ไม่พบผลการค้นหา
บริษัทผู้พัฒนายานพาหนะ มั่นใจ ‘รถเมล์ไฟฟ้า’ แบรนด์ไทยไม่ใช่เรื่องยาก และไม่มีเวลาไหนเหมาะสมเท่าอีกแล้ว หลัง ขสมก.เตรียมเปลี่ยนรถเมล์กว่า 2,000 คัน

วีรพลน์ เตชะผาสุขสันติ โหนรถเมล์ครั้งสุดท้ายในชุดนักเรียนเมื่อราว 30 ปีก่อน แต่ตอนนี้เขากำลังสร้างมันในฐานะ CEO แห่งสกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น - Sakun C Innovation บริษัทผู้พัฒนายานพาหนะ

เขาได้รับการติดต่อจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้ทดลองนำเอา ‘ระบบไฟฟ้า’ มาสวมใส่เข้าไปใน ‘รถเมล์เก่า’

อย่างไรก็ตามเขาบอกว่า “ไหนๆ ก็ทำแล้ว” ควรจะคว้าโอกาสในการเปลี่ยนแปลง

“การจะเป็นรถไฟฟ้ามันควรมากับบอดี้น้ำหนักเบา เพราะงั้นเรายกบอดี้เก่าทิ้งเลยดีกว่า เอาบอดี้ใหม่ใส่เข้าไป ซึ่งอลูมิเนียมเป็นสิ่งที่เราชำนาญอยู่แล้ว” เขาบอกตัวถังที่น้ำหนักเบามีประโยชน์ต่อสมรรถนะของรถไฟฟ้า


แข็ง-ทน-เข้าถึงได้

สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น อยู่ในเครือโชคนำชัยกรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญและผู้ผลิตแม่พิมพ์ธุรกิจยานยนต์ขนาดใหญ่ ให้กับค่ายรถยนต์ชั้นนำมากมาย พวกเขารู้จัก ‘อลูมิเนียม’ เป็นอย่างดีและมั่นใจว่าสามารถกำหนดราคาที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้  

“อลูมิเนียมน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง ที่ผ่านมาหลายคนไม่เลือกใช้เนื่องจากต้นทุนสูง และเห็นว่าอยู่ในเฉพาะรถยนต์ซูเปอร์คาร์เท่านั้น แต่เราอยู่ในจุดที่สามารถทำต้นทุนให้ผู้ประกอบการสามารถเอื้อมถึงได้ สู้กับจีน และต่างประเทศได้” 

“รถเมล์ตัวนี้เป็นตัวแรกของโลกที่โรงสร้างทำมาจากอลูมิเนียม 100 เปอร์เซ็นต์ ปั๊มขึ้นรูปและประกอบโดยหุ่นยนต์” 

รถเมล์ไฟฟ้า บางปลาม้า

เขาอธิบายค่าความแข็ง (tensile) มากกว่าเหล็กตัวถังทั่วไป มีค่าการยืดตัว (elongation) ใกล้กับเหล็ก สามารถซ่อมบำรุงทั้งตัด ดัด เชื่อม เคาะได้เหมือนเหล็ก หากตัวรถมีความเสียหายสามารถซ่อมเฉพาะส่วนได้ ไม่ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งคัน แต่มีน้ำหนักเบากว่าเหล็ก นอกจากนี้ยังไม่เป็นสนิมและไม่ผุ

ก่อนหน้านี้สกุลฎ์ซีเพิ่งพัฒนา ‘รถมินิบัสอลูมิเนียม’ รองรับประกาศห้ามรถตู้สาธารณะโดยสารให้บริการข้ามจังหวัด โดยมียอดสั่งจองแล้วกว่า 500 คัน ในราคาประมาณ 2 ล้านบาท/คัน และเตรียมทยอยส่งมอบกลางปี 2564


คุ้มทุนได้แบบแมสโปรดักชัน 

เขาชี้ว่าการจะสร้างรถเมล์ไฟฟ้าแบรนด์ไทยให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้อง ‘ผลิตเป็นจำนวนมาก’ (Mass production) และจับมือกันเป็น Supply chain หรือห่วงโซ่อุปทาน ของกลุ่มผู้ประกอบการ 

“ใครถนัดเรื่องใด ชิ้นส่วนไหนไปทำมา แล้วผลิตประกอบโดยเทคโนโลยีมาตรฐานระดับสากล เพื่อให้ต้นทุนต่อคันต่ำและสู้กับต่างชาติได้” เขาบอก

“ลงทุนการผลิตครั้งหนึ่งเสร็จแล้วทำแมสได้ มันจะคุ้มทุน”

หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกหันมาใช้รถสาธารณะไฟฟ้ากันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวีรพลน์ยืนยันว่า การพัฒนาไม่ได้อยากซับซ้อน สามารถจัดหามอเตอร์และแบตเตอรี่ที่มีมาตรฐานความปลอดภัย รวบรวมระบบและชิ้นส่วนต่างๆ ประกอบร่างจากเป็นรถไฟฟ้าที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

รถเมล์ไฟฟ้า บางปลาม้า
  • วีรพลน์ เตชะผาสุขสันติ
ไม่อยากเสียอุตสาหกรรมให้ต่างชาติ 

"เราไม่อยากเสียโอกาส ไม่อยากเสียอุตสาหกรรมนี้ให้ต่างชาติหมด จนเราไม่ได้พัฒนาตัวเอง” วีรพลน์ บอกต้องการสร้างรถเมล์ไฟฟ้าเพื่อยืนยันว่า “คนไทยทำได้” ไม่จำเป็นต้องชอปปิงจากต่างชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ 

ปัจจุบัน ขสมก.อยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟูและมีแนวคิดจัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 2,000 คัน มาให้บริการในกรุงเทพฯ ซึ่งวีรพลน์เห็นว่าเป็นโอกาสและปริมาณที่ดีมากสำหรับการยกระดับในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย 

“ถ้าวันนี้เราคว้าตลาดรถเมล์ไม่ได้ ไม่รู้ว่าต้องรออีกกี่ปีถึงจะมีปริมาณเท่านี้ การผลิตระดับ 2,000 คันภายใน 1 ปี มันง่ายมากสำหรับผู้ประกอบการไทย พวกผมเองผลิตชิ้นส่วนให้ต่างประเทศมากกว่านี้เยอะ เรารู้หมดว่าใครเชี่ยวชาญส่วนประกอบใด แค่รวมกลุ่มกัน 2,000 คันเป็นเรื่องสบายๆ” 

รถเมล์ไฟฟ้า บางปลาม้า

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าแผนฟื้นฟูของ ขสมก.จะมีบทสรุปอย่างไร แต่กลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์หวังให้มี ‘เงื่อนไข’ ที่เจาะจงและเอื้อประโยชน์ให้เกิดการพัฒนาในไทยอย่างแท้จริง ไม่ใช่เงื่อนไขที่เต็มไปด้วยช่องทางให้หลีกเลี่ยงการพัฒนาในบ้านตัวเอง 

“เมืองไทยจำเป็นต้องมีแบรนด์ ทุกวันนี้นวัตกรรมไม่เกิด งานวิชาการขึ้นหิ้งเพราะเราไม่มีแบรนด์ รอบโลกเต็มไปด้วยสินค้าฝีมือคนไทย แต่แบรนด์ไทยไม่เกิดสักที”

“เราใช้แต่แรงงานอย่างเดียว ทั้งที่เราเก่งกว่านั้น” 

รถเมล์ไฟฟ้า บางปลาม้ารถเมล์ไฟฟ้า บางปลาม้า

เรื่อง : วรรณโชค ไชยสะอาด

ภาพ : วิสัยยศ จันทร์แก้ว 


วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog