ไม่พบผลการค้นหา
จาตุรนต์ ฉายแสง วิจารณ์มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ “ชิม ช็อป ใช้” เสียหายมากกว่าที่คิดกัน เชื่อรัฐยังไม่ได้คิดระบบดูแลคนจนระยะยาว

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) แสดงความคิดเห็นในประเด็นมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ของรัฐบาล ผ่านเฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang ระบุ ดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากเอกสารกระทรวงการคลังแล้วพบว่ามาตรการแจกคนไปเที่ยวคนละ 1,000 บาทนั้น ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่กำหนดว่าหากผู้ลงทะเบียนเติมเงินเพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พักหรือค่าสินค้าท้องถิ่น จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ รัฐบาลจะสนับสนุนวงเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 15 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน) โดยมีเงื่อนไขต้องใช้ app เป๋าตัง และ ถุงเงิน แสดงว่ามาตรการนี้จะใช้เงินงบประมาณมากกว่าที่เข้าใจกัน ซึ่งก็คือจะเสียหายมากกว่าที่คิดกันและโดยเฉพาะในส่วนหลังผู้ได้ประโยชน์น่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เสียมากกว่า

"ส่วนมาตรการแจกเงินที่คนแห่ไปเบิกเงินกันจนธนบัตรไม่พอนั้น เป็นมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ 3 มาตรการซึ่งทำเป็นระยะเวลา 2 เดือน เข้าใจว่าคงต้องการแสดงให้เห็นว่าหาเสียงไว้ก็ทำจริง แต่ผลจะเป็นอย่างไร เมื่อพ้น 2 เดือนแล้วจะทำอย่างไร ระบบระยะยาวที่จะดูแลคนจนควรเป็นอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้คนเป็นสิบล้านไม่ “อยากจน”และช่วยตัวเองได้มากขึ้น ล้วนเป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้น่าจะยังไม่ได้คิดครับ" 

ทั้งนี้นโยบายแจกเงินเที่ยว เป็นส่วนหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ รวมใช้เม็ดเงิน 316,000 ล้านบาท ในส่วนนี้เป็นสินเชื่อจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 200,000 ล้านบาท ส่วนอีก 100,000 ล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นเงินงบประมาณที่จัดสรรไว้ในกองทุนต่างๆ แล้ว และอีกครึ่งหนึ่งหรือ 50,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณใหม่ ตั้งเป้าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ไม่ต่ำกว่า 3% 

แบ่งมาตรการออกเป็น 3 ด้าน คือ

1. มาตรการเพื่อบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกร โดยจัดทำโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/2563 ด้วยการสนับสนุนเงิน 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ ให้เกษตรกรทุกรายที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันมีมาขึ้นทะเบียนแล้ว 2.97 ล้านราย และยังเปิดให้ขึ้นทะเบียนได้เรื่อยๆ

2. มาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ แบ่งออกเป็น มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิม ช้อป ใช้” โดยรัฐจะให้เงิน 1,000 บาทค่อคน นำไปใช้จ่ายท่องเที่ยวในจังหวัดที่ไม่ใช่ถิ่นที่อยู่ตามบัตรประชาชนของตนเอง เริ่มเดือนกันยายน - พฤศจิกายน 2562 เป็นเวลา 3 เดือน รัฐจ่ายเงินให้ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ 

พร้อมกันนี้ รัฐจะมีเงินชดเชยให้อีก 15% จากยอดใช้จ่ายท่องเที่ยวสำหรับค่าอาหารเครื่องดื่มและซื้อสินค้าท้องถิ่น ตลอดจนที่พัก รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท หรือได้รับการชดเชยสูงสุดต่อคนไม่เกิน 4,500 บาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 26 กันยายน - 30 พฤศจิกายน 2562

“กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ได้เสนอให้ยกเว้นการตรวจลงตราหรือวีซ่า สำหรับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดียให้เข้ามาพำนักในไทยได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน เริ่มตุลาคม 2562 ถึงกันยายน 2563 ซึ่งรัฐจะสูญรายได้ทั้งปี 12,133 ล้านบาท รวมทั้งมีมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศให้หักรายจ่ายเพื่อการลงทุนได้ 1.5 เท่าเป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ ครม. เห็นชอบถึง 31 มีนาคม 2563”

3. มาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประกอบด้วย มาตรการพยุงการบริโภค โดยเพิ่มเงิน 500 บาทต่อเดือน เป็นค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นเงินเพิ่มจากที่ผู้ถือบัตรได้รับอยู่แล้วเดือนละ 200-300 บาทต่อ ขณะเดียวกันมาตรการมอบเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 500 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยังให้เงินช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรแก่ผู้ถือบัตรที่ได้รับสิทธิ์ ภายใต้โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ได้รับเงิน 300 บาทต่อเดือน เป็นการจ่ายเพิ่มจากเงินที่ได้รับปกติอยู่แล้ว เป็นเวลา 2 เดือน คือสิงหาคม - กันยายน 2562

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการพักชำระเงินต้นของกองทุนหมู่บ้านที่ติดหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารออมสิน โดยให้พักชำระเงินต้นเป็นเวลา 1 ปี แต่ยังต้องชำระดอกเบี้ยตามปกติ ซึ่งในปัจจุบันนี้กองทุนหมู่บ้านที่เป็นยอดหนี้คงค้างมีจำนวน 50,732 แห่ง ยอดหนี้คงค้างรวม 67,438 ล้านบาท