โดย รองศาสตราจารย์ สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ระบุถึงสถานการณ์การของสองพรรคการเมืองอย่าง พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ในการเจรจาตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีการนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกในวันที่ 4 ก.ค.นี้ว่า การเดินหน้าระบอบประชาธิปไตยไทยจะไปต่อได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะแสวงหาข้อตกลงการลงมติเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรร่วมกันได้หรือไม่ ถ้าตกลงกันไม่ได้ ความต้องการของประชาชนที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้งจะหายไป และตอกย้ำถึง "ดีลลับ" ตามการอ่านเกมการเมืองของจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช. และชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย คือเรื่องจริง
รองศาสตราจารย์สุขุม ชี้ว่า หนทางเดียวในการผลักดันระบอบประชาธิปไตยจึงไม่มีทางเป็นอื่น พรรคการเมืองที่ประกาศตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องตกลงกันให้ได้ โดยพรรคก้าวไกล 151 เสียง เป็นแกนนำ และพรรคเพื่อไทย 141 เสียง เป็นแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาล ตามเสียงสะท้อนของประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่มีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแตะ ร้อยละ 76 สุดท้ายเชื่อว่า การเจรจาทั้ง 2 พรรคใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตย ที่มีกำหนดในวันที่ 2 ก.ค. จะหาข้อตกลงร่วมกันได้โดยไม่ต้องเสนอชื่อประธานสภาแข่งขัน
รองศาสตราจารย์ พัฒนะ เรือนใจดี คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ระบุว่า สถานการณ์ช่วงโค้งสุดท้ายดูเหมือนมีการเบี้ยวนัดการจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้น โดยการนำของพรรคเพื่อไทยที่ไม่ลดลาวาศอกต่อโควต้าประธานรัฐสภาตามที่เคยได้ตกลงร่วมกับพรรคก้าวไกลที่ได้รับการเลือกตั้งอันดับหนึ่ง และพรรคที่ได้คะแนนอันดับสอง จะได้ 2 รองประธาน ซึ่งการได้ผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติจะส่งผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี จึงเห็นการชิงไหวชิงพริบทางการเมืองรายนาที พรรคเพื่อไทยยังคงแสดงเป้าหมายทางการเมืองอย่างตรงตรงมาผ่านการ"ขอ" ตำแหน่งประธานสภา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ถึงความหวังในการเห็นพรรคอันดับหนึ่งนำพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างราบรื่น
แม้ส่วนตัวเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยที่มีความช่ำชองทางการเมืองสูงจะพลิกกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในท้ายที่สุด แต่ก็หวังอยากให้สิ่งที่ตนคิดนั้นผิด เพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไปมีทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลเป็นแกนนำฟื้นฟูประชาธิปไตยคืนกลับมาในสังคมไทย
รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ระบุว่า ตำแหน่งประธานรัฐสภามีความสำคัญในการจัดระเบียบวาระพิจารณากฎหมาย ควบคุมการประชุม ส.ส. และส.ว. กำกับเกมชิงไหวชิงพริบทางการเมือง ตลอดจนอำนวยความสะดวกตั้งแต่ขั้นการเลือกนายกรัฐตรี พรรคก้าวไกลจึงยืนยันรายชื่อแคนดิเดตประธานสภา เพราะเป็นด่านแรกของการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล
หากการเจรจาร่วมกันของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลในวันที่ 2 ก.ค. ไม่ได้ข้อยุติ สถานการณ์มีแน้วโน้มไปสู่การฟรีโหวตสูง เนื่องจากท่าทีของแกนนำคณะเจรจาของพรรคเพื่อไทยกับ ส.ส.สายอีสาน มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนต่อแคนดิเดตประธานรัฐสภา สุ่มเสี่ยงต่อการเคลื่อนไหวโดยใช้เทคนิคทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ประกอบกับข้อบังคับการประชุมสภาฯ ทำให้การโหวตประธานสะดุด ไม่ได้ข้อยุติ หรือเป็นไปในทิศทางอื่น
หากเป็นเช่นนั้น ประเด็นแรกที่พรรคเพื่อไทยต้องพิจารณา คือ แง่มุมทางการเมืองที่จะเกิดกระแสกดดันไปยังตัวหัวหน้าพรรค ว่า ไม่อาจคุมเสียง ส.ส. ภายในพรรคได้ ประกอบกับการนำของคณะกรรมการบริหารพรรคในศึกเลือกตั้งที่ไม่เข้าเป้าแลนสไลด์ ก็อาจถูกทวงถามถึงการแสดงความรับผิดชอบ ตลอดจนผลกระทบต่อความนิยมพรรคระยะยาว
รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร ระบุว่า ข้อพิจารณาถัดมา คือ สภาวะทางการเมืองที่ไม่ปกติเช่นนี้ และท่าทีเงียบจนผิดปกติของขั้วอำนาจเก่าทำให้ไม่สามารถประเมินได้ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจำนวน 188 เสียงของขั้วอำนาจเดิมวางหมากการประชุมสภาฯ ครั้งแรกนี้อย่างไร ในการประชุมสภาฯ นัดแรก เราอาจได้เห็นการเสนอชื่อตัวบุคคลจากพรรคร่วมขั้วอำนาจเดิมเพื่อให้เกิดการสอดแทรกขึ้นมาชิงตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติได้
"หากทั้งพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลต่างคนต่างส่งผู้ท้าชิงประธานสภา ขั้วที่สามอาจเข้าวินไปได้อย่างพิศวง เพราะการเสนอชื่อแข่งขันโหวตประธานรัฐสภาตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ทำได้อย่างง่ายดายโดยใช้เสียง ส.ส. ผู้รับรองเพียง 20 คน เท่านั้น"
รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร ระบุว่า เหตุดังกล่าว พรรคก้าวไกลและพรรรคพื่อไทย จึงจำเป็นต้องประเมินอย่างถี่ถ้วน และหาข้อยุติร่วมกันในการเสนอชื่อประธานรัฐสภาในการเจรจาร่วมกันวันที่ 2 ก.ค. ให้ได้ โดยควรคำนึงถึงเป้าหมายร่วมกันตั้งแต่ครั้งเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี 2562 นั่นคือเอา คสช. ออกจากการเมืองไทย และจัดวางโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมแบบใหม่ ตามเจตจำนงของประชาชนที่ให้ไว้ในการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 รวม 24 ล้านเสียง