ไม่พบผลการค้นหา
“เราจะออกแบบเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน” หนึ่งในวลี และทัศนะของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เคยกล่าวไว้ในช่วงหาเสียง

เมื่อคำว่า เมือง ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ตึกอาคาร และถนนที่ตัดกันไปมาจนยุ่งเหยิงไปหมด แต่ยังรวมไปถึง ความสัมพันธ์ของคน ต่อระบบในการบริหาร เทคโนโลยี และพื้นที่สีเขียว 

รายการ 101 Public Forum จัดการเสวนาว่าด้วยประเด็น การบ้าน-การเมือง ของผู้ว่าฯ กทม. ซึ่ง อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ในฐานะผู้วิจัยเรื่องเมือง ที่ดิน และเทคโนโลยีกับสังคม ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าร่วม และให้ความเห็นต่อนโยบายที่มีความเกี่ยวข้องกับเมืองมากยิ่งขึ้น 

 
การจัดการเชิงระบบ-บริหารเมืองแบบใหม่ที่น่าตื่นเต้น

 อภิวัฒน์ กล่าวว่า ในฐานะที่สอนด้านผังเมือง ค่อนข้างตื่นเต้นกับการหาเสียของผู้สมัครผู้ว่าฯ เรื่องการพัฒนาบริหารจัดการเมือง ปกติเวลาพ่อค้ามาขายของให้เรา เขาก็ต้องบอกว่า ของชิ้นนี้ดีอย่างไร อันนี้มันคือฟังก์ชั่น จะไม่ค่อยมีใครมาบอกเราว่า ของชิ้นนี้มีกระบวนการผลิตดีอย่างไร แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมา น่าสนใจตรงที่ว่า พ่อค้าไม่เพียงบอกลูกค้าว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นตอบโจทย์อย่างไร แต่มันมีกระบวนการที่ดี เช่น การจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรม มีการตรวจสอบผู้ว่าฯ ตรวจสอบข้าราชการ มีความโปร่งใส บอกชัดเจนเลยว่า ประชาชนจะได้อะไรจาก กทม. และได้อะไรจากกระบวนการ 

สิ่งที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ อาจสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยช่วงสิบปีที่ผ่านมา เราเห็นชัดว่า สังคมไทยไม่ใช่แค่แตกแยกในเชิงการเมือง แต่ความแตกต่างในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานก็มีความแตกแยกมากเช่นกัน ซึ่งมันสะท้อนออกมาในข้อเสนอเชิงนโยบายมากพอสมควร แม้ผู้สมัครบางคนจะมีแนวคิดอนุรักษนิยม ไม่ได้อินเรื่องความเหลื่อมล้ำ

อภิวัฒน์ เสริมว่า มันมีการเชื่อมโยงปัญหามากขึ้น มีความน่าสนใจในการผูกโยงปัญหาเชิงระบบ ไม่ใช่แค่การบอกว่าจะแก้ไขปัญหารถติด แต่ยังพูดถึงการจัดการเชิงระบบอีกด้วย

 
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเมือง ฝันที่ไม่กล้าฝัน 

อภิวัฒน์ ให้ความเห็นว่า เรื่องของการเสนอความเป็นธรรม มุมมองต่อเมืองจากสายตาคนด้อยโอกาสดูเหมือนจะเริ่มมีมากขึ้น ส่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างพื้นฐานไม่ค่อยหวังมาก เพราะน่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ที่ใหญ่กว่าอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการฯ ด้วยซ้ำ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในเมือง แม้ว่าจะมีข้อเสนอ แต่คิดว่ามันเกินความสามารถในฐานะองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น ความหวังที่จะได้เห็นจากคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ น่าจะมาจากการที่ประชาชนเห็นว่า การใช้ชีวิตของคนด้อยโอกาสได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น

“ผมหวังไว้ว่า ถ้ามี ‘ชัชชาติ 2’ น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างองค์กรของ กทม.เกิดขึ้นได้”  


การเมือง ‘สีเขียว’ ระยะไกล 

ในอดีตตัวนโยบายที่จะเน้นขายให้กับคนเมือง คือ เรื่องน้ำท่วม รถติด แต่ครั้งนี้มีเรื่องที่ค่อนข้างจะทันสมัย เช่น การเข้าถึงบริการพื้นฐานโดยดิจิตอล  ซึ่งสะท้อนนโยบายความต้องการของคนในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น 

สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือเรื่องของความ ‘เขียว’ ในความหมายของการใช้ EV (Electric Vehicle) แต่เขียวในความหมายของการใช้พื้นที่สาธารณะนั้นไม่ใช่เขียวกินได้ แต่เป็นเขียวดูดี การที่เขียวดูดีพร้อมกับกินได้ด้วย มันคือนโยบายรั้วกินได้ ซึ่งเป็นเขียวของผู้มีรายได้น้อยที่จะปลูกอะไรและกินได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ Green Party ที่ไม่ได้ขายแค่บริการพื้นฐานให้กับคนในประเทศนั้นๆ แต่ขายวิสัยทัศน์ของสังคมที่ไปมากกว่าการกินอยู่ในปัจจุบัน หากกรีนแบบฮาร์ดคออีกหน่อยก็คือการใช้พลังงานทดแทน สิ่งต่างๆ ที่คิดว่าช่วยโลกนี้ให้ดีขึ้นได้ในเชิงสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเด็นนี้มันคือแพลตฟอร์มของพรรคเดโมแครต ในสหรัฐอเมริกา เพราะว่าเขาเกินชนชั้นกลางไปแล้ว 

“สำหรับผมเรื่องสีเขียวมันสำคัญในอนาคต เพราะเกี่ยวกับการเมืองของชนชั้นกลาง อย่างที่กล่าวไปว่า มันจะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่เพื่อที่จะรับมือกับ Climate Change และพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม” 


นโยบายความเป็น ‘ธรรม’ แต่ ‘ทำ’ เพื่อคนชนชั้นกลาง 

อภิวัฒน์ กล่าวว่า ตอนนี้ ‘ความเป็นธรรม’ ยากตรงที่สิ่งต่างๆ ที่รัฐลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเน้นสำหรับชนชั้นกลางเป็นหลัก ในอนาคตหากจะยกนโยบายเขียวกินได้ มันต้องทำอย่างไร สิ่งนี้เป็นการเชื่อมโยงโจทย์ของชนชั้นกลางเพื่อเข้ากับคนที่ยังต้องดิ้นรน ตรงนี้จะเป็นคำถามในเชิงการเมืองว่า หากเราจะเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานในกรุงเทพฯ สำหรับการรองรับพลเมืองในอีก 20-40 ปีข้างหน้า นั่นหมายความว่าภาษีอาจจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ชนชั้นกลางอาจจะจ่ายได้ แต่ถ้ามากไปกว่าโครงสร้างสาธารณะ แต่เปลี่ยนโครงสร้างอาคารทั้งหมด ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Green Party ของพรรคเดโมแครตในต่างประเทศ ตรงนี้บ้านเรายังไปไม่ถึง

อภิวัฒน์ เสริมว่า ความท้าทายคือคนเชื่อมั่นในชัชชาติ มีความศรัทธา การจะเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของกรุงเทพฯ ต้องมีก้าวแห่งศรัทธา ไม่ใช่แค่มาสร้างโซลาร์เซลล์ไว้บนดาดฟ้า ถ้าผู้ว่าฯ เน้นเฉพาะการตอบโจทย์ปัญหาปากท้องในปัจจุบัน เราอาจจะละเลยการมองความจำเป็นของกรุงเทพฯ ในอีก 20 30 หรือ 40 ปีข้างหน้า 


การพัฒนาเมืองสร้างช่องว่างสู่ ‘ความเสี่ยงเชิงระบบ’ 

อภิวัฒน์ กล่าวว่า 20 ปีที่แล้วนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนเชื่อว่า มันมีพลังของการกระจุกตัว ยิ่งเมืองใหญ่เท่าไหร่ ผลผลิตยิ่งดี ทำให้เศรษฐกิจเติบโตทั้งประเทศ ปัญหาหนึ่งที่มองเห็นไกลๆ คือ การกระจุกตัวของคนกรุงเทพฯ ถ้ามองเทียบเมืองใหญ่อย่างโตเกียว จะเห็นว่าประเทศไทยขาดความสามารถในการบริหารจัดการเมือง การที่กรุงเทพฯ มันขยายใหญ่ไปเรื่อยๆ แต่ความสามารถในการจัดการภาครัฐยังไม่ตอบโจทย์ ช่องว่างที่เพิ่มขึ้นคือ ความเสี่ยงเชิงระบบที่น่ากลัวมาก 

“ยิ่งให้กรุงเทพฯ โตเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงเชิงระบบมากขึ้นเท่านั้น เศรษฐกิจมากระจุกตัวอยู่ที่เดียว มันเป็นปัญหา เป็นความเสี่ยงเชิงระบบที่ใหญ่มากของไทย ตราบใดที่ไม่สามารถเพิ่มความสามารถในการบริหารได้ ก็ต้องกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่นอื่น” อภิวัฒน์ กล่าว

อภิวัฒน์ ให้ข้อเสนอว่า นโยบายที่ยาก จริงๆ คือแทบจะทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลกลาง หรือรัฐวิสาหกิจถืออยู่ เช่น ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่มักกะสัน หัวลำโพง หรือแม้แต่เรื่องรายละเอียดอย่าง ประปา ไฟฟ้า หรือไปจนถึงเรื่องเบสิคอย่างการจัดการน้ำเสียที่มาจากครัวเรือน 

“แทบไม่ต้องต่อสู้กับใครยังยากเลย สร้างของใหม่มันง่าย แต่ทำความสะอาดของเก่ามันยาก หรือถ้าจะเปลี่ยนให้ กทม.เป็นเมืองของทุกคน ไม่ได้เปลี่ยนที่ผู้ว่าฯ แต่ต้องเปลี่ยนที่กระทรวงมหาดไทย” อภิวัฒน์ กล่าว 

ทัตตพันธุ์ สว่างจันทร์
คนหาข่าวการเมืองประจำทำเนียบฯ-องค์กรอิสระ-กระทรวงมหาดไทย เนิร์ดเรื่องการเมืองวัฒนธรรม-วาทกรรมการเมือง-เบียร์
18Article
0Video
0Blog