นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ตนได้หารือกับนายกิตติ ประทีปนาฏศิริ ผู้อำนวยการโครงการ Thai Silk Road to the World พร้อมกับคณะทูตและผู้แทนสถานกงสุล 13 ประเทศ เพื่อร่วมกันผลักดันผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก ถือเป็นการใช้ Soft power ส่งเสริมเศรษฐกิจไทย โดยเตรียมจัดงานมหกรรมผ้าไหมไทยสู่เส้นทางโลก การเดินแฟชั่นผ้าไหมระดับโลก การประกวดชุดผ้าไหมและลายผ้าไหมร่วมสมัยทั้งในประเทศและนานาชาติในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งทางคณะผู้จัดงานจะเข้าพบนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์ เพื่อพูดคุยถึงแนวทางการสนับสนุนของรัฐบาล ร่วมกับสมาคมส่งเสริมผ้าไหมและวัฒนธรรมไทย คณะทูตต่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนอีกหลายแห่ง
ขณะนี้ผ้าไหมไทยเริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดโลก ทั้งในกลุ่มดีไซเนอร์ชั้นนำและประชาชนทั่วไป เราจะใช้ "การทูตผ้าไหมไทย" เป็นตัวเชื่อมการค้า การท่องเที่ยว วัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เอกอัครราชทูตหลายประเทศนิยมสวมใส่ชุดผ้าไหมไทยที่มีการออกแบบและถักทอที่เป็นเอกลักษณ์ และต้องการให้ช่างทอผ้าของประเทศตนกับไทยร่วมผสมผสานเส้นใยหรือวัตถุดิบระหว่างกันเพื่อสร้างมิติใหม่ของผืนผ้า ที่น่าสนใจคือเมื่อเดือน มิ.ย.2566 ทางสมาคมส่งเสริมผ้าไหมฯ ได้ประสานการออกแบบและผลิตเสื้อผ้าไหมไทย ด้วยผ้าจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จำนวน 2 ชุด เพื่อมอบให้แก่นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่ชื่นชอบชุดผ้าไหมไทยเป็นพิเศษ เพื่อโปรโมทผ้าไหมไทยทางหนึ่ง ส่วนภายในประเทศนั้นเราได้ส่งเสริมการศึกษาด้านการออกแบบและตัดเย็บผ้าไหมไทยในวิทยาลัยอาชีวศึกษาหลายแห่ง และยังสนับสนุนอาชีพที่เกี่ยวกับไหมไทย เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืนอีกด้วย
"รัฐบาลต้องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ขนานใหญ่จากการค้าการลงทุน และการส่งออก โดยข้อมูลปีที่ผ่านมาเราส่งออกไหม ทั้งรังไหม ไหมดิบ เศษไหม และด้ายไหมมากกว่า 224 ตัน มูลค่ากว่า 184 ล้านบาท ตลาดหลักคือญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน ฝรั่งเศส และตุรกี ส่วนไหมผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าประมาณ 138 ล้านบาท ตลาดสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง โดยเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผ้าไทยติดตลาดและสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศให้มากที่สุด" นางนลินี กล่าว