ไม่พบผลการค้นหา
ประชาชนจำนวนมากไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศ และ Voice Online รวบรวมความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ตลอดทั้งวันเพื่อเป็น 'หมุดหมายแห่งประวัติศาสตร์'

24 มีนาคม 2562 เป็นวันเลือกตั้งทั่วประเทศของไทย หลังจากมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 และไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มานานเกือบ 5 ปี

AFP-ประชาชน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ต่อแถวที่คูหาเพื่อรอลงคะแนน-เลือกตั้ง2562.jpg

08.00 น. เปิดคูหาเลือกตั้งทั่วประเทศ

ผลสำรวจประชากรบ่งชี้ว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในปีนี้มีจำนวนประมาณ 51,205,624 คนทั่วประเทศ และการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) รวมทั้งหมด 500 ที่นั่งในสภา แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 ราย และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 150 ราย โดยพรรคที่ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 25 ราย มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี


บุคคลสำคัญทยอยใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

นับตั้งแต่เวลา 07.45 น. มีความเคลื่อนไหวของบุคคลสำคัญทางการเมืองซึ่งต่างก็ทยอยเดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดย 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' และนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา เป็นคนแรกที่ไปยืนต่อแถวรอใช้สิทธิ์ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 33 ภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง 2 แขวงดอกไม้ เขตประเวศ เขตเลือกตั้งที่ 20 ของกรุงเทพมหานคร และทั้งคู่ได้ใช้สิทธิ์ลงคะแนนเป็นคนแรกหลังจากเปิดคูหาเมื่อเวลา 08.00 น.

ขณะที่เวลา 08.11 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่สวนวังทอง 1 หน่วยเลือกตั้งที่ 10 แขวงสะพานสอง เขตวังทองหลาง และเป็นเขตเลือกตั้งที่ 8 กรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นก็มีความเคลื่อนไหวของบุคคลอื่นๆ ตามมาอีกหลายราย และเมื่อเวลา 08.20 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ 10 บริเวณเต็นท์ใต้ทางด่วน (เรวดีเหนือ) ซอยประดิพัทธ์ 5 เขตเลือกตั้งที่ 6 เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 

เมื่อเวลา 09.00 น. 'ชัชชาติ สิทธิพันธุ์' สร้างสีสันด้วยการขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งหน่วยเลือกตั้ง 26-27 เขตเลือกตั้งที่4 โรงเรียนแจ่มจันทร์ เขตวัฒนา ย่านทองหล่อ ต่างจากบุคคลสำคัญทางการเมืองคนอื่นๆ ที่เดินทางด้วยรถยนต์หรือเดินเท้า ขณะที่เวลา 09.09 น. 'อุตตม สาวนายน' มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้ง 5 เขตเลือกตั้งที่ 4 คลองเตยและวัฒนา

ต่อมา เวลา 10.50 น. คุณหญิงพจมาน (ดามาพงศ์) ณ ป้อมเพชร เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่ลานกีฬา 1 หมู่บ้านเคหะธานี 3 หน่วยที่ 15 แขวงรามอินทรา เขตคันนายาว เขตเลือกตั้งที่ 14 ของกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พร้อมครอบครัว ไปใช้สิทธิ์หน่วยเลือกตั้งที่ 31 แขวงจอมพล เขตจตุจักร เขตเลือกตั้งที่ 6 กรุงเทพฯ


'กูเกิลดูเดิล' ร่วมปักหมุด 'เลือกตั้งครั้งใหญ่ของไทย'

เว็บไซต์ค้นหาข้อมูลออนไลน์ 'Google' มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งทั่วประเทศของไทยครั้งนี้ด้วยการจัดทำโลโก้ดูเดิลเป็นภาพกล่องบัตรเลือกตั้ง ติดลายธงชาติไทย ทั้งยังมีผู้เผยแพร่รายละเอียดสั้นๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ในยูทูบ บ่งชี้ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยครั้งนี้มีความสำคัญและมีผู้จับตามองทั่วโลก


'คนเมาฉีกบัตรเลือกตั้ง' ถูกคุมตัวรายแรกที่ 'ลำพูน'

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยว่าเมื่อเวลา 09.15 น. ได้รับรายงานการฉีกบัตรเลือกตั้ง 1 จุด ที่ จ.ลำพูน โดยตรวจสอบพบว่า เป็นชายคนหนึ่งซึ่งเมาสุรา และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวเอาไว้แล้ว เนื่องจากการฉีกบัตรถือเป็นความผิดทางอาญา

ประธาน กกต.ยังกล่าวเตือนด้วยว่า ห้ามถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งที่กากบาทลงคะแนนไปแล้ว ห้ามแสดงบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วให้ผู้อื่นเห็น และห้ามนำบัตรมาถ่ายรูปเซลฟี่กับตัวเอง หากต้องการถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ขอให้ออกมาถ่ายหน้าหน่วยเลือกตั้ง


แฮชแท็ก 'เลือกตั้ง' และประเด็นที่เกี่ยวข้องติดเทรนด์ยอดฮิต 'ทวิตเตอร์'

การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ใช้สิทธิ์ครั้งแรกประมาณ 5.6 ล้านคน และความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเครือข่ายทวิตเตอร์ของไทย บ่งชี้ว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของทวิตเตอร์ มีความกระตือรือร้นในการเลือกตั้ง เพราะมีการทวิตข้อความต่างๆ และติดแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับกับการเลือกตั้งจนติดอันดับเทรนด์ยอดนิยม

เมื่อเวลา 10.00 น. แฮชแท็กยอดนิยมในประเทศไทย อันดับ 1 ได้แก่ #ThailandElection2019 อันดับ 2 #เลือกตั้ง62 อันดับ 3 #โตแล้วเลือกเองได้ อันดับ 4 #เลือกตั้งปี2562 อันดับ 5 #ThaiElection19

Twitter-Trend-เทรนด์ทวิตเตอร์วันเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 โตแล้วเลือกเองได้.jpg

กกต.-สื่อมวลชน-ภาคประชาชน รณรงค์ตรวจสอบการเลือกตั้ง

นอกเหนือจากแฮชแท็กที่เผยแพร่โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทยและต่างประเทศที่สนใจการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังมีแฮชแท็กเกี่ยวกับการตรวจสอบและสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่องค์กรอิสระ สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม ร่วมรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ได้แก่ การติดแฮชแท็ก #สารวัตรเลือกตั้ง และ #HearYourVoice ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของ iLaw เครือข่ายเฟ (FFFE) และ Voice TV ที่เชิญชวนประชาชนรายงานความเคลื่อนไหวหรือรายงานเหตุการณ์ผิดปกติที่พบเห็นในระหว่างเลือกตั้ง เพื่อช่วยกันจับตาการเลือกตั้งว่าดำเนินไปอย่างโปร่งใส-เป็นธรรมหรือไม่ตลอดวันที่ 24 มี.ค. ตั้งแต่เปิดคูหาเลือกตั้งไปจนถึงช่วงดำเนินการเคลื่อนย้ายหีบบัตร

ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รณรงค์ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตรวจสอบข้อมูลและทำความเข้าใจกระบวนการเลือกตั้งในครั้งนี้อย่างละเอียดก่อนใช้สิทธิ โดยแนะนำให้ประชาชนดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน 'ฉลาดเลือก' เพื่อศึกษาข้อมูล โดยสามารถดาวน์โหลดผ่านสมาร์ตโฟนได้ทั้งระบบ iOS และระบบ Android


เลือกตั้งต่างจังหวัดคึกคัก-ชาวเชียงใหม่ใส่หน้ากากสู้ควันพิษ

ผู้สื่อข่าวภูมิภาคของ Voice TV จากหลายจังหวัด รายงานว่าประชาชนจำนวนมากไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันอย่างคับคั่ง แต่ที่จังหวัดเชียงใหม่พบปัญหาหมอกควันพิษรุนแรงขึ้น ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในอากาศ อยู่ที่ 404.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ข้อมูลจาก Air Visual) ถือว่าเข้าขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ประชาชนผู้ไปใช้สิทธิในเชียงใหม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตัวเอง 

  • สื่ออิสระชาวต่างชาติเผยแพร่ภาพประชาชนในเชียงใหม่สวมหน้ากากต่อแถวรอเลือกตั้ง

กติกาเลือกตั้งเปลี่ยน-ผู้ได้คะแนนมากที่สุด อาจไม่ใช่ผู้ชนะ

สื่อต่างประเทศหลายสำนักเกาะติดรายงานการเลือกตั้งไทย โดยส่วนใหญ่อ้างอิงนักวิเคราะห์และนักวิชาการซึ่งระบุว่ากติกาการเลือกตั้งไทยเปลี่ยนไปจากอดีตที่ผ่านมา อาจทำให้พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในครั้งนี้ไม่ใช่ผู้ชนะเลือกตั้ง ทั้งยังมีการวางเงื่อนไขหลายด้านที่เอื้อประโยชน์ต่อเครือข่ายรัฐบาลทหาร ทั้งกรณี ส.ว.แต่งตั้ง 250 เสียง และการยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ซึ่งเป็นเครือข่ายของ 'พรรคเพื่อไทย'

นอกจากนี้ยังมีตัวแปรสำคัญอื่นๆ เช่น พรรคการเมืองที่ไม่ได้ประกาศจุดยืนต่อต้านเผด็จการหรือรัฐบาลทหาร พร้อมร่วมกับพรรคสนับสนุนรัฐบาลทหารจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หรือต่อให้พรรคที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยได้รับชัยชนะและได้จัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น เพราะรัฐบาลทหารวางกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเอาไว้ และมีเงื่อนไขผูกมัดหรือบังคับให้รัฐบาลชุดใหม่ต้องปฏิบัติตาม (อ่านต่อ: สื่อนอกจับตาการเลือกตั้งไทย ผู้ชนะอาจไม่ได้ตั้งรัฐบาล)


'แต่งงาน' ก็สำคัญ แต่ 'เลือกตั้ง' ก็ต้องมา

หลังเปิดคูหาเลือกตั้งเมื่อ 08.00 น. ผู้ใช้สิทธิในหลายจังหวัดทยอยเดินทางไปลงคะแนน โดยมีหลายกรณีที่ทำให้เกิดกระแสฮือฮาในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น กรณีของเจ้าสาวรายหนึ่งในจังหวัดสตูล สวมชุดแต่งงานไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก่อนจะไปเข้าพิธีสมรส

โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า Wissanee Changlek นำภาพ 'เจ้าสาวเลือกตั้ง' ไปเผยแพร่สู่สาธารณะ พร้อมบรรยายภาพว่า "สามีก้อจะเอา.... เลือกตั้งก้อจะเลือก... ทำหน้าที่วนไปค่ะ ปล.ถ่ายจากด้านหน้าหน่วยเลือกตั้งนะคะ" และได้เปิดเผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า ผู้สวมชุดเจ้าสาวคือน้องสาวของตนเอง ต้องการจะไปทำหน้าที่และรักษาสิทธิ เพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก

ขณะเดียวกัน กลุ่มชาติพันธุ์ชาวมานิ (เงาะป่า) นำโดยนายไข่ ศรีมะนัง หัวหน้ากลุ่มชาวมานิใน จ.สตูล นำครอบครัวและญาติพี่น้อง รวม 17 คน เดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่เขตเลือกตั้งที่ 2 บริเวณอาคารกลุ่มออมทรัพย์ ม.10 บ้านวังนาใน ต.น้ำผุด อ.ละงู จ.สตูล โดยเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของกลุ่มชาวมานิซึ่งเพิ่งจะได้รับบัตรประจำตัวประชาชนเมื่อปีที่แล้ว นายไข่ระบุว่า รู้สึกดีใจที่ได้เลือกตั้ง และรู้สึกว่าได้เป็นคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์

VoiceTV-มันนิเลือกตั้งที่ละงู สตูล.JPG

ความผิดฐาน 'ฉีกบัตรเลือกตั้ง' เยอะที่สุด

เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวช่วงครึ่งวันแรกของการเลือกตั้ง ระบุว่า การกระทำผิดเกี่ยวกับเลือกตั้งที่พบมากที่สุด คือ การ 'ฉีกบัตร' มีจำนวนทั้งหมด 10 ราย โดยเหตุเกิดในหลายจังหวัด ทั้งลำพูน, สมุทรสงคราม, พระนครศรีอยุธยา, ยโสธร, เชียงใหม่, ตาก, ปทุมธ���นี, นครศรีธรรมราช อ่างทอง และกรุงเทพฯ

ผู้ฉีกบัตรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และบางรายมึนเมาสุรา โดยสาเหตุหลักที่ฉีกบัตรเป็นเพราะ 'กากบาทผิด' นอกจากนี้ยังพบผู้กระทำผิดกรณีถ่ายรูปบัตรเลือกตั้ง 1 รายที่จังหวัดชลบุรี และที่จังหวัดอุบลราชธานี มีผู้ร้องเรียนว่าไปตรวจสอบขอใช้สิทธิที่คูหาเลือกตั้ง พบว่ามีคนใช้สิทธิไปแล้ว ซึ่ง กกต.กำลังเร่งตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นการสวมสิทธิหรือไม่ และอีกกรณีไม่พบชื่อในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และเจ้าหน้าที่ประจำเขตกำลังตรวจสอบ เพื่อให้สามารถใช้สิทธิได้ทันเวลาก่อนถึงกำหนดปิดคูหา 17.00 น.


พรรคการเมืองแถลงขอบคุณประชาชนหลังปิดหีบ

หลังจากปิดหีบเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อเวลา 17.00 น. เจ้าหน้าที่ได้เริ่มกระบวนการนับคะแนนตามหน่วยต่างๆ และพรรคการเมืองหลายพรรคทยอยแถลงข่าวเพื่อขอบคุณประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยแกนนำของพรรคเพื่อไทย แถลงขอบคุณประชาชน โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย แถลงยืนยันหลักการของพรรค จะไม่จับมือกับพรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร พร้อมย้ำว่า พรรคที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากจะต้องเป็นผู้นำในการตั้งรัฐบาล

เพื่อไทย

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำการสักการะรูปปั้นพระแม่ธรณี ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่พรรคประชาธิปัตย์เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. พร้อมแถลงขอบคุณประชาชนที่มาเลือกตั้ง และประกาศว่าพรรคจะเดินหน้าสร้างประชาธิปไตยสุจริต ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ก็จะมุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาชนอย่างแน่นอน 

Untitled-1.jpg

ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าว ณ ที่ทำการพรรค เมื่อเวลา 18.00 น. พร้อมนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคฯ เพื่อขอบคุณคนไทยทุกคนที่มีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งนี้ และย้ำว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่จุดจบ ไม่ใช่เส้นชัยของการเดินทาง พร้อมขอเชิญชวนคนไทยทุกคน ทำงานร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ต่อไปหลังจากการเลือกตั้งครั้งนี้

อนาคตใหม่แถลง.jpg

ส่วนนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่ไว้วางใจ แม้พรรคพลังประชารัฐจะเป็นพรรคใหม่ แต่ก็พร้อมเสนอเข้ามาทำงานด้านการเมือง อย่างไรก็ตาม นายอุตตมไม่ตอบคำถามเรื่องแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาล และไม่ตอบว่า คาดหวังตัวเลขสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตในใจไว้เท่าไร

อุตตม.jpg

สอดส่องเลือกตั้ง 'ไม่ทั่วถึง' แต่ภาพรวม 'เรียบร้อยดี'

เครือข่ายเอเชียเสรีเพื่อการเลือกตั้ง (ANFREL) สรุปภาพรวมผลสังเกตการณ์การเลือกตั้ง จากการลงพื้นที่มากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ โดยผู้สังเกตการณ์จาก 14 ประเทศทั่วโลกพร้อมใจเดินทางลงพื้นที่ 30 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศไทย และเก็บข้อมูลการลงคะแนนตั้งแต่เปิดคูหาเลือกตั้งไปจนถึงเวลาปิดคูหา พบว่า ภาพรวมในการลงคะแนนเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยดี แต่มีเหตุขัดข้องบางกรณี ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ใช้สิทธิไม่ทราบขั้นตอนการเลือกตั้ง และกระบวนการตรวจสอบเอกสารระบุตัวตนผู้ใช้สิทธิไม่เคร่งครัด

นอกจากนี้ โรฮานี ดีจันทา ผอ. อันเฟรล ยอมรับว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบคูหาเลือกตั้งครอบคลุมเพียง 1,000 คูหาเท่านั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคูหาเลือกตั้งทั้งหมด 92,837 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.07 แต่อันเฟรลจะติดตามไปสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลการนับคะแนนที่หน่วยต่างๆ เพิ่มเติม เพราะมีข้อกังวลที่ต้องจับตามองอีกประการหนึ่ง คือการนำบัตรเลือกตั้งล่วงหน้ามาร่วมนับคะแนนด้วย


เครือข่ายประชาชนชี้ "คูหาเลือกตั้งไม่ได้มาตรฐาน"

ผลตรวจสอบการติดแฮชแท็ก #สารวัตรเลือกตั้ง และ #HearYourVoice ซึ่งทาง 'วอยซ์ ทีวี' ร่วมกับ ไอลอว์ (iLaw) และเครือข่ายเฟ (FFFE) ชวนประชาชนรายงานและจับตาสถานการณ์ผิดปกติในการเลือกตั้งครั้งนี้ พบว่า ปัญหาที่มีการร้องเรียนให้ตรวจสอบมากที่สุด คือ ความไม่พร้อมของคูหาเลือกตั้งหลายๆ แห่ง และการให้ข้อมูลไม่ตรงกันของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง รวมถึงกรณีเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้สิทธินำปากกาของตัวเองไปใช้กาบัตรเลือกตั้ง และหีบเลือกตั้งไม่มีสายรัด

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตคลิปรายงานข่าวของไทยรัฐทีวี ที่เผยแพร่ภาพคูหาเลือกตั้งแถวสนามเป้า พบว่ามีทหารไปใช้สิทธิกันเป็นจำนวนมาก แต่ระหว่างการลงคะแนนกลับมีทหารนายอื่นเดินไปมองผู้ใช้สิทธิลงคะแนนที่คูหา ทำให้มีผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายรายติดแฮชแท็ก #สารวัตรเลือกตั้ง เพื่อรีทวิตประเด็นนี้ เพราะเกรงว่าการลงคะแนนของกลุ่มทหารดังกล่าวจะไม่เป็นความลับ ซึ่งกรณีทั้งหมดต้องนำไปร้องเรียนต่อ กกต. เพื่อให้ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงให้ชัดเจนต่อไป

Por-จรุงวิทย์ ภุมมา เลขา กกต.-1.jpg

บัตรเลือกตั้งส่งจากนิวซีแลนด์ 18 มี.ค. แต่มาไม่ทันนับคะแนน 24 มี.ค.

'ณัฐ ศักดาทร' นักร้องที่โด่งดังจากการประกวดเรียลลิตี้โชว์ AF เผยแพร่ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวเรื่องการติดตามผลเลือกตั้ง 2562 ทั้งยังใส่เครื่องหมายคำถาม พร้อมแนบลิงก์ข่าวกรณีที่ กกต.แถลงว่าบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่เดินทางจากนิวซีแลนด์ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. มาถึงไม่ทันการเริ่มนับคะแนนที่ประเทศไทยเมื่อเวลา 17.00 น.วันนี้ (24 มี.ค.2562)

กรณีดังกล่าว พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. แถลงว่าบัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์มีจำนวนทั้งหมด 1,500 ใบ แต่ยอมรับว่าบัตรไปไม่ถึงหน่วยทันเวลาที่เริ่มนับคะแนน และจะต้องส่งเรื่องให้ กกต.พิจารณาว่าบัตรทั้งหมดจะถูกตีเป็น 'บัตรเสีย' หรือไม่


กกต. ขีดเส้นรับรองผลเลือกตั้ง 'ไม่เกิน 9 พ.ค.'

ในเวลาต่อมา พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. แถลงข่าว ว่า กกต.จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการภายใน 60 วัน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 9 พ.ค.

ส่วนเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ส่งมายัง กกต. มีจำนวน 91 เรื่อง แบ่งเป็น ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วย 33 เรื่อง, ผู้สมัครทำผิดกฎหมาย 58 เรื่อง โดยมีเรื่องร้องเรียนผ่านผู้ตรวจการเลือกตั้งเกี่ยวกับการใช้เงินซื้อเสียง 7 เรื่อง, ข่มขู่ให้ลงคะแนน, จำหน่ายสุรา และสวมสิทธิเลือกตั้ง อย่างละ 1 เรื่อง

ขณะที่เรื่องร้องเรียนความผิดจากการถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว มีจำนวน 2 ราย ที่จังหวัดชลบุรีกับบุรีรัมย์ แต่การฉีกบัตรเลือกตั้งเกิดขึ้น 21 แห่งในหลายจังหวัดทุกภาคของประเทศ โดยเรื่องทั้งหมด กกต.จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าผู้กระทำผิดมีเจตนาอย่างไรและมีมูลหรือไม่ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนและพิจารณาบทลงโทษต่อไป

เชียร์เพื่อไทย

อาจารย์รัฐศาสตร์ชี้ 'เลือกตั้ง 62' สะท้อนความ 'ต่างรุ่น' ไม่ใช่ 'ต่างชนชั้น'

รศ. เวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ 'Voice TV' ว่า การเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ทำให้สังคมได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้ง ซึ่งสะท้อนภาพความแตกต่างทางความคิดของคน 'ต่างเจเนอเรชั่น' หรือต่างรุ่น มากกว่าจะเป็นความต่างทางชนชั้น

โดย รศ.เวียงรัฐ ยกตัวอย่างกรณี 'พรรคอนาคตใหม่' มีนโยบายที่สามารถซื้อใจคนรุ่นใหม่วัย 20-30 ปีต้นๆ ที่นิยามตัวเองเป็นคนชั้นกลาง มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แม้จะอยู่ในเขตชนบท แต่ก็ไม่ชอบการถูกกดขี่ และไม่ชอบเผด็จการ ขณะที่คนรุ่นพ่อแม่ของพวกเขาพอใจกับนโยบายหาเสียงของ 'พรรคเพื่อไทย' ที่มุ่งเน้นการพยุงสังคมชนบทที่อิงอยู่กับเกษตรกรรม เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่ยังเหนียวแน่นกับการต่อสู้ และก็อยู่มานานพอที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย

ขณะที่ 'พรรคพลังประชารัฐ' เสนอนโยบายที่จับกลุ่มคนสูงอายุ วัยประมาณ 60-70 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นคนที่ได้เบี้ยยังชีพคนชรา เลี้ยงหลาน และไม่ค่อยตื่นตัวทางการเมือง จึงอาจจะถูกจูงใจได้ด้วยบัตรคนจน เบี้ยยังชีพคนชรา และการเมืองของความสงบ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีสมาร์ตโฟน เพราะในปัจจุบันอุปกรณ์ตัวนี้ไม่ได้แพง จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจ แต่อยู่ที่การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร 

Por-นับคะแนนเลือกตั้งที่ กกต.-4.jpg

บัตรเสียทะลุ 1.9 ล้าน บางจังหวัดเกินครึ่งหนึ่งของบัตรดี

เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. กตต.รายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งนับแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์จากทั่วประเทศ พบจำนวนบัตรเสียสูงถึง 1,902,981 ใบ คิดเป็น 5.64 เปอร์เซ็นต์ และบัตรไม่ลงคะแนนให้พรรคการเมืองใดๆ เลย 500,726 ใบ คิดเป็น 1.48 เปอร์เซ็นต์

ก่อนที่ กกต.จะแถลงผลดังกล่าว มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายคนโพสต์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจำนวนบัตรเสียของหลายๆ จังหวัด พร้อมแชร์ผลการนับคะแนนของกกต. ซึ่งแสดงให้เห็นภาพบางจังหวัดจำนวนบัตรเสียมากกกว่าครึ่งหนึ่งของบัตรดี เช่น จังหวัดเชียงราย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 918,351 ราย มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 437,145 ราย คิดเป็นบัตรดี 108,998 ใบ บัตรเสีย 326,281 ใบ และบัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด (Vote No) 407,296 ใบ

infographic-ผลคะแนนเลือกตั้ง 90 เปอร์เซ็นต์อย่างไม่เป็นทางการจาก กกต

กกต.ขอตอบทุกคำถาม '25 มี.ค.' - ยอดผู้ใช้สิทธิอย่างไม่เป็นทางการ 65%

เวลา 21.35 น. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงภาพรวมการเลือกตั้ง โดยระบุว่าเรียบร้อยดี และผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ 90 เปอร์เซ็นต์ มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 65 เปอร์เซ็นต์ จากผู้มีสิทธิทั้งหมดประมาณ 51,205,624 คน บัตรเสีย 5.6 เปอร์เซ็นต์ และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน (Vote No) 1.5 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่การลงคะแนนเสียงนอกราชอาณาจักร มีผู้ใช้สิทธิ 101,004 คน หรือ 84.7 เปอร์เซ็นต์จากที่ลงทะเบียนไว้ล่วงหน้า มีกรณีคัดแยกซองใส่บัตรเลือกตั้งพบว่าซองใส่บัตรที่สถานทูตเวลลิงตัน นิวซีแลนด์ ส่งมาไม่ทันคัดแยก โดยเมื่อ 18 มี.ค. สถานทูตเวลลิงตันส่งคาร์โก จากนั้นวันที่ 21 มี.ค. สายการบินนิวซีแลนด์ส่งถุงเมล์ให้การบินไทย วันที่ 22 มี.ค. ถุงเมล์ตกค้างนครโอ๊กแลนด์เพื่อส่งมาประเทศไทย วันที่ 23 มี.ค. ถุงเมล์ส่งมายังประเทศไทยช่วงค่ำแต่ยังอยู่ที่คลังสินค้าการบินไทยจึงส่งไม่ทันเพื่อคัดแยก

ส่วนข้อรายละเอียดทุกคำถาม รวมถึงผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ 95 เปอร์เซ็นต์จะแถลงเวลา 10.00 น.วันพรุ่งนี้ (25 มี.ค.) พร้อมเลขาธิการ กกต.

อนาคตใหม่.jpg

พรรคอนาคตใหม่งดแถลงข่าว เหตุคะแนนเลือกตั้งยังไม่ชัด

21.45 น. นางสาวพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ประกาศกับสื่อมวลชนว่าขอยกเลิกการแถลงข่าวของพรรคอนาคตใหม่ในวันนี้ เนื่องจากผลคะแนนการเลือกตั้งยังไม่แน่ชัด กกต.ทำการนับเวลาล่าช้า และเวลาล่วงเลย ทางพรรคเตรียมแถลงข่าวในวันพรุ่งนี้ (25 มี.ค) ช่วงสายแทน

ก่อนหน้านี้ พรรคอนาคตใหม่เตรียมแถลงข่าวหลังมีผลคะแนนเลือกตั้งในช่วงเวลา 21.00 น. และเลื่อนมาเป็นเวลา 22.00 น. แต่เนื่องจากการนับคะแนนที่ล่าช้าของ กกต. ที่ยังไม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ และเนื่องจากมีสื่อจำนวนมาก ทั้งไทยและต่างชาติ มาปักหลักรอฟังการแถลงข่าวของพรรคอนาคตใหม่ หากรอให้ครบจะทำให้เวลาล่วงเลย จึงขอเลื่อนไปเป็นพรุ่งนี้เมื่อมีผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว

อนุทิน ชาญวีรกูล ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ภูมิใจไทย.jpg

หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยแถลงขอบคุณประชาชน

นายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค แถลงข่าวอย่างเป็นทางการจากจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อเวลาประมาณ 21.45 น. ภายหลังจาก กกต. นับคะแนนไปแล้วกว่าร้อยละ 91 ท่ามกลางบรรยากาศรอผลการเลือกตั้งที่ทำการพรรคย่านบางเขน โดยมีคณะกรรมการบริหารพรรค แกนนำพรรค และสื่อมวลชน เกาะติดอย่างคึกคัก

นายอนุทิน ระบุว่า ขอบคุณประชาชนที่มอบความไว้วางใจให้กับพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาแบบไหนก็พร้อมยอมรับ ยืนยัน ส.ส.ทุกที่นั่ง พร้อมทำงานให้กับประชาชน ส่วนประเด็นการจัดตั้งรัฐบาล ขอยังไม่มีท่าทีใดๆ จนกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะรับรองผลอย่างเป็นทางการ พร้อมย้ำว่ายังไม่มีพรรคใดเข้ามาติดต่อขอร่วมจัดตั้งรัฐบาล และไม่ว่าตนจะอยู่ในบทบาทไหน ก็พร้อมทำหน้าที่

อภิสิทธิ์-ประชาธิปัตย์-ประกาศลาออก-เลือกตั้ง2562

"ผมต้องรักษาคำพูด" : อภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อเวลาประมาณ 21.50 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หลังจากผลการนับคะแนนเลือกตั้งมากกว่าร้อยละ 90 บ่งชี้ว่า ผลที่ออกมาไม่ตรงกับที่พรรค ปชป.คาดการณ์ไว้ ซึ่งนายอภิสิทธิ์เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค ถ้าหาก ปชป.ได้รับเลือกตั้งต่ำกว่า 100 ที่นั่งทั่วประเทศ

นายอภิสิทธิ์ระบุว่า แม้ผลการนับคะแนนยังไม่แล้วเสร็จ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าผลที่ออกมาไม่ตรงกับที่ตนคาดหวังไว้ ต้องขอโทษผู้สมัครของประชาธิปัตย์ทุกท่านที่ไม่สามารถผลักดันแนวคิดของเราให้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ และต้องขอบคุณเพื่อนหลายคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นนักการเมืองที่มีคุณภาพ ทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่า

"ผมต้องแสดงความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าองค์กร เพราะฉะนั้น ผมขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคตั้งแต่วันนี้" ซึ่งหลังจากนี้ กรรมการบริหารพรรคจะทำหน้าที่รักษาการณ์และทำงานร่วมกับสมาชิกพรรคที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

"ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนมาตลอดเวลา แต่ขอเรียนว่า ความตั้งใจของผมในการทำงานให้กับประชาชนและพรรคจะไม่มีเสื่อมคลาย แต่ผมต้องรักษาคำพูด เพราะสิ่งหนึ่งที่ต้องสร้างให้ได้ คือ สัจจะของนักการเมือง" นายอภิสิทธิ์กล่าวทิ้งท้าย

ประยุทธ์-หย่อนบัตร-เลือกตั้ง2562

'ประยุทธ์' ขอบคุณทุกภาคส่วนจัดเลือกตั้งเรียบร้อย

พันเอกอธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ขอบคุณในนามของรัฐบาล ที่ทุกฝ่ายจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันนี้ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งเจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทุกคนที่ทำงานอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ขอบคุณประชาชนคนไทยทุกคน ทุกพื้นที่ ที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก และเมื่อมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว พรรคการเมืองต่าง ๆ ก็จะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลต่อไป ในส่วนของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่โดยสมบูรณ์ ด้วยความรักและปรารถนาดีต่อทุกคน เพื่อแก้ไขปัญหาและวางรากฐานที่มั่นคงมั่งคั่งให้กับประเทศและพี่น้องประชาชนคนไทยตลอดไป

เพื่อไทย

เพื่อไทยขอรอผลเลือกตั้ง ปัดคุยอนาคตใหม่ตั้งรัฐบาล

เวลาประมาณ 22.45 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงว่า พรรคต้องรอความชัดเจนในการนับคะแนนเลือกตั้งจาก กกต.ให้ได้อย่างน้อย 95 เปอร์เซ็นต์ ถึงจะแถลงแนวทางการปฏิบัติอีกครั้ง พรรคเพื่อไทยเคารพผลการตัดสินใจของประชาชน ไม่ว่าผลจะออกมาแบบไหน และยึดตามหลักการ ซึ่งพรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 ต้องได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และไม่เห็นด้วยกับการแย่งชิงในการจัดตั้ง สะท้อนความพยายามอยากอยู่ในอำนาจต่อ

ขณะเดียวกัน นายภูมิธรรมตั้งข้อสังเกตถึงผลนับคะแนนที่ออกมายังมีความคลาดเคลื่อน และ กกต.ยังไม่เปิดเผยผลนับคะแนน สะท้อนให้เห็นถึง 'ความไม่ปกติ' และประเด็นปัญหาเหล่านี้ต้องมีการตรวจสอบ เช่น กรณีซื้อเสียง หรือการใช้กลไกของรัฐต่างๆ

เมื่อถามว่าได้พูดคุยกับพรรคอนาคตใหม่ในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายภูมิธรรมย้ำว่ายังต้องรอความชัดเจนผลการนับคะแนน และมองว่าหากมีการพูดคุยกับพรรคอื่นถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร

พลังประชารัฐแถลงขอบคุณประชาชนหลังผลนับคะแนน 90 เปอร์เซ็นต์นำ

พปชร.ยกหูคุย 'ประยุทธ์' มั่นใจได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงข่าวเมื่อเวลา 23.15 น. หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงผลนับคะแนนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์อย่างไม่เป็นทางการ และพรรค พปชร.มีคะแนนนำพรรคอื่นๆ โดยนายอุตตมกล่าวว่า ผู้ร่วมอุดมการณ์ทุกคนขอขอบคุณคนไทยทุกคนที่ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียง และให้ความไว้วางใจกับพรรคพลังประชารัฐ ถือว่าเป็นกำลังใจอย่างมาก ให้ทุกคนเดินหน้าทำงานรับใช้ประเทศ

นอกจากนี้ ได้มีการโทรไปแสดงความยินดีกับพรรคการเมืองต่างๆ แต่ขอสงวนชื่อไว้ก่อนว่าเป็นพรรคการเมืองใดบ้าง เนื่องจากจะต้องมีการหารือกันในพรรคหลังรับทราบผลคะแนนอย่างเป็นทางการของ กกต.แล้ว ทั้งยังได้โทรไปพูดคุยสั้นๆ กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั้นๆ โดยมั่นใจว่าจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน และไม่หวั่นใจกรณีที่มีข้อร้องเรียนผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นจำนวนมาก เพราะเป็นเรื่องปกติ ผู้ร้องเรียนสามารถทำได้ตามสิทธิและกฎหมาย

เลือกตั้ง62.jpg

พปชร. กวาดที่นั่งใน กทม. แต่พบ 'บัตรเกินจำนวนคน' ที่หลักสี่

เมื่อเวลา 01.30 น.วันที่ 25 มีนาคม ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้สื่อข่าวรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการของหน่วยเลือกตั้งทั้ง 30 เขตของ กทม. ภายหลังปิดหีบเลือกตั้ง ซึ่งมีการนับคะแนนไปแล้ว 99 เปอร์เซ็นต์ พบว่า พรรคพลังประชารัฐคว้าเก้าอี้ ส.ส.ใน กทม.ได้มากที่สุด 11 ที่นั่ง ตามด้วยพรรค ‘อนาคตใหม่-เพื่อไทย’ได้พรรคละ 9 ที่นั่ง 

อย่างไรก็ตาม เขตเลือกตั้งที่​ 9 เขต​หลักสี่​ เขตจตุจักร (ยกเว้นแขวงจตุจักรและแขวงจอมพล)​ พบปัญหาในการนับคะแนน เพราะจำนวนผู้มาใช้สิทธิมีน้อยกว่าบัตรลงคะแนนที่นับได้ จึงยังไม่สามารถรวบรวมคะแนนได้

กกตโป๊ะแตก.jpg

ผู้ใช้ทวิตเตอร์คาใจ ติดแฮชแท็ก #กกตโป๊ะแตก และ #โกงเลือกตั้ง62

เมื่อเวลาประมาณ 08.30 น. ช่วงเช้าวันที่ 25 มี.ค. 2562 ผู้ใช้ทวิตเตอร์นับแสนรายทวีตข่าวและข้อความวิพากษ์วิจารณ์การเลือกตั้งใหญ่ที่จัดขึ้นทั่วประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 มี.ค. หลังผลการนับคะแนนในบางเขต พบบัตรเกินจำนวนผู้ไปใช้สิทธิ ทั้งยังพบปัญหาบัตรที่ลงคะแนนนอกราชอาณาจักรส่งไม่ถึงหน่วยนับคะแนนทันเวลา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาจพิจารณาเป็นบัตรเสีย

ผู้ที่ไม่พอใจกรณีที่เกิดขึ้นตั้งข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใสในการทำงานของ กกต. โดยเฉพาะเรื่องจำนวนบัตรที่ไม่ตรงกับจำนวนผู้ใช้สิทธิ หลังจากนั้นจึงมีการร่วมกันติดแฮชแท็กในทวิตเตอร์ จนกลายเป็นเทรนด์ยอดนิยมอันดับต้นๆ โดย อันดับ 1 ได้แก่ #กกตโป๊ะแตก อันดับ 2 #KillThisLove เป็นแฮชแท็กเกี่ยวกับเพลงใหม่ของวงเกิร์ลกรุ๊ปยอดนิยมจากเกาหลีใต้ BLACKPINK และอันดับ 3 #โกงเลือกตั้ง62

AFP-หน้าหนึ่งคมชัดลึกดันบิ๊กตู่เป็นนายกฯ ท่าทีสื่อชูประยุทธ์หลังเลือกตั้ง 24 มี.ค.jpg

กกต.เลื่อนแถลงผล-ประชาชนรณรงค์ผ่าน change.org จี้ถอดถอน กกต.

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กกต.ประกาศเลื่อนการรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ จากเวลาเดิม 21.30 น. วันที่ 24 มี.ค. เป็นเวลาประมาณ 14.00 น. วันที่ 25 มี.ค. โดยที่ไม่ได้อธิบายเหตุผลเพิ่มเติมว่าเพราะเหตุใดจึงไม่สามารถประกาศผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการได้ตามเวลาที่กำหนด

นอกจากนี้ยังความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมจากประชาชนที่ไม่พอใจการทำงานของ กกต. มีการรณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อถอดถอน กกต.ผ่านเว็บไซต์ change.org โดยผู้เริ่มการรณรงค์ใช้ชื่อว่า We love Thailand เพื่อขอความร่วมมือจาก "คนไทยทุกคน และผู้มีอำนาจตัดสินใจอื่นอีก 1 คน ขออำนาจพลังประชาชนร่วมกันลงชื่อสนับสนุนแคมเปญล่ารายชื่อถอดถอนกรรมการการเลือกตั้งที่ทุจริตเเละมีมลทินที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย" 

แคมเปญรณรงค์นี้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่มีการจัดเลือกตั้งล่วงหน้าทั่วประเทศเมื่อ 17 มี.ค. และมีผู้ร่วมลงชื่อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากหลังจากวันที่ 24 มี.ค. โดยผลสำรวจล่าสุดเมื่อเวลา 09.35 น. วันที่ 25 มี.ค. มีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 193,973 คน 


'เพื่อไทย' ได้ ส.ส.เขตมากสุด 135 ที่นั่ง ตามด้วย พปชร. 119 ที่นั่ง

เวลา 16.00 น. วันที่ 25 มี.ค. เว็บไซต์ของ กกต.ได้เผยแพร่รายชื่อผู้ได้คะแนนสูงสุดรายจังหวัด/เขต (อย่างไม่เป็นทางการ) เป็นเอกสารประกอบการแถลงข่าว ในรูปแบบ .pdf เลขที่ 37/2562 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2562 โดยยังไม่เปิดเผยว่าแต่ละพรรคการเมืองได้คะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขตเป็นจำนวนเท่าใด และใครเป็นผู้ได้คะแนนสูงสุด

ทั้งนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ระบุว่า คะแนนที่เปิดเผยได้คิดเป็น 94 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดเท่านั้น เพราะกฎหมายเลือกตั้งระบุว่า กกต.จะรายงานผลแบบไม่เป็นทางการได้ไม่เกิน 95 เปอร์เซ็นต์ และสำนักงานกลาง กกต.ยังต้องรอผลคะแนนจาก กกต.จังหวัด ซึ่งจะทยอยส่งเข้ามาภายในวันที่ 29 มี.ค. จากนั้นจึงจะประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ไม่เกินวันที่ 9 พ.ค.2562

vote62-ผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ 25 มี.ค.2562.JPG
  • ข้อมูลจากเว็บไซต์ vote62

ด้วยเหตุนี้ เว็บไซต์ vote62.com จึงนำข้อมูลดิบของ กกต.ซึ่งได้รับจากการลงนามความร่วมมือกันมาประเมินผล และเผยแพร่ภาพรวมผลการเลือกตั้งครั้งนี้ในรูปแบบกราฟิก ทั้งยังจัดแบ่งหมวดหมู่ผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งในแต่ละพรรค พบว่า พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตมากที่สุด 135 ที่นั่ง จากจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตทั้งหมด 350 ที่นั่ง โดยมีคะแนนนิยม หรือป๊อปปูลาร์โหวต รวม 7,423,361 ล้านคะแนน ซึ่งเป็นการนับรวมคะแนนที่พรรคเพื่อไทยได้จากการส่ง ส.ส.ลงสมัคร 250 เขตทั่วประเทศ

อันดับ 2 พรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส.เขต 119 ที่นั่ง แต่มีคะแนนนิยมทั่วประเทศมากที่สุด 7,939,937 คะแนน จากการส่ง ส.ส.ลงสมัครเลือกตั้ง 350 เขตทั่วประเทศ ส่วน อันดับ 3 คือ พรรคอนาคตใหม่ 88 ที่นั่ง คะแนนนิิยมรวม 5,871,137 คะแนน อันดับ 4 พรรคประชาธิปัตย์ 55 ที่นั่ง คะแนนรวม 3,704,854 คะแนน อันดับ 5 พรรคภูมิใจไทย 52 ที่นั่ง คะแนนรวม 3,512,446 คะแนน

ส่วนอันดับ 6-15 เป็นของพรรคอื่นๆ ประกอบด้วย พรรคเสรีรวมไทย 11 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 11 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ 6 ที่นั่ง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 ที่นั่ง พรรคเพื่อชาติ 5 ที่นั่ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนา 3 ที่นั่ง พรรคพลังท้องถิ่นไท 2 ที่นั่ง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 1 ที่นั่ง และพรรคพลังปวงชนไทย 1 ที่นั่ง

napakorn-เพื่อไทยแถลงหลังนับคะแนนเลือกตั้ง-สุดารัตน์-แกนนำเพื่อไทย.jpg

พรรคปีกประชาธิปไตยประกาศเดินหน้าตั้งรัฐบาล

ภายหลังจาก กกต.แถลงผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ แกนนำพรรคเพื่อไทยแถลงข่าวในฐานะพรรคการเมืองที่มี ส.ส.เขตมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค กล่าวขอบคุณประชาชนที่ลงคะแนนให้เพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 แม้ว่าจะส่งผู้สมัครลงเพียง 250 เขต และย้ำว่าพรรคเพื่อไทยจะมุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและยึดมั่นคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน 

นอกจากนี้ แกนนำพรรคเพื่อไทยยังประกาศด้วยว่าจะเดินหน้ารวบรวมเสียงจากพรรคอื่นๆ ที่ประกาศจุดยืนเป็นประชาธิปไตย ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร และย้ำว่า "ไม่ต้องกังวลเรื่องการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ" เพราะการพูดคุยกับพรรคอื่นๆ ที่จะมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล จะยึดผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นที่ตั้ง เพื่อเริ่มต้นสู่ประชาธิปไตยแบบสากล 

AFP-อนาคตใหม่แถลงจุดยืนการเมือง 4 ข้อที่ทำการพรรคหลัง กกต.ประกาศผลเลือกตั้ง.jpg

ต่อมา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวพร้อมนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคและกรรมการบริหารพรรค หลังทราบผลการนับคะแนนของ กกต. โดยนายธนาธรกล่าวขอบคุณทุกคนที่ศรัทธากับพรรค ทำให้พรรคการเมืองที่ก่อตั้งในเวลา 1 ปีที่ผ่านมาสามารถจบการเลือกตั้งได้เป็นลำดับที่ 3 และคาดว่าพรรคน่าจะได้ ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อเกิน 80 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม พรรคอนาคตใหม่จะไม่เสนอชื่อ 'ธนาธร' เป็นนายกฯ เพราะเชื่อว่า วินาทีนี้สังคมไทยต้องการยึดหลักการ และพรรคที่มีคะแนนเสียงลำดับที่ 1 ต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และนายกฯ ต้องมาจากรายชื่อของพรรคที่มีคะแนนสูงสุด และได้หารือกับพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 แล้ว

ส่วนนายปิยบุตรแถลงเงื่อนไขสำห��ับการร่วมจัดตั้งรัฐบาลของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งจะต้องผลักดันให้ทำบันทึกความเข้าใจร่วม (เอ็มโอยู) ใน 3 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเพิ่มเติมหมวดบัญญัติหมวดใหม่ ให้ตั้งร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน และจบที่การออกเสียงประชามติรับรอง เพื่อให้ รธน. ฉบับใหม่เป็นฉบับประชาชน เพื่อรื้อฟื้นจิตวิญญาณ รธน. 2540 สอง แก้ไขมรดกบาป คสช. ด้วยการปลดล็อก ม.279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายที่ให้การคุ้มกันอำนาจหัวหน้า คสช.ไปตลอดกาล และ สาม จะต้องปฏิรูปกองทัพให้สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตย


ภูมิใจไทย 'งดออกความเห็น' จนกว่า กกต.จะรับรองผลเลือกตั้งเป็นทางการ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวขอบคุณประชาชนที่ออกมาลงคะแนนให้กับพรรค พร้อมกับย้ำว่า "นโยบายที่เราพูดไว้กับประชาชนจะต้องได้รับการปฏิบัติให้เกิดผล เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน"

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ได้โพสต์ข้อความว่า อดทนรอให้เวลา กกต.ทำงาน พร้อมโพสต์ภาพที่มีข้อความว่า "พรรคภูมิใจไทย" จะไม่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล จนกว่า กกต.จะประกาศผลอย่างเป็นทางการ  

พลังประชารัฐ พปชร.แถลงข่าวพร้อมตั้งรัฐบาล อ้างได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตเยอะสุด

'พลังประชารัฐ' อ้างคะแนนนิยม 7.9 ล้านเสียง ประกาศพร้อมนำตั้งรัฐบาล

เมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงข่าวหลังสิ้นสุดการประชุมกรรมการบริหารพรรค โดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค กล่าวขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนและกำลังใจ พร้อมย้ำว่าพรรคจะทำตามที่เคยสัญญาไว้ และยืนยันตามแนวทางที่เคยประกาศว่าพรรคใดรวบรวมเสียงข้างมากได้ก็จะดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งพรรค พปชร.ได้คะแนนดิบหรือคะแนนนิยมมากที่สุดกว่า 7.9 ล้านคะแนน หลังจากนี้ก็จะไปพูดคุยกับพรรคอื่นๆ ที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งและมีแนวทางการบริหารประเทศไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด 

ส่วนนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค อ้างอิง 'เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560' ที่กำหนดให้นับคะแนนนิยมของประชาชนทั่วประเทศ ต่างจากในอดีตที่ให้ผู้ชนะเขตเท่านั้นเข้าไปเป็นตัวแทนในสภา โดยนายสนธิรัตน์ย้ำว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มองข้ามเสียงใดเสียงหนึ่งของประชาชน และพรรคเองก็ได้รับคะแนนนิยมรวมทั่วประเทศมากที่สุด จึงมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ ส.ว.250 รายที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร ซึ่งพรรค พปชร.ประกาศสนับสนุน มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องจากประชาชนให้ ส.ว.เคารพมติประชาชน เพราะเกรงว่า ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจในรัฐบาลทหารจะตัดสินใจเลือกนายกฯ ที่ค้านกับเสียงของประชาชน แต่นายสนธิรัตน์ระบุว่า พรรคจะไม่ไปก้าวล่วง ส.ว. เพราะ ส.ว.คือสถาบันที่ไว้วางใจ และเชื่อมั่นว่า ส.ว.ก็เป็นห่วงบ้านเมืองเช่นกัน จึงเป็นเอกสิทธิ์ในการพิจารณา ส่วนจะมีพรรคการเมืองใดพูดคุยกับ พปชร.หรือมีการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีหรือไม่นั้น นายอุตตมกล่าวว่า ไม่ขอเปิดเผย เพราะยังอยู่ในกระบวนการการพูดคุย 

ทักษิณ01.jpg

'ทักษิณ' ชี้ ไทยกำลังสูญเสีย เพราะทหารหวังเพียงสืบอำนาจ

อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เผยแพร่บทความ The Election in Thailand Was Rigged ผ่านเว็บไซต์เดอะนิวยอร์กไทม์ส สื่อเก่าแก่ของสหรัฐฯ วิพากษ์การเลือกตั้งทั่วประเทศไทยในครั้งนี้ โดยระบุว่า รัฐบาลทหารไทยกำลังทำลายระบบทั้งหมดเพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจต่อไป พร้อมย้ำว่าการเลือกในไทยครั้งนี้อาจจะ 'ถูกโกง'

บทความของอดีตนายกฯ ทักษิณกล่าวพาดพิงกรณี กกต.หยุดการนับคะแนนช่วงค่ำวันอาทิตย์ 24 มี.ค. และขอเลื่อนการประกาศผลนับคะแนน (อย่างไม่เป็นทางการ) ออกไปเป็นช่วงบ่ายวันจันทร์ 25 มี.ค. พร้อมชี้ให้เห็นว่ากระบวนการนับคะแนนมีปัญหาหลายประการ เช่น ในบางเขตบัตรเลือกตั้งมีจำนวนมากว่าผู้มาใช้สิทธิ ขณะที่บางเขต ผู้มาใช้สิทธิมีจำนวนสูงถึง 200 เปอร์เซ็นต์ และอีกบางเขต กกต.ประกาศผลไม่ตรงกับที่นับคะแนนกันที่หน่วยเลือกตั้ง และบัตรเสียมีจำนวนมากจนน่าสงสัย ส่วนบางกรณีบัตรเลือกตั้งกาเครื่องหมายผิดช่อง แต่ก็ยังถูกนับรวมเป็นคะแนนให้พรรค พปชร.ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลทหาร

ทักษิณระบุว่า กกต.มีอำนาจในการลงโทษหรือให้ใบแดงแก่ผู้สมัครที่กระทำผิดกฎการเลือกตั้งครั้งนี้ และ กกต.ควรจะให้ใบแดงตัวเองด้วย แม้ว่าข้อผิดพลาดเกี่ยวกับการเลือกตั้งบางประเด็นจะถูกแก้ไขแล้ว แต่การทำงานของรัฐบาลทหารเป็นอย่างไรก็เป็นที่รู้กันอยู่ จะไม่ให้สงสัยว่าไม่มีการแทรกแซงเกิดขึ้นเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ 

สิ่งที่ต้องการพูดถึงจึงไม่ใช่เรื่องพรรคไหนชนะหรือแพ้เลือกตั้ง แต่ต้องพูดว่าประเทศไทยกำลังสูญเสีย เพราะคนในรัฐบาลอยู่ในตำแหน่งแล้วก็ไป ขณะที่ระบบต่างๆ ยังคงอยู่ แต่รัฐบาลทหารชุดนี้พยายามทำลายระบบทุกอย่างทิ้งเพียงเพื่อให้คนของตัวเองได้อยู่ในอำนาจต่อไป แต่เมื่อกฎกติกาและผู้ทำหน้าที่ตัดสินไม่มีความเป็นธรรม ผลที่ออกมาก็จะไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ว่าจะจากคนไทยด้วยกันเองหรือประชาคมโลก

การบินไทย.jpg

การบินไทยแถลง 'บัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์' ตกค้างเพราะไม่มีใครมารับ

ช่วงค่ำวันที่ 25 มี.ค. นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การบินไทยได้ขนส่งถุงพัสดุที่บรรจุบัตรเลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในประเทศนิวซีแลนด์ถึงประเทศไทยได้ทันกำหนดเวลา โดยการบินไทยได้รับถุงพัสดุดังกล่าวจากสายการบินแอร์นิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. และดำเนินการขนส่งมาทางคาร์โกในเที่ยวบินที่ TG492 ของวันที่ 23 มี.ค. จากเมืองโอ๊คแลนด์ นิวซีแลนด์ และถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันเดียวกัน เวลา 20.50 น. 

เจ้าหน้าที่คลังสินค้าการบินไทยได้โทรศัพท์แจ้งผู้ประสานงานของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เวลา 17.00 น. ก่อนเครื่องบินลงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้มารับถุงพัสดุได้ในวันที่ 23 มี.ค. ระหว่างเวลา 22.00 น. - 22.30 น. แต่ทาง กต. มารับถุงพัสดุจากคลังสินค้าการบินไทยในวันที่ 24 มีนาคม 2562 เวลา 19.30 น. 

การบินไทยยืนยันว่า การขนส่งบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรครั้งนี้เป็นไปตามขั้นตอนเดิมที่เคยปฏิบัติมาตลอด คือบริษัทฯ จะไม่นำบัตรเลือกตั้งไปส่งยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่จะมีผู้ประสานงานจากกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) มารับที่คลังสินค้าการบินไทย

อย่างไรก็ตาม กต.แถลงเพิ่มเติมว่า เสียใจที่บัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์มาถึงล่าช้า แต่ยืนยันว่าทำอย่างเต็มที่แล้ว เนื่องจากหารือกับทาง กกต.และไปรษณีย์ไทย ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการขนส่งและกระจายบัตรเลือกตั้ง และทั้งสามฝ่ายลงมติร่วมกันว่าไม่สามารถคัดแยกและกระจายบัตรเลือกตั้งไปยังจุดต่างๆ ได้ทันเวลา จึงเห็นพ้องร่วมกันว่าเก็บบัตรเลือกตั้งไว้ที่คลังสินค้าการบินไทยจะปลอดภัยว่า จากนั้นทาง กต. จึงส่งเจ้าหน้าที่ไปรับบัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์หลังจากที่ กกต.เริ่มนับคะแนนไปแล้วในวันที่ 24 มี.ค.

เลือกตั้ง-หน่วยเลือกตั้ง-หีบเลือกตั้ง

ชาวเน็ตร้อยละ 88 โหวตผ่าน 'วอยซ์ออนไลน์' ไม่พอใจการทำงานของ กกต. 

นับตั้งแต่ปิดคูหาเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อ 24 มี.ค. เฟซบุ๊กเพจ 'วอยซ์ออนไลน์' ได้จัดทำโพลให้ผู้ชมโหวตความพึงพอใจที่มีต่อการจัดการเลือกตั้งของ กกต. ทั้งในภาพรวมและในหน่วยเลือกตั้งของตน ตั้งแต่เวลา 17.30 น. วันที่ 24 มี.ค. จนถึงช่วงเย็นวันที่ 17.00 น.วันที่ 25 มี.ค. 2562 มีผู้ร่วมโหวตเข้ามากว่า 21,400 คะแนน 

ผลรวบรวมคะแนนปรากฏว่า มีผู้พึงพอใจกับการทำงานของ กกต. 12 เปอร์เซ็นต์ และไม่พอใจกับการทำงานของ กกต. 88 เปอร์เซ็นต์ และมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากกว่า 240 คอมเมนต์ โดยมีผู้ระบุว่า ไม่พอใจการเตรียมการเลือกตั้งของ กกต. ทั้งในเรื่องของอุปกรณ์ หีบบัตรเลือกตั้งที่แต่ละเขตไม่เหมือนกัน บางเขตเป็นกล่องพลาสติกใส บางเขตเป็นหีบเหล็กสีเขียว ขณะที่การจัดคูหาเลือกตั้งบางจุด จัดให้ลงคะแนนในพื้นที่เปิดโล่ง ทำให้ผู้สัญจรไปมาสามารถเห็นความเคลื่อนไหวของผู้ลงคะแนนจากทางด้านหลังได้

ขณะที่ความคิดเห็นอีกส่วนหนึ่ง ไม่พอใจเรื่องความโปร่งใส ทั้งการตั้งเบิกงบ การงดการปั๊มลายนิ้วมือบนบัตร ตลอดจนการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่คูหา และหลายความเห็นวิจารณ์ไปในทิศทางเดียวกันด้วยว่า รู้สึกว่าการจัดเลือกตั้งของ กกต. ไม่คุ้มกับงบประมาณที่ได้รับ ส่วนผู้ที่แสดงความคิดเห็นแง่บวก ระบุว่า ไม่ทราบว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในเขตอื่นเป็นอย่างไร แต่พึงพอใจการให้บริการของคณะกรรมการประจำคูหาในเขตเลือกตั้งของตนเอง ที่ให้คำแนะนำ และอำนวยความสะดวกในการลงคะแนน

ส่วนความคืบหน้าการลงชื่อเรียกร้องให้ถอดถอน กกต.ของประชาชนในเว็บไซต์ change.org มีผู้ลงชื่อสนับสนุนเพิ่มจาก 1.9 แสนเป็นกว่า 709,835 รายเมื่อเวลา 13.50 น. วันที่ 26 มี.ค.2562

FCCT-Chandanie Watawala-ANFREL-จันดานี วาตาวาลา-อันเฟรล-องค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้ง-เครือข่ายเพื่อการเลือกตั้งเสรี

องค์กรสังเกตการณ์ฯ ชี้ 'เลือกตั้งไทยห่างไกลมาตรฐานสากล'

จันดานี วาตาวาลา รักษาการผู้อำนวยการเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (อันเฟรล) ซึ่งเป็นองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งระหว่างประเทศ แถลงรายงานเบื้องต้น สรุปผลการสังเกตการณ์เลืิอกตั้งทั่วไปของไทยในวันที่ 26 มี.ค. พร้อมด้วย 'โรฮานา เฮทเทียราชชี' เลขาธิการองค์กร และอาเมล เวียร์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำโครงการสังเกตการณ์ ระบุว่าภาพรวมการเลือกตั้งไทยเมื่อวันที่ 24 มี.ค. เป็นไปอย่างราบรื่น ค่อนข้างเป็นระเบียบ แต่การบริหารจัดการมีปัญหา การนับและรวมคะแนนล่าช้า มีความคลาดเคลื่อนของตัวเลข

อันเฟรลระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นความผิดพลาดและบกพร่องเกี่ยวกับกระบวนการนับคะแนนของ กกต. ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาเชิงเทคนิค รวมทั้งบัตรเสียจำนวนมาก กระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อผลการเลือกตั้ง ส่วนการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร มีผู้ใช้สิทธิจำนวนมาก จึงเสนอว่าควรจัดให้มีการเลือกตั้ง 2 วัน และ กกต. ควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์ รวมถึงเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งตลอดทั้งกระบวนการให้มากกว่านี้

ขณะที่เลขาธิการเครือข่ายระบุว่า ไทยอยู่ในสภาพสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย กระบวนการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และคนในประเทศไม่เชื่อมั่นระบบ มีความผิดพลาดปรากฏตามสื่อต่างๆ มากมาย สะท้อนถึงความจำเป็นที่ต้องให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล โดย กกต.ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเลือกตั้งสู่สาธารณะ นอกจากนี้ กฎหมายไทยออกแบบให้มี ส.ว. 250 คนจากการแต่งตั้งและมีอำนาจมาก แสดงถึงกติกาที่ไม่ได้ทำให้คนสามารถเลือกผู้แทนตามต้องการได้ 100 เปอร์เซ็นต์

(สิ้นสุดการอัปเดตข้อมูลเมื่อเวลา 14.37 น. วันที่ 26 มี.ค.2562)