นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBS กล่าวว่า หลังจากที่ทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็กลับมาดำเนินการอีกครั้ง โดยเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกลางต่างๆ ทำให้กิจกรรมภาคการผลิตน่าจะกลับคืนสู่ภาวะปกติในช่วงไตรมาส 4/2563 แต่ภาคบริการจะยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ส่วนความปกติรูปแบบใหม่ (new normal) จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2564 ซึ่งขึ้นอยู่กับการค้นพบวัคซีนรักษาโควิด-19
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว แม้ว่าประเทศไทยและยุโรปอาจจะฟื้นตัวช้ากว่าสหรัฐฯ และเอเชียเหนือ เนื่องจากสหรัฐฯ และเอเชียเหนือมีสัดส่วนรายได้จากภาคบริการน้อยกว่า
พร้อมกันนี้ มองว่าตลาดการเงินได้ฟื้นตัวและกลับคืนสู่ภาวะเกือบเป็นปกติแล้ว ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงด้านเครดิตปรับตัวลดลงโดยได้รับการสนับสนุนของธนาคารกลาง ควบคู่กับการเคลื่อนย้ายเงินทุน (fund flow) และส่วนต่างดอกเบี้ย (credit spread) ที่เริ่มมีเสถียรภาพ โดยมองว่าความเสี่ยงด้านต่ำ (downside) มีจำกัด เนื่องจากตลาดกลับคืนสู่ภาวะปกติ
ดังนั้นจึงจะเห็นการจัดพอร์ตลงทุนไปยังหุ้นคุณค่า (value stock) และหุ้นวัฏจักร (cyclical stock) และจะไม่มีเห็นภาพของ "easy returns" อีกต่อไป
กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ แนะนำกลยุทธ์การลงทุนไตรมาสที่ 3/2563 ยังคงเน้นเชิงรับ (Defensive) ด้านเศรษฐกิจไทยจะยังคงเติบโตอย่างช้าๆ ในระยะ 1-3 ปี ข้างหน้า ดังนั้น สำหรับพอร์ตลงทุนหลักระยะยาวจึงแนะนำให้เข้าซื้อหุ้น defensive ที่มีคุณภาพสูง เช่น กลุ่มสินค้าจำเป็น และกลุ่มการแพทย์ แม้การโยกย้ายไปยังกลุ่มหุ้นวัฎจักร (cyclical) จะได้รับปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป น่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังแนะนำกลุ่มที่มีความคาดหวังต่ำ เช่น พลังงาน ปิโตรเคมี และธนาคาร
3 ปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลัง 'รัฐลดกระตุ้นเศรษฐกิจ-โควิดรอบ 2-ความขัดแย้งสหรัฐฯและจีน'
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในอนาคต ด้วยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกและประเทศไทยจะทำจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2/2563 แต่เมื่อมองต่อไปข้างหน้าอาจจะมีความเสี่ยงด้านต่ำ (downside risk) บางอย่างที่จะส่งผลกระทบทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ ประเมินปัจจัยเสี่ยง 3 ประการ ได้แก่
1.การลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ในระยะหลังนี้ตลาดการเงินทั่วโลกเปลี่ยนมาอยู่ในภาวะ risk-on (เปิดรับความเสี่ยง) เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ร้อยละ 0 และดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ด้วยการซื้อพันธบัตรแบบไม่จำกัดวงเงิน
2.การระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 โดยสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับการระบาดรอบสอง ในช่วงตั้งแต่กลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ในมลรัฐเท็กซัส ฟลอริดา แคลิฟอร์เนีย และอริโซนา ซึ่งพบรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด การพบผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นมากทำให้ผู้เชี่ยวชาญเกิดความกังวล
3.ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งเชื่อว่าความเสี่ยงใหม่กำลังก่อตัวขึ้นและอาจกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในอนาคต ทั้งประเด็นการค้าที่สหรัฐฯ บีบให้จีนนำเข้าเพิ่มขึ้่น ประเด็นเทคโนโลยีที่ต่ออายุการแบนหัวเว่ยและแซดทีอี อีก 1 ปี และประเด็นเงินทุนที่รัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายให้อำนาจสหรัฐฯ เพิกถอนการจดทะเบียนบริษัทจีนจากตลาดหลักทรัพย์หากไม่ทำตามข้อกำหนดสหรัฐฯ
ประเมินดัชนีสิ้นปีอยู่ที่ 1,428 จุด ปีหน้าอยู่ที่ 1,430 จุด
ทั้งนี้ บล.ไทยพาณิชย์ประเมินว่า หากไทยเกิดการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 และต้องล็อกดาวน์ในบางพื้นที่อีกครั้ง จะมีผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังปรับลดลงไปอยู่ที่ระดับ 1,280-1,300 จุด และสิ้นปี 2563 น่าจะอยู่ที่ 1,428 จุด ส่วนเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 2564 โดยอิงจากปัจจัยพื้นฐานอยู่ที่ 1,430 จุด
บล.ทิสโก้ย้ำครึ่งปีหลังหุ้นไทยยังผันผวนสูง-แนะลงทุนธุรกิจรับผลโควิดน้อย
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 แกว่งตัวผันผวนมากถึง 630 จุด หรือกว่าร้อยละ 40 โดยขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1,604 จุดเมื่อวันที่ 3 ม.ค.2563 ก่อนปรับตัวลงทำจุดต่ำสุดที่ 969 จุด เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2563 นอกจากนี้ ยังได้เห็นการประกาศใช้มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์ถึง 3 ครั้งในเดือนมี.ค. หลังดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงแรง เพราะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง บล.ทิสโก้ มองว่าตลาดหุ้นไทยจะยังคงผันผวนสูงจาก 4 ประเด็นหลัก คือ
1.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจล่าช้าออกไป หรือต่ำกว่าที่ประเมินไว้
2.ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ - จีนที่อาจกลับมาปะทุขึ้น
3.ในช่วงปลายปีนี้มีโอกาสที่บริษัทต่างๆ จะผิดนัดชำระหนี้ หรือล้มละลาย หลังจากที่มาตรการช่วยเหลือต่างๆ สิ้นสุดลง ฃ
4.ความผันผวนของราคาน้ำมัน ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทย และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield)
"ยังคงมองว่าตลาดหุ้นไทยจะผันผวนสูงในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะมีปัจจัยความไม่แน่นอนรออยู่ แต่สำหรับนักลงทุนที่รอจังหวะเข้าซื้อหุ้นไทยนั้นมองว่ากรอบดัชนีที่ 1,250-1,300 จุดเป็นระดับดัชนีที่ไม่แพง และเป็นจังหวะที่น่าทยอยสะสมอีกครั้ง โดยมีธีมหุ้นเด่นที่น่าลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังคือ กลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยจากโควิด-19 หรือมีความเสี่ยงต่ำหากเกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 รวมทั้งมีความปลอดภัยจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ - จีนที่อาจกลับมาปะทุขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ผสานกับหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินชีวิตแบบ New Normal และแนวโน้มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่คาดว่าจะกลับมาเร่งตัวขึ้นเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ" นายอภิชาติ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :