ทั้งนี้ ประชามติแยกตัวของสกอตแลนด์มีขึ้นครั้งแรกในปี 2557 ซึ่งในครั้งนั้น 55% ของผู้มาใช้สิทธิได้ลงคะแนนให้สกอตแลนด์ยังคงอยู่ภายในสหราชอาณาจักร
แม้ว่ารัฐบาลอนุรักษนิยมของสหราชอาณาจักร จะไม่อนุญาตให้มีการจัดประชามติเป็นครั้งที่ 2 แต่ในวันอังคารที่จะถึงนี้ (11 ต.ค.) ศาลสูงสุดของสหราชอาณาจักร จะต้องรับฟังข้อโต้แย้งจากฝ่ายสกอตแลนด์ว่า สกอตแลนด์สามารถจัดประชามติได้ โดยไม่ต้องอาศัยการรับรองจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรในลอนดอนหรือไม่
ทั้งนี้ รัฐบาลของสกอตแลนด์กล่าวว่า ศาลควรอนุญาตให้จัดประชามติขึ้น โดยอ้าง “สิทธิขั้นพื้นฐานที่พรากไปไม่ได้” ในการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง แต่นักการเมืองจากพรรคการเมืองระดับประเทศและนักกฎหมายหลายคนกล่าวว่า การเป็นเอกราชของสกอตแลนด์ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในรัฐสภาระดับประเทศของสหราชอาณาจักร เมื่ออ้างอิงตาม พ.ร.บ.สกอตแลนด์ ปี 2541
สเตอร์เจียนกล่าวว่า หากศาลไม่อนุญาตให้มีการลงประชามติเกิดขึ้น พรรคชาติสกอตแลนด์ (SNP) ของเธอจะลงเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักรในครั้งหน้า โดยชูนโยบายเรื่องการป็นเอกราชของสกอตแลนด์เพียงอย่างเดียว ทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นเหมือนประชามติในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ การเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักรครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี 2566
“เราต้องนำเสนอเรื่องนี้ต่อประชาชนในการเลือกตั้ง หรือไม่เช่นนั้นเราก็ยอมแพ้ไปในเรื่องประชาธิปไตยของคนสกอต” สเตอร์เจียนกล่าว
“แต่มันควรเป็นตัวเลือกสุดท้าย ดิฉันไม่อยากอยู่ในบทบาทแบบนั้น ดิฉันต้องการประชามติที่ถูกต้องตามกฎหมาย” สเตอร์เจียนกล่าวเสริม โดยเมื่อกล่าวถึงประเด็นการแปลงการเลือกตั้งของสหราชอาณาจักร ให้เป็นประชามติแยกตัวของสกอตแลนด์ สเตอร์เจียนตอบว่า “ดิฉันมั่นใจว่าสกอตแลนด์จะได้เป็นเอกราชแน่นอน”
แม้ว่าการลงประชามติในปี 2557 เพื่อออกจากสหราชอาณาจักร จะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากในสกอตแลนด์ แต่รัฐบาลของสเตอร์เจียนยังคงมีความพยายามในการเสนอการจัดประชามติครั้งใหม่ขึ้น ภายหลังจากที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป
ในการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปหรือเบรกซิทนั้น ประชาชนชาวสหราชอาณาจักรลงคะแนนให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปด้วยคะแนนฉิวเฉียด ในขณะที่หากพิจารณาเพียงสกอตแลนด์จะพบว่า 62% ของคะแนนเสียงทั้งหมด ลงคะแนนให้สหราชอาณาจักรอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป
สเตอร์เจียนกล่าวว่า มี “หน้าที่ทางประชาธิปไตยที่เลี่ยงไม่ได้” สำหรับประชามติแยกตัวจากสหราชอาณาจักร เนื่องจากพรรคชาติสกอตแลนด์ของเธอจัดตั้งรัฐบาลได้ ด้วยการสนับสนุนจากพรรคกรีนของสกอตแลนด์ ซึ่งพรรคทั้งสองเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในรัฐสภาสกอตแลนด์ ที่มีแนวคิดสนับสนุนการแยกตัวของสกอตแลนด์
ที่มา: