ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์ทนายฯ เผยสถิติผู้ถูกดำเนินคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” หรือ ม.112 ตั้งแต่ 24 พ.ย. 63 – 19 ต.ค. 64 มีจำนวนทั้งสิ้น 151 คน ใน 156 คดี เป็นเยาวชน 12 คน - ผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 20 คนถูกแจ้งความไกลถึงสุไหงโก-ลก

หลังจากเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 63 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศถึงสถานการณ์ทางการเมือง ว่าจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราที่มีอยู่ต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดำเนินคดีต่างๆ ให้เป็นไปตาม “กระบวนการยุติธรรมของประเทศ” ต่อมาก็ได้ปรากฏรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะเริ่มกลับมาบังคับใช้ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกครั้ง หลังจากมีการเปลี่ยนแนวทางการบังคับใช้มาตั้งแต่ช่วงปี 2561 เป็นต้นมา


ตั้งแต่ 24 พ.ย. 63-19 ต.ค. 64 มีผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 อย่างน้อย 151 คน เยาวชน 12 คน

ล่าสุดศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า นับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 63 จนถึง 19 ต.ค. 64 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 151 คน ใน 156 คดี (นับคดีที่มีผู้ได้รับหมายเรียก แต่ยังไม่ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาด้วย)

  • ในจำนวนคดีทั้งหมด แยกเป็นคดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 77 คดี คดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 10 คดี คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 5 คดี ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา
  • พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาแยกเป็นคดีที่เกี่ยวกับการปราศรัยในการชุมนุมจำนวน 34 คดี, คดีการแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย เช่น การติดป้าย, พิมพ์หนังสือ, แปะสติ๊กเกอร์ เป็นต้น จำนวน 37 คดี, คดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 72 คดี และยังไม่ทราบสาเหตุ 13 คดี
  • ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเยาวชน อายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 12 ราย
  • ศาลมีการออกหมายจับ อย่างน้อย 36 หมายจับ (กรณี “เดฟ ชยพล” นักศึกษามธ. ถูกศาลจังหวัดธัญบุรีออกหมายจับ แต่ต่อมาตำรวจไปขอยกเลิกหมายจับ และไม่ได้ดำเนินคดี) และยังมีการจับตามหมายจับเก่าตั้งแต่ช่วงปี 2559 อย่างน้อย 2 หมายจับ
  • คดีที่อยู่ในชั้นศาลแล้ว จำนวน 52 คดี

แกนนำการชุมนุมถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนทั้งหมด ดังนี้

  • พริษฐ์ ชิวารักษ์ 21 คดี
  • อานนท์ นำภา 14 คดี
  • ภาณุพงศ์ จาดนอก 9 คดี
  • ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 8 คดี
  • เบนจา อะปัญ 6 คดี
  • ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 4 คดี
  • พรหมศร วีระธรรมจารี 4 คดี
  • ชินวัตร จันทร์กระจ่าง 4 คดี
  • ชูเกียรติ แสงวงค์ 4 คดี
  • วรรณวลี ธรรมสัตยา 4 คดี
  • ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี


ข้อมูลศูนย์ทนาย
  • สถิติผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 ตั้งแต่ 24 พ.ย. 63 – 19 ต.ค. 64/ขอบคุณข้อมูลจากศูนย์ทนายฯ


ผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 20 คน ถูกแจ้งความไกลถึงสุไหงโก-ลก

ศูนย์ทนายฯ รายงานเพิ่มเติมว่า ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในกรณีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 20 คน ถูกแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส อย่างเช่น กรณีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 นางสาวกัลยา (นามสมมติ) อายุ 27 ปี พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ที่นายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีต่อกัลยา เหตุจากการโพสต์ แชร์ และคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก 4 ข้อความ พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ โดยมีข้อความวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของกษัตริย์ต่อการชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งข้อความที่โพสต์ใต้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “ธนวัฒน์ วงค์ไชย – Tanawat Wongchai” ว่า “แน่จริงยกเลิกม.112#แล้วจะเล่าให้ฟัง!!!” 

ศูนย์ทนายฯ รายงานต่อว่า หลังกัลยาได้รับการประกันตัว เขาเปิดเผยว่ารู้สึกกังวลและลำบากใจเป็นอย่างมากที่จะต้องเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาไกลถึง จ.นราธิวาส เพราะปัจจุบันกัลยาอาศัยอยู่ที่ จ.นนทบุรี โดยได้กล่าวอีกว่าตนได้โดยสารเครื่องบินมาถึง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในช่วงเย็นของเมื่อวาน และได้ขับรถเพื่อเดินทางไป สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ตั้งแต่เช้ามืด เวลาประมาณ 04.00 น. ของวันนี้ ก่อนจะถึงที่หมายในเวลา 08.00 น. 

“การเดินทางมารับทราบข้อกล่าวในครั้งนี้ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากถึง 15,000 บาท อีกทั้งยังรู้สึกกลัวว่าการเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้จะกระทบต่อการทำงานในปัจจุบันที่ จ.นนทบุรีอีกด้วย” กัลยากล่าว

อ่านรายละเอียดคดีเต็มต่อได้ที่นี่: https://tlhr2014.com/archives/36708