ไม่พบผลการค้นหา
'ปัตตานี' เป็นหนึ่งในจังหวัดที่บังคับใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง คนในพื้นที่จึงต้องปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตอยู่ให้ได้ในโซน 'สีแดง' ซึ่งการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมไม่ได้มีแค่เรื่องความรุนแรง แต่รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อแปลง 'ต้นทุน' ที่มีอยู่ในชุมชนให้กลายเป็น 'พื้นที่คุณภาพ' ด้วย

ปลายเดือนสิงหาคมจนถึงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เทศกาล 'ถอดรหัสปัตตานี' หรือ Pattani Decoded ซึ่งถอดคำแบบไทยๆ ได้ว่า 'ดีโคตร' ถูกจัดขึ้นบนถนนหลายสายในชุมชนเก่าเลียบแม่น้ำปัตตานี ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชุมชนแห่งนี้ได้รับความสนใจจากคนนอกพื้นที่อย่างมาก เพราะ 'คนใน' ได้ร่วมกันบูรณะฟื้นฟูสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยได้รับความสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นย่านเชิงอนุรักษ์ และเป็นหมุดหมายแห่งใหม่ที่คนมากมายอยากไปเยี่ยมเยือน

ถนนสายสำคัญในการจัดเทศกาล 'ถอดรหัสปัตตานี' ได้แก่ อาเนาะรู, ปัตตานีภิรมย์ และฤาดี เป็นพื้นที่ในโครงการ 'อา-รมย์-ดี' ซึ่งกลุ่มมลายูลิฟวิ่ง (Melayu Living) กรรมาธิการสถาปนิกทักษิณเขตภาคใต้ตอนล่าง รวมไปถึงกลุ่มศิลปิน นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมผลักดันให้เป็น 'พื้นที่สร้างสรรค์' ซึ่งนำต้นทุนทางภูมิศาสตร์และต้นทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดฟื้นฟูเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย

0800952-ถอดรหัสปัตตานี-มุสลิม-ปัตตานีดีโคตร.JPG

เทศกาลนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 ส.ค. จนถึง 1 ก.ย. ได้รับความสนใจทั้งจากคนในพื้นที่และคนจากจังหวัดอื่นๆ ซึ่งเดินทางไกลมาร่วมกิจกรรม ณ ย่านเก่าแก่ของปัตตานี ที่เคยเป็นแหล่งหลอมรวมคนจากหลากหลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นในช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา กลายเป็น 'ภาพจำ' ซึ่งคนภายนอกพื้นที่มักจะนำไปเชื่อมโยงกับ 'จังหวัดชายแดนภาคใต้'

แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่น่าสนใจในปัตตานี...


มีประวัติศาสตร์

ถนนปัตตานีภิรมย์ซึ่งขนานไปกับแม่น้ำปัตตานี เชื่อมต่อกับถนนอาเนาะรู ถนนปะนาเระ และถนนฤาดี ซึ่งหากย้อนอดีตกลับไปช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ชุมชนที่ตั้งอยู่บนถนนเหล่านี้ถือเป็นย่านการค้าที่สำคัญ เพราะติดกับปากแม่น้ำ มีทั้งท่าเรือประมงและจุดขนถ่ายสินค้า และปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

อาคารบ้านเรือนในย่านนี้ได้รับการบูรณะฟื้นฟูในฐานะ 'ถนนสายประวัติศาสตร์' รากเหง้าชุมชนพหุวัฒนธรรม ซึ่งกลุ่มคนต่างเชื้อชาติและศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยในอดีต

0800952-ถอดรหัสปัตตานี-มุสลิม-ปัตตานีดีโคตร-อ่าวตานีเบย์.JPG

ยกตัวอย่าง 'แนวอาคารเลียบแม่น้ำปัตตานี' เคยเป็นที่ตั้งของบริษัทโลจิสติกส์ 'ตานีเบย์' จุดขนถ่ายสินค้าจากเรือเดินสมุทรที่จอดอยู่บริเวณปากอ่าว ปัจจุบันเป็นบ้านและอู่เรือของ 'กิจ รัตนวรรณ์' เจ้าของเรือโชติกิจเจริญ แต่ในเทศกาล ถอดรหัสปัตตานี พื้นที่บริเวณนี้เปิดกว้างให้กับนิทรรศการภาพถ่ายของศิลปินหญิงชาวปัตตานี อำพรรณี สะเตาะ อาจารย์สาขาวิชาศิลปะภาพถ่าย วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต

0800952-ภาพถ่าย อำพรรณี สะเตาะ ถอดรหัสปัตตานี.JPG

นอกจากนี้ยังมี 'บ้านขุนพิทักษ์รายา' บ้านครึ่งไม้ครึ่งตึก 2 ชั้น อายุเก่าแก่นับร้อยปี หัวมุมถนนปัตตานีภิรมย์ ตัดกับถนนอาเนาะรู แต่เดิมเป็นบ้านของขุนพิทักษ์รายา (ตันปั่นซิ่ว) ปัจจุบันได้รับการบูรณะโดยครอบครัว 'สุวรรณมงคล' โดยคงสภาพสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเอาไว้แทบจะทุกอย่าง ทั้งยังเปิดให้เข้าชมการตกแต่งภายในบ้านซึ่งจำลองสภาพความเป็นอยู่ในอดีตเอาไว้ด้วย

0800952-ย่านเมืองเก่าปัตตานี โครงการอา-รมย์-ดี-ถนนปัตตานีภิรมย์.JPG
  • บ้านขุนพิทักษ์รายา เปิดให้คนเข้าชมในเทศกาลถอดรหัสปัตตานี

ส่วนชาวจีนซึ่งค้าขายสินค้าต่างๆ ในปัตตานีสมัยต้นรัตนโกสินทร์จะพำนักอยู่บนถนนอาเนาะรู ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ถูกเรียกว่า 'กือดาจีนอ' หรือ 'ตลาดจีน' โดยอาคารจีนแบบดั้งเดิมไม่ไกลจากหัวมุมถนน เคยเป็นหนึ่งในบริเวณบ้านของหลวงสุนทรสิทธิโลหะ (จูเม้ง แซ่ตัน) ปัจจุบันกลายเป็นร้านน้ำชาและติ่มซำชื่อว่า 'โรงเตี๊ยมอาเนาะรู' ให้บริการทั้งอาหารและเครื่องดื่มในช่วงเช้าจนถึงเย็น

0800952-ถอดรหัสปัตตานี-มุสลิม-ปัตตานีดีโคตร-โรงเตี๊ยมอาเนาะรู.JPG

นอกจากนี้ ตลอดทั้งถนนอาเนาะรูยังเป็นพื้นที่ขายอาหารและขนมท้องถิ่นให้ผู้เข้าร่วมงาน 'ถอดรหัสปัตตานี' ได้ชิมและชมกันตามอัธยาศัย


มีอาร์ตสเปซ

ฝั่งตรงข้ามของลานกลางแจ้ง ซึ่งใช้เป็นที่แสดงดนตรีและโซนเปิดร้านขายของ มีตึกแถวเก่าแก่ตั้งอยู่ และพื้นที่แห่งนี้ถูกดัดแปลงเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการศิลปะ ซึ่งคัดเลือกโดย ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ. ปัตตานี) และผู้ก่อตั้ง Patani Art Space พื้นที่ศิลปะแห่งแรกในสามจังหวัดชายแดนใต้

ผลงานที่นำมาจัดแสดงในอาร์ตสเปซแห่งนี้ รวบรวมจากเครือข่ายศิลปินทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ผศ.เจะอับดุลเลาะ ได้เปรียบเทียบพัฒนาการของแวดวงศิลปะในพื้นที่ โดยเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ซึ่งช่วงนั้น ผศ.เจะอับดุลเลาะ ยังเป็นนักศึกษา 'รุ่นแรก' ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มอ.ปัตตานี และหนึ่งในผลงานชิ้นแรกๆ ของเขาพูดถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรง แต่เป็นผลงานที่ถูกห้ามจัดแสดงใน มอ.ปัตตานี

0800952-ถอดรหัสปัตตานี-มุสลิม-อาร์ตสเปซ.JPG0800952-ถอดรหัสปัตตานี-มุสลิม-อาร์ตสเปซ-เจ๊ะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ.JPG

ก่อนหน้านี้ ผศ.เจะอับดุลเลาะ เคยให้สัมภาษณ์กับทีม On Being ของ 'วอยซ์ ออนไลน์' โดยระบุถึงเหตุผลที่ผลักดันเรื่อง 'พื้นที่ศิลปะ' ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดเครือข่ายศิลปินทั้งในประเทศและนอกประเทศ เป็นเพราะเขาต้องการพื้นที่ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวและแสดงตัวตนได้ เนื่องจากปัตตานี รวมถึงละแวกใกล้เคียง เป็นพื้นที่ทับซ้อนทางประวัติศาสตร์ และ “เป็นพื้นที่สุญญากาศ”

ผศ.เจะอับดุลเลาะ กล่าวว่า พื้นที่แห่งนี้อาจจะมีอดีตที่หลากหลายและเจริญรุ่งเรือง ทั้งแง่เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และศิลปะต่างๆ โดยมีรากมาจากมลายู แต่ 'ความขัดแย้งแช่แข็ง' ยังคงอยู่ ดังนั้น ศิลปะร่วมสมัยจึงต้องมีลักษณะ 'เปิดกว้าง' ทั้งวิธีการ และวิธีคิด เพื่อจะได้เป็น "เครื่องมือหนึ่งในการบอกเล่าเรื่องราวทุกข์-สุขที่เกิดขึ้นบนผืนดินแห่งนี้"

0800952-ย่านเมืองเก่าปัตตานี โครงการอา-รมย์ดี-ถอดรหัสปัตตานี-กริชมลายู.JPG
  • 'กริชรามัน' กริชโบราณแห่งเมืองยะลา มีเอกลักษณ์ที่ด้ามรูปนก 'พังกะ' มีต้นตอจากช่างชาวอินโดนีเซีย 'ปันไตซาร๊ะ' ซึ่งได้รับเชิญจากกษัตริย์เมืองรามันให้มาทำกริชในพื้นที่เมื่อราว 200 ปีที่แล้ว

ปัจจุบัน พื้นที่เสพงานศิลปะในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจำนวนเพิ่มขึ้น และศิลปินก็มีผลงานที่หลากหลาย บางรายใช้ศิลปะในการตั้งคำถามกับสภาพสังคมที่เป็นอยู่ รวมถึงนโยบายการจัดการพื้นที่ในนามของ 'ความมั่นคง' ขณะที่บางรายถ่ายทอดศิลปะสะท้อนอัตลักษณ์มลายู ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนใต้ ขณะเดียวกันกลับเป็นคนกลุ่มน้อยเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดในประเทศไทย ส่วนบางรายถ่ายทอดเรื่องราวผ่านวัฒนธรรมที่เกี่ยวโยงกับอาหาร สถาปัตยกรรม และความเชื่อทางศาสนา

0800952-ศิลปะในงานถอดรหัสปัตตานี.JPG

นอกจากนี้ยังมีผลงานการออกแบบต่างๆ จัดแสดงใน Warehouse อาคารเก่าแก่ที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบจีน อยู่ระหว่างทางไปศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ปัจจุบันเป็นของ 'นายแพทย์เฉลิมชัย ชูเมือง และครอบครัว' ซึ่งในงานนี้ถูกใช้เป็นพื้นที่จัดแสดง งานฝีมือ สิ่งทอ เครื่องประดับ และแฟชั่น ซึ่งมีทั้งผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภูมิปัญญาดั้งเดิมในท้องถิ่นและผลงานประยุกต์ศิลป์ 


มีแพะ...

งานที่จัดแสดงในแวร์เฮาส์ชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ได้แก่ รองเท้า 'ทะเลจร' ที่ผลิตจากเศษขยะพลาสติกในทะเล แต่บนกำแพงอาคารติดกับลานกลางแจ้งของงาน มีการฉายแอนิเมชั่นในโครงการ Light Graffiti ของกลุ่มศิลปินและนักวิชาการ ซึ่งกำลังทำงานเชิงทดลองด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรวมตัวกันในนาม Pattani Landlord และผองเพื่อน

0800952-ย่านเมืองเก่าปัตตานี โครงการอา-รมย์-ดี-ถนนปัตตานีภิรมย์-แพะ-light graffiti.JPG
  • แพะเดินฝ่าพายุขยะโดยมีถุงพลาสติกห้อยอยู่ที่คอ

แอนิเมชั่นขนาดสั้นชิ้นนี้มีตัวละครหลัก คือ 'แพะ' สิ่งมีชีวิตที่พบเห็นได้ทั่วไปในปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง ผู้ชมงานแอนิเมชั่นจึงได้เห็น 'ชะตากรรมของแพะ' ที่ต้องเดินฝ่าพายุถุงพลาสติก หรือแม้แต่แพะที่ลอยขึ้นฟ้าเพราะบอลลูนถุงพลาสติก รวมถึง'นก' และ 'วาฬ' ที่ตกเป็นเหยื่อของพายุพลาสติกเช่นกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ศิลปินและนักกิจกรรมรุ่นใหม่ในปัตตานีสนใจ สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวเช่นเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

กลุ่ม Pattani Landlord นิยามตัวเองว่าเป็นกลุ่มคนที่ตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม และต้องการตั้งคำถามกับการจัดการขยะ และปัญหาขยะในพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกลุ่มก็เคยรณรงค์เชิงทดลองเกี่ยวกับ 'หลอดพลาสติก' มาก่อนแล้ว โดยมุ่งเน้นการนำหลอดพลาสติกมารีไซเคิล จนกระทั่งค้นพบคำตอบว่า ที่จริงแล้วการรีไซเคิลหลอดพลาสติกก็มีต้นทุนที่ต้องจ่าย ทำให้ได้ข้อสรุปว่า การลดหรือเลิกใช้หลอดพลาสติกคือทางออกที่ดีกว่าในการจัดการปัญหาขยะพลาสติกในพื้นที่

ส่วนโครงการแอนิเมชั่นล่าสุดที่ฉายในงานนี้ เป็นการผสมผสานงานกราฟฟิตีเข้ากับเทคโนโลยีมัลติมีเดีย และเปิดให้คนในปัตตานีทบทวนสถานการณ์การจัดการขยะในพื้นที่ร่วมกัน

แม้เทศกาล 'ถอดรหัสปัตตานี' จะจบลงไปแล้ว แต่การรวมตัวกันทำงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความชำนาญอันหลากหลายในจังหวัดปัตตานี ไม่ได้จบลงแค่งานนี้เท่านั้น หลายคนยังทำงานที่ตัวเองถนัดต่อไป เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา แก้ไข และหาแนวทางจัดการปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ 

อ่านเพิ่มเติม: