ไม่พบผลการค้นหา
เกาหลีใต้ลดการนำเข้าเบียร์ญี่ปุ่นลงเกือบทั้งหมดในเดือนที่ผ่านมา หลังเหตุพิพาทเกาหลี-ญี่ปุ่นยืดเยื้อและผู้บริโภคชาวเกาหลีพากันบอยคอตต์สินค้าจากประเทศญี่ปุ่น

ในวันที่ 16 กันยายน ศุลกากรเกาหลี (Korea Customs Service: KCS) เผยว่าในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เกาหลีนำเข้าเบียร์จากบริษัทญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่า 223,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 6.8 ล้านบาท) ลดลงถึง 97 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 7.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 230 ล้านบาท)

ข้อมูลจากศุลกากรเกาหลียังเผยอีกว่าเบียร์ญี่ปุ่น เป็นเบียร์ที่มาการนำเข้าเป็นอันดับหนึ่งของเกาหลีมาตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2009 จนถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ ทว่า ในเดือนกรกฎาคมที่เริ่มเกิดข้อพิพาท เบียร์ญี่ปุ่นตกมาอยู่อันดับที่สาม และร่วงถึงอันดับที่ 13 ในเดือนสิงหาคม โดยหันไปดื่มเบียร์จีน เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และสหรัฐฯ แทน

ปริมาณการนำเข้าที่ลดลงอย่างมากในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังชาวเกาลีใต้พากันบอยคอตต์สินค้าญี่ปุ่น เช่น เบียร์ เครื่องสำอาง และรถยนต์ อีกทั้งในช่วงเทศกาลชูซ็อก วันหยุดยาวของเกาหลีใต้ เมื่อสัปดาหที่ผ่านมามีชาวเกาหลีใต้เดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติอินช็อนไปยังประเทศญี่ปุ่นเฉลี่ยวันละ 12,140 ราย ลดลงจากช่วงเทศกาลเดียวกันในปีที่แล้วถึง 39 เปอร์เซ็นต์ โดยก่อนหน้านี้หลายสายการบินได้ยกเลิกเส้นทางไปญี่ปุ่นด้วยเหตุผลว่ามีผู้ต้องการเดินทางในเส้นทางเหล่านั้นลดลง

การที่ชาวเกาหลีใต้พากันบอยคอตต์สินค้าและบริการ เป็นผลจากการที่ในเดือนกรกฎาคมญี่ปุ่นได้ใช้มาตรการคุมเข้มทางการค้า ที่กระทบต่อกระบวนการการส่งออกวัตถุดิบเทคโนโลยี 3 ชนิดที่เกาหลีใต้จำเป็นต้องพึ่งพิงญี่ปุ่นอย่างมาก คือฟลูออริเนเตดพอลีไอไมด์ (fluorinated polyimide) โฟโตเซนซิไทซิงเอเจนต์รีซิสต์ (photosensitising agent resist) และไฮโดรเจนฟลูออไรด์ (hydrogen fluoride) ซึ่งสารเหล่านี้ใช้ผลิตหน้าจอแสดงผล ชิป และเซมิคอนดักเตอร์ กระทบบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีรายใหญ่ในเกาหลีใต้อย่างเอสเคไฮนิกซ์ (SK Hynix) และซัมซุง (Samsung) และในภายหลังยังได้ถอดเกาหลีใต้ออกจากไวต์ลิสต์ทางการค้า ซึ่งเป็นรายการประเทศที่ปลอดจากความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษทางการค้ากับญี่ปุ่น

เหตุพิพาทในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังศาลเกาหลีใต้สั่งให้บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นต้องจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายให้เหยื่อชาวเกาหลีใต้ที่ถูกบังคับใช้แรงงานในช่วงปี 1910 ถึงปี 1945 ที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีเป็นอาณานิคม ทว่ารัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธว่าได้จ่ายค่าเยียวยาไปเรียบร้อยแล้วในปี 1965 ซึ่งทั้งสองประเทศมีการปรับความสัมพันธ์ทางการทูต ทว่าเกาหลีใต้ยืนกรานว่าเป็นการชดเชยต่อรัฐ แต่ไม่ได้เยียวผู้เสียหายที่เป็นปัจเจกบุคคล

ทั้งนี้ ทางเกาหลีใต้ชี้ว่าญี่ปุ่นใช้การค้าเป็นเครื่องมือทางการเมือง แม้ญี่ปุ่นยืนกรานว่ามาตรการคุมเข้มนี้ไม่ใช่การตอบโต้เกาหลีใต้ แต่บังคับใช้ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นเอง

ที่มา: Pulse / Yonhap / Strait Times / Xinhua

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: