หากมองเข้ามาจากฝั่งเสาหลักของประเทศ ไทยโชคดีไม่น้อยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หลายบทบัญญัติอุทิศความสำคัญให้กับภาคการศึกษา ทั้งมาตรา 50 ซึ่งมีช่วงหนึ่งระบุว่าประชาชนมีหน้าที่ต้องเข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ หรือมาตรา 54 ซึ่งระบุว่ารัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองจากฝั่งผลลัพธ์อันประจักษ์ต่อสายตาประชาชนไทยและประชาชนโลก อย่างโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ที่ประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี อันเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ ในความฉลาดรู้ 3 ทักษะได้แก่ การอ่าน (Reading Literacy), คณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) ผลลัพธ์ในปี 2561 กลับไม่สะท้อนความสำเร็จตามความตั้งหวังของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยในด้านการอ่าน 393 คะแนน, คณิตศาสตร์ 419 คะแนน และวิทยาศาสตร์ 426 คะแนน ซึ่งนอกจากจะต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยแล้ว เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ในปี 2558 นักเรียนไทยยังมีคะแนนด้านการอ่านลดลงถึง 16 คะแนน ส่วนคะแนนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น 3 และ 4 คะแนน ตามลำดับ ในการทดสอบทางสถิติก็ถือว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ซ้ำร้าย ความน่ากังวลที่สุดยังไปตกอยู่กับทักษะด้านการอ่านซึ่งคะแนนของนักเรียนไทยในปีล่าสุดต่ำกว่าคะแนนที่ทดสอบในปี 2543 ด้วยซ้ำ
ด้วยปัญหาสะสมดังกล่าวประกอบกับความยากลำบากใหม่ที่ผู้เรียนและผู้สอนต้องเผชิญหลังประเทศต้องต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาด 'ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์' จึงลงพื้นที่สัมภาษณ์คณาจารย์ทั้งฝั่งโรงเรียนในระบบและติวเตอร์พิเศษเพื่อพูดคุยถึงปัญหาของระบบการศึกษาที่เกิดขึ้นและทางออกที่พวกเขามองกับเรื่องดังกล่าว
ด้วยภาวะที่การเว้นระยะห่างทางสังคมยังเป็นตัวเลือกที่สำคัญที่สุดในการการันตีว่าประชาชนจะเผชิญหน้ากับความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อยที่สุด ทางเลือกในการเรียนผ่านช่องทางออนไลน์จึงเป็นตัวเลือกที่อาจถูกมองว่าเหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตามเสียงสะท้อนจากฝั่งติวเตอร์และครูในระบบกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าแนวคิดดังกล่าวอาจไม่ถูกต้องมากนัก
‘รัฐธรรมนูญ เปรมชัยพร’ ข้าราชการครูชี้จุดบกพร่องสำคัญของการสอนออนไลน์ว่า แม้แต่ในยามที่ครูสอนอยู่กับนักเรียนให้เรียน การควบคุมให้เด็กทั้ง 50 คน ในห้องเรียนมีสมาธิก็เป็นเรื่องที่ยากมากแล้ว ดังนั้นการจะมาบังคับให้เด็กมีสมาธิจดจ่ออยู่กับบทเรียนออนไลน์นั้นจึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับ ‘ธีรพงศ์ อ่อนดา’ ติวเตอร์พิเศษที่ยอมรับว่า แม้แต่ในวงการเรียนพิเศษเอง เด็กจำนวนหนึ่งก็ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้เต็มศักยภาพเท่ากับการเรียนการสอนในห้องเรียน เพราะสิ่งที่ขาดไปจากการเรียนการสอนออนไลน์คือแรงกดดันในห้องเรียนทั้งจากเพื่อนร่วมห้องหรือครูผู้สอน
ขณะที่ ‘ตุลนันท์ นวลเพ็ญ’ ติวเตอร์คณิตศาสตร์เลือกชี้ไปที่ปัญหาในกลุ่มผู้เรียนที่เป็นเด็กเล็กที่อาจถูกมองข้ามไปว่า ตนเองมองว่าการเรียนการสอนออนไลน์ยังเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับเด็กโตมากกว่าเด็กเล็กเนื่องจากทักษะในการเรียนรู้มีหลายรูปแบบไม่ใช่แค่ตัวเนื้อหาบทเรียนเท่านั้นโดยเฉพาะกับเด็กเล็กที่ต้องพัฒนาทั้งทักษะกล้ามเนื้อรวมไปถึงทักษะการเข้าสังคม
นอกจากนี้การเรียนผ่านหน้าจอตั้งแต่วัยเด็กอาจส่งผลกระทบกับสุขภาพระยะยาวได้เช่นเดียวกัน ซึ่งข้อกังวลดังกล่าวนี้สอดคล้องกับประเด็นโต้แย้งที่ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย และผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หยิบขึ้นมาเป็นข้อเรียกร้องสำคัญให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เร่งการเปิดเทอม
งานวิจัย 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและพัฒนาการในเด็ก ได้แก่ Heckman and et al. (2013) ที่ศึกษาพัฒนาการของเด็กที่เติบโตมามีการพัฒนาทักษะด้านพฤติกรรม และ Kuhl, Tsao and Liu (2003) ซึ่งเป็นการทดลองประเมินผลการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศของเด็กผ่านรูปแบบการสอนแบบดั้งเดิมและการสอนผ่านคลิปวิดีโอ ตอกย้ำข้อโต้แย้งของ รศ.ดร.วีระชาติ ที่ชี้ว่าการเรียนการสอนผ่านรูปแบบดั้งเดิมยังเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากโดยสรุปนั้นเด็กที่โตขึ้นมาโดยปราศจากทักษะด้านพฤติกรรมที่จำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านการเข้าสังคมหรือการมีปฏิสัมพันธ์จะมีชีวิตยามโตที่แย่กว่าเด็กที่มีทักษะเหล่านั้น ขณะที่ผลลัพธ์จากการทดลองเรื่องภาษาพบว่าเด็กที่เรียนรู้ภาษาผ่านคลิปวิดีโอไม่ได้แสดงหลักฐานของการเรียนรู้แม้แต่น้อย
มิติการเรียนการสอนออนไลน์ในครั้งนี้ ยังเป็นเครื่องสะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาและฐานะทางการเงินได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อ ‘พิมพ์ปฏิมา สุรเศรณี’ ครูอัตราจ้างจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคใต้ สะท้อนว่า พื้นที่ที่ตนเองสอนนั้นไม่ได้มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตใช้ได้ฟรีในทุกพื้นที่ซึ่งสร้างความยากลำบากให้กับนักเรียนอย่างมาก
เท่านั้นยังไม่พอ เด็กจำนวนหนึ่งก็ไม่อาจเลือกให้การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดหรือมีเวลาไปสนใจว่านี่เป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากสถานะทางการเงินของครอบครัวกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญและการมีอาหารกินในมื้อต่อไปเป็นเรื่องสำคัญกว่าการพยายามตามหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อเรียนออนไลน์
“มันไม่ใช่ปัญหาด้านการศึกษาหรือนโยบายแล้ว มันเป็นปัญหาด้านความยากจน มันคือปัญหาชีวิตของคนแล้ว” พิมพ์ปฏิมา กล่าว
สอดคล้องกับประเด็นของครูอัตราจ้างจากภาคใต้ บทความ ‘มองผลสัมฤทธิ์และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการประเมินผล PISA ของประเทศไทย’ ของภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชี้ว่า เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ผู้คนมักเทความสนใจไปที่มิติของความเหลื่อมล้ำในเชิงเศรษฐกิจ เช่นสัดส่วนการกระจุกตัวของสินทรัพย์ตามข้อมูลจากสถาบันวิจัยของเครดิตสวิส แต่กลับไม่มีการวิเคราะห์เรื่องความเหลื่อมล้ำในมิติเรื่องการศึกษามากเท่าที่ควร
ภูมิศรัณย์ชี้ว่า ผลสอบ PISA ของไทยเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนว่าความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาทั้งในมิติของการเข้าถึงและผลสัมฤทธิ์มีความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างผู้ที่มีฐานะแตกต่างกัน เช่นเดียวกับฐานะของโรงเรียนในบทบาทผู้ให้บริการทางการศึกษา
ดัชนีเศรษฐฐานะ (Index of economic, social and cultural status) ที่รวบรวมมาจากระดับการศึกษาและระดับอาชีพของพ่อแม่ รวมไปถึงระดับทรัพยากรณ์ทั้งด้านการศึกษาและด้านอื่นๆ ของนักเรียนแต่ละคน ถูกใช้เป็นหนี่งในดัชนีบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำผ่านความจริงที่ว่านักเรียนไทยที่มีเศรษฐฐานะสูงจะมีคะแนนสอบสูงกว่านักเรียนที่มีเศรษฐฐานะต่ำ
อย่างไรก็ตามเมื่อแบ่งเศรษฐฐานะของนักเรียนไทยออกเป็น 5 กลุ่มเท่าๆ กัน (Quintiles) ข้อมูลพบว่า แม้เด็กไทยที่อยู่ในเศรษฐฐานะบนสุด หรือร้อยละ 20 บนสุดของประเทศ ยังมีคะแนนในส่วนการอ่านต่ำกว่านักเรียนที่มาจากเศรษฐฐานะต่ำที่สุดของหลายประเทศ อาทิ ฟินแลนด์, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งอาจเป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญว่านอกจากความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่กระจายตัวอยู่ในฝั่งคนรวยและคนจน มาตรฐานการศึกษาของประเทศเองก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน
‘เกณิกา บริบูรณ์’ ข้าราชการครูวิชาภาษาไทยตอบคำถามข้อนี้ของทีมข่าว ด้วยการพาย้อนกลับไปตั้งแต่ระบบการรับนักศึกษาหรือนิสิตเข้ามาเป็นครูว่าปัจจุบันกระบวนการผลิตครูก็อาจจะไม่ได้รับคนที่เก่งจริงและมีจิตวิญญาณในการเป็นครูเข้ามาในระบบตั้งแต่แรก ซ้ำร้าย ยังเป็นการเปิดช่องให้ “ใครก็ได้ที่ไม่รู้จะทำอะไร” เข้ามาเรียนเพราะเห็นว่าจบไปจะมีงานทำ ขณะเดียวกัน เมื่อผลิตครูขึ้นมาได้แล้ว กระบวนการใช้งานครูในโรงเรียนก็มีอีกหลายเรื่องที่ควรปรับปรุงทั้งภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนและนโยบายที่ปรับเปลี่ยนทุกเทอม
เสียงสะท้อนจากครูภาษาไทยรายนี้ชี้ว่า “บางครั้งครูอยากจะให้เด็กเยอะๆ แต่กลายเป็นว่าตัวงานที่ครูต้องทำ โครงสร้างต่างๆ ที่ครูเจอในโรงเรียนหรือในระบบ ทำให้ครูลดเวลาตัวเองลง ไม่สามารถเตรียมสอนได้ เดี๋ยวต้องไปประชุม เดี๋ยวต้องไปทำงานอื่น เดี๋ยวต้องไปยืนเวร บางทีครูวิทยาศาสตร์แต่ไปทำงานพัสดุ ครูภาษาไทยไปทำงานเอกสาร ไปทำงานเรื่องบุคคล ซึ่งมันเป็นจุดที่ไม่ได้ต้องการครูเข้าไปทำจริงๆ ทำไมเราคืนครูกลับสู่ห้องเรียนให้ครูได้มีเวลาว่างในการเตรียม ในการหาข้อมูลอื่น จะดีกว่าไหม”
ขณะที่ ‘รัฐธรรมนูญ’ เข้ามาเสริมว่า การเปิดประเด็นเรื่องภาระครูเป็นเรื่องที่ผู้สอนในระบบโรงเรียนนั้นพูดกันมาทุกรุ่นแต่ก็ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง ไม่ว่าจะเป็นเพราะงบประมาณที่จำกัดหรือการปฏิรูปที่ไม่เคยมีจริง
ข้าราชการครูประจำโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพสะท้อนว่า ถ้าเทียบกันแล้วตนเองยังโชคดีกว่าครูในต่างจังหวัดอีกมาก เพราะงบประมาณที่จำกัดทำให้ครูในต่างจังหวัดนอกจากเป็นครูยังต้องพ่วงตำแหน่งนักการภารโรงทาสีทำความสะอาดโรงเรียนไปด้วย ซึ่งท้ายที่สุด สิ่งเหล่านี้ก็อาจทำให้ครูเก่งๆ หลายคนหมดไฟได้ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ระบบมันทำให้ครูรู้สึกว่าอยู่แค่นี้ก็ได้ อุดมการณ์ที่ครูทุกคนมีตอนแรกๆ ก็เลยมอดดับกันไปหมด
ด้วยภาระงานที่นอกเหนือการสอนไปมาก ประกอบกับค่าตอบแทนที่มีสัดส่วนค่อนข้างต่ำโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอาชีพยอดฮิตในไทยอย่างแพทย์หรือวิศวกรที่มีรายได้สูงกว่ามาก ‘ธีรพงศ์’ ยอมรับว่าแม้แต่ตัวเองยังเลือกที่จะหันหลังให้กับการเป็นครูในระบบและออกมาเปิดโรงเรียนสอนพิเศษเป็นของตัวเองแทน เพราะนอกจากจะได้สานฝันที่ตนเองชอบในการสอนโดยไม่ต้องแบ่งเวลาไปให้กับภาระงานอื่นๆ ยังมีรายได้ในการเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้น
ตามข้อมูลจาก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินเดือนประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ชี้ว่า บัญชีเงินเดือนขั้นต่ำของตำแหน่งครูผู้ช่วยอยู่ที่ 15,050 บาท ขณะที่การจะขยับขึ้นมาได้เงินเดือนขั้นต่ำในระดับ คศ.1 ในมูลค่า 15,450 บาท ตามข้อมูลจากหนังสือเวียนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ฉบับที่ 20/2560 เรื่อง การปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสายงานการสอน พบว่าครูผู้ช่วยรายนั้นต้องดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี และผ่านการประมินการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มตามเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด หรือดำรงตำแหน่งอื่นที่ ก.ค.ศ.เทียบเท่า
หากคำนวณตามเงื่อนไขดังกล่าวครูผู้ช่วยรายนั้นจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละประมาณร้อยละ 1.33 ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์การปรับเงินเดือนในประเทศจากปี 2562 เข้าสู่ 2563 ที่จัดทำโดยสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) พบว่าอยู่ที่ร้อยละ 5.07 ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 5.06
ซึ่ง ‘ธีรพงศ์’ ตั้งคำถามว่า หากเปรียบเทียบกับอาชีพอย่างแพทย์ จริงอยู่ที่แพทย์เป็นอาชีพที่ต้องการคนเก่งสมควรให้ค่าตอบแทนสูงซึ่งตนเองก็ยอมรับตรงนั้น แต่การที่บุคคลหนึ่งๆ จะเดินทางไปพบแพทย์ก็คือในช่วงเวลาที่ป่วยหรือใกล้เสียชีวิต ซึ่งแปลว่าชีวิตคนเราควรจะได้เจอแต่คนเก่งๆ ตอนป่วยหรือใกล้เสียชีวิตหรอ ทำไมตัวเด็กไม่มีสิทธิที่จะได้เจอครูเก่งๆ บ้าง ครูเก่งๆ ที่อยู่ในระบบที่ให้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่า และมีเกียรติไม่แพ้อาชีพอื่นๆ บ้าง
นอกจากนี้ สิ่งที่ ‘ตุลนันท์’ หยิบขึ้นมาให้ทีมข่าวฟังเกี่ยวกับระบบประเมินผลครู ก็สะท้อนความผิดพลาดและกระบวนการตรวจสอบคุณภาพครูได้อย่างน่าตกใจเช่นเดียวกัน ติวเตอร์รายนี้กล่าวว่าในสมัยที่ตนยังรับข้าราชเป็นครูอยู่นั้น ระบบชี้วัดคุณภาพครูไม่ได้อยู่ที่การเรียนการสอนแม้แต่น้อย แต่กลับไปอยู่ที่การทำขั้นผลงานให้ครบตามเกณฑ์ตั้งไว้ ดังนั้นต่อให้ครูรายนั้นไม่มีศักยภาพในการสอนให้เด็กเข้าใจเนื้อหาบทเรียนได้ แต่สามารถทำขั้นผลงานผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ “ในระบบก็ถือว่าเป็นครูที่ดีแล้ว”
“เด็กไม่มีผลต่อการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ต่อให้การประเมินรอบนี้มีเด็กหรือไม่มีเด็ก ก็ไม่มีผล” ตุลนันท์ กล่าว
อดีตข้าราชการรายนี้ชี้ว่า กรณีที่จะทำให้เกิดการโยกย้ายหรือเปลี่ยนแปลงตำแหน่งครูหนึ่งๆ ได้จริง ต้องเกิดจากการ กระทำร้ายแรงที่ผิกกฎหมายจริงๆ ดังนั้นแค่เสียงสะท้อนของเด็กว่าครูคนหนึ่งสอนไม่ดี ครูคนนั้นจะยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปแบบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และไม่มีอะไรพัฒนาขึ้น
‘พิมพ์ปฏิมา’ สรุปในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ออนไลน์กับทีมข่าวว่า ถ้าจะเชื่อมโยงกลับไปถึงสาเหตุว่าทำไมระบบการศึกษาของไทยยังมีปัญหาอยู่จนทุกวันนี้ เธอคิดว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตัวผู้กำหนดนโยบายไม่ได้ไปยืนในจุดที่เธออยู่ ไม่ได้ใกล้ชิดกับเด็กต่างจังหวัดที่มองการศึกษาเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยเพราะการมาเรียนหนังสือต้องใช้เงิน แต่การรับจ้างทั่วไปมอบเงินให้กับพวกเขา ณ เวลานั้นๆ เลย
เธอชี้ว่า “ตราบใดที่เขาอยู่ในสภาพที่ยากจน ทุกอย่างมันตันไปหมดแล้ว ทุกอย่างมันตันมันไม่ใช่แค่การศึกษาแล้ว มันคือปัญหาชีวิตเขาแล้ว มันไม่ใช่ผิดแค่การศึกษา เขาต้องทำงานเลี้ยงชีพอย่างเดียว เขาคิดแค่ว่าพรุ่งนี้จะกินอะไร พรุ่งนี้จะมีเงินกินข้าวไหมแค่นั้น เขาไม่ได้มาคิดว่าพรุ่งนี้จะต้องไปโรงเรียนแล้วสะพายกระเป๋าหรือใช้ปากกาสีอะไร เขาจะคิดว่าพรุ่งนี้ไปโรงเรียนจะมีเงินกินข้าวที่โรงอาหารไหม”
สิ่งเหล่านี้ล้วนตอกย้ำว่า ปัญหาการศึกษาไทยหยั่งลากลึกไปกว่าแค่ตัวโครงสร้างการศึกษามากนัก แต่เป็นทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจริงที่เรียกร้องให้รัฐบาลต้องปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังและปฏิรูปประเทศจริงๆ ไม่ใช่แค่มีแผนดำเนินงาน 20 ปีขึ้นมาแล้วจบ
ขณะที่ ‘ตุลนันท์’ ปิดท้ายการสัมภาษณ์ครั้งนี้ว่า ตนเองยอมรับว่าทุกวงการนั้นมีทั้งขาวและดำ รวมๆ กันเป็นสีเทา แต่ในฐานะคนที่อยู่ในวงการนี้ ตนอยากให้วงการการศึกษาเป็นสีเทาอ่อนให้ได้มากที่สุด จึงอยากจะวอนให้ผู้มีอำนาจที่นั่งอยู่ตามเก้าอี้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะมีที่มาจากพรรคการเมืองไหนช่วยทำให้วงการนี้เป็นสีเทาอ่อนให้ได้มากที่สุด
ความจริงที่ว่าระบบการศึกษาของประเทศไทยมีปัญหาไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีโควิด-19 และไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนหรือผู้ที่อยู่ในอำนาจเพิ่งรู้ คำถามสำคัญคือทุกฝ่ายรู้ดีว่าประเทศเผชิญหน้ากับความท้าทายเหล่านี้ แต่ทำไมเรากลับไม่เคยแก้ไขสิ่งนี้ได้สักที