรือ 3,000 บาท โดยดูตามเงื่อนไขของแต่ละจังหวัด) ส่วนโครงการทัวร์เที่ยวไทย นั้น รัฐสมทบเงินให้ 40% ของราคาแพ็กเกจท่องเที่ยว หรือไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันลดลงอย่างต่อเนื่อง การปรับปรุงรายละเอียดของทั้ง 2 โครงการจะสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศได้ จึงขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการที่พัก/โรงแรม/ ร้านค้า ร้านอาหารต่าง ๆ ปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรการต่าง ๆ ของ ศบค. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการควบคุม ป้องกันโรค ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย อย่างไรกึตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีความรุนแรงในช่วงระหว่างดำเนินโครงการ ททท. ก็สามารถขอยุติดำเนินโครงการฯ ได้ ทั้ง 2 โครงการ

นายกฯ

แจงดึงชาวต่างชาติมีศักยภาพเข้าประเทศ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ด้วยการดึงชาวต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาสู่ประเทศไทย ว่า ทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ตามพ.ร.บ.ที่มีอยู่ และอยู่ในกรอบนั้น เป็นการอำนวยความสะดวกไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ซึ่งคนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตต้องใช้ที่ดินที่อยู่อาศัยเฉพาะตนเอง และครอบครัว ไม่ขัดศีลธรรมจารีต ประเพณี และวิถีชีวิตอันดีของชุมชนในท้องถิ่นนั้น ซึ่งถ้าคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาต ให้ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าว กระทำผิดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จะต้องจำหน่ายที่ดินในส่วนที่ตนมีสิทธิ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งไม่น้อยกว่า 180 วัน และไม่เกิน 1 ปี หากพ้นระยะเวลาดังกล่าว อธิบดีมีอำนาจในการจำหน่ายที่ดินนั้น ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายเดิม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง