ไม่พบผลการค้นหา
ก่อนเข้าสู่การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ช่วงปลายเดือน ก.พ. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  4 ก.พ. นี้ มีวาระที่ประธานจะแจ้งที่ประชุมเพื่อทราบ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ของกมธ.วิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร

บันทึกฉบับดังกล่าวมีความยาว 24 หน้า ลงนาม 'ปกรณ์ นิลประพันธ์' เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แบ่งออกเป็นความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อรายงานการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ สภาผู้แทนราษฎร จำนวน 15 ประเด็น 

ในภาพรวมจะพอทำให้เห็นเค้าลางความคิดจาก "รัฐราชการ" ต่อแนวทางการแก้ไขกฎหมายสูงสุดของรัฐสภาว่า บรรยากาศทางการเมืองไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป การแก้ไขจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ และเนื้อหาสาระจะเป็นไปตามที่ ส.ส.ร่วมกันพิจารณาศึกษาได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ 5 ปมดังนี้ 

1. ยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอ้าง รื้อทั้งฉบับส่อเค้าต้องประชามติ

บันทึกพาดพิงคำวิจิฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 และคำวินิจฉัยที่ 15-18/2556 เมื่อครั้งการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ไม่อาจดำเนินการได้ เนื่องจากคำวินิจฉัยข้างต้นได้ชี้ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติจากประชาชนก่อน

และการแก้ไขให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งเหมือน ส.ส.ไม่ได้ เนื่องจากมีอำนาจต่างกัน พร้อมทั้งหยิบยกเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (8) มาระบุไว้ด้วยว่า การแก้ไขในหมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องทำประชามติ

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาค่อนข้างให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว โดยมีการระบุย้ำความเห็นในลักษณะเดียวกันไว้ใน 3 ส่วนของบันทึก ทั้งในส่วนแรก และส่วนสรุป ประกอบกับให้เนื้อหาสาระของการแก้รัฐธรรมนูญตามหมวด 15 ของฉบับ 2560เมื่อจับกระแสการขยับของอดีตกลุ่ม 40 ส.ว. อย่าง ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ สมชาย แสวงการ ส.ว.ลากตั้ง ที่ผลักดันญัตติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ จึงทำให้เห็นแนวโน้มค่อนข้างชัด ด่านแรกของการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากเสียงประชาชนมีงานหนักรออยู่และอาจถึงขั้นหืดขึ้นคอ ไม่เหมือนการฉีกรัฐธรรมนูญโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ เมื่อปี 2557  

ีัีรัฐสภา  ประชามติ รัฐสภา 331201.jpg

2. ไฟเขียวหวนกาบัตร 2 ใบ สภาเดี่ยว-คู่ แล้วแต่จะโหวต 

หมวดรัฐสภา อาจต้องเรียกว่า คดีพลิก เมื่อองค์กรกลางอย่าง กกต. ให้ความเห็นว่าไม่ขัดข้องในส่วนของการเสนอชื่อนายกฯและการเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ตามที่รายงาน กมธ.วิสามัญเสนอเสนอให้การเลือกตั้งยึดไปตามหลักการของฉบับ 2540 และ 2550  ทั้งยังเสนอด้วยว่า ควรกำหนดสูตรการคิดคะแนนให้ชัดเจน และควรกำหนดเกณฑ์ของคะแนนขั้นต่ำไว้เช่นการเลือกตั้งเยอรมนี ซึ่งส่วนนี้ กกต. ไม่ได้บอก แต่คงจำกันได้ว่า เกณฑ์กำหนดคะแนนขั้นต่ำแบบเยอรมนีมีกำหนดไว้แล้วในฉบับที่ผ่านๆมา แต่มี "ผู้เฒ่า" มือดีมาออกแบบกติกาให้พวกเขาสืบทอดอำนาจเป็นรัฐบาลต่อไป 

สำหรับที่ประชุมกฤษฎีกาเองก็ให้ความเห็นไปตามหลักการว่า แนวทางของ ส.ส.ต่อการยกเลิกส.ว.ให้เหลือสภาเดี่ยว หรือคงไว้ในระบบสภาคู่ สามารถแก้ไขให้มีความชัดเจนขึ้นได้ โดยให้พิจารณาตามความเหมาะสมของข้อเท็จจริงและนโยบาย เพราะประเทศไทยได้เคยทดลองใช้สภาทั้งสองระบบจากที่มาหลากหลายรูปแบบไว้แล้ว  

ศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการ qqq0923.jpg

3. ศาลยุติธรรม ศาล รธน. ขอเป็นอิสระ รัฐสภาอย่าจุ้น ศาลทหาร ฮึ่ม เรื่องของทหาร 

ในส่วนของแวดวงตุลาการอีกหนึ่งแดนสนธยานอกจากกองทัพ ความเห็นต่อการแก้ไขในส่วนนี้มีลักษณะให้คงสภาพไว้ตามเดิม โดยระบุแต่เพียงสามารถแก้ไขเพิ่มเติม "ถ้อยคำ" ได้ แต่เมื่อมีข้อเสนอต่อการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้พิพากษาและตุลาการโดยหวังให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตย ความเห็นจึงได้อ้างความ "อิสระ" ในการพิจารณาดคีที่ต้องปราศจากการแทรกแซง และการตรวจสอบก็มีอยู่ในกระบวนการศาลที่สูงกว่าในชั้นอุทธรณ์และฎีกา 

กรณีของศาลทหารที่เคยถูกผู้ฉีกรัฐธรรมนูญอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้นำตัวพลเรือนมาขึ้นศาลทหารช่วงหนึ่งของการใช้กำลังอำนาจนอกรัฐธรรมนูญระหว่างปี 2557-2562 จำนวนมาก โดยไม่คำนึงหลักสากลนั้น ศาลทหาร กระทรวงกลาโหม ให้ความเห็นว่า พวกเขาไม่ควรมีอำนาจพิจารณาคดีของพลเรือนอีกต่อไป ยกเว้นสภาวะสงคราม พร้อมทั้งอธิบายเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแวดวงลายพรางว่า พวกเขาต้องมีตุลาการผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ "โดยถือความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใช้บังคับบัญชาที่เกิดจากความไว้ใจ" และทิ้งท้ายว่า ศาลอื่นไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาโทษ "ทหาร" นอกจากศาลทหารเท่านั้น 

สำหรับศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นโต้แย้งแนวทางการศึกษาของสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องการแก้ไข ศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนสถานะเป็นรูปของคณะกรรมการ เนื่องจากมีอำนาจมากเกินไป ไม่อาจตรวจสอบได้ ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจมากแต่อย่างใด หากให้รัฐสภาตรวจสอบจะขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจและหลักความเป็นอิสระของศาล เพราะฝ่ายการเมืองเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งนี้ ความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ว่า ฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีส่วนยึดโยงกับประชาชน เจ้าของอำนาจอธิปไตย เช่นเดียวกับที่มาของศาลรัฐธรรมนูญว่า ยึดโยงกับอะไร 

4. กกต. หวั่นอำนาจตัดสิทธิเลือกตั้ง

องค์กรอิสระ บางองค์กรพบความเห็นที่มีการทบทวนผลจากการทำหน้าที่ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดข้อครหาอย่างมาก เช่น ในส่วนของ กกต. ยอมรับตามตรงว่า ประเด็นการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ กกต. เป็นปัญหาการทำหน้าที่ที่เกิดขึ้นกับกกต. กรณีที่กกต.สั่งระงับสิทธิ แต่ศาลมีคำพิพากษาในทางตรงข้าม จึงเห็นควรให้มีการทบทวนกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดการโต้แย้งทางกฎหมายต่อไป 

สอดคล้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ต้องเรียกว่า ใส่เกียร์ถอยหลังในส่วนของ "หน้าที่และอำนาจ" ซึ่ง กรธ. ที่ไม่เคยตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพกำหนดให้ กสม. มีภาระหน้าที่ในการเป็น "โทรโข่ง" แก้ต่างการละเมิดสิทธิให้รัฐบาล กลับหัวกลับหางกับพันธกรณีที่ให้ไว้ต่อประชาคมโลก โดยความเห็น ระบุชัดเจนว่า ให้ยกเลิกหน้าที่ดังกล่าวในมาตรา 247 (4) พร้อมกับควรเพิ่มอำนาจให้ กสม.มีอำนาจหน้าที่ในการแสวงหาพยานหลักฐานการละเมิดสิทธิ ตามวิถีทางที่ควรจะเป็นตามหลักสากล 

ทว่าก็มีบางหน่วยงานซึ่งเกิดข้อครหาและเสียงท้วงติงเกี่ยวกับมาตรฐานการดำเนินงานของประชาชนตลอดทศวรรษแห่งความขัดแย้งอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ ส.ส.ศึกษาว่า ควรทบทวนการใช้ดุลพินิจการชี้มูลความผิดต้องมีความชัดเจนแน่ชัด มิใช่เพียง "เชื่อได้ว่า" และต้องกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลบางตำแหน่งต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งกฤษฎีมีความเห็นไม่ขัดข้องที่จะแก้ไขเพิ่มเติมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เข้าร่วมประชุม 

คสช.

5. บทเฉพาะกาล ส.ว.ลากตั้ง-นิรโทษฯ คสช.แค่ ชั่วเวลาหนึ่ง แนะคำนึงอาฟเตอร์ช็อก  

สุดท้ายบทเฉพาะกาล กล่องดวงใจ คสช.ที่เคยใช้รุกไล่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและระวังหลังถููกไล่เช็คบิล ในส่วนของอำนาจ 250 ส.ว. ลากตั้ง มีอำนาจโหวตนายกฯ และมาตราสุดท้ายการนิรโทษกรรมการใช้อำนาจนอกระบบของ คสช.เข้าแทรกแซงการเมืองนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า บทเฉพาะกาลมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในระยะเวลาเริ่มต้น ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ที่มีการเปลี่ยนผ่าน หากเห็นว่าแก้ไขให้มีความเหมาะสมขึ้นก็สามารถทำได้ แต่ควรคำนึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับความต่อเนื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบกับผลการศึกษาของกมธ.วิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรก็ยังเห็นต่างใน 2 แนวทาง  

"การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 นี้ต้องคำนึงถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับข้างต้น ซึ่งอาจมีการยกเป็นประเด็นเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ เนื่องจากได้มีแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว" สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง