ไม่พบผลการค้นหา
ปิยบุตร ไลฟ์เฟซบุ๊ก 1 ชม.เต็ม อธิบาย 5 ประเด็นความเห็นต่างในข้อกฎหมาย หลังศาลฎีกาตัดสิทธิตลอดชีวิต ช่อง-พรรณิการ์ ในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ชี้ 'มาตรฐานจริยธรรม' อาวุธหนักเด็ดหัวนักการเมือง เสนอให้แต่ละองค์กรสร้างมาตรฐานจริยธรรมและบทลงโทษของตัวเอง พร้อเสนอ 2 ข้อแก้ไขอาวุธทางการเมืองนี้

22 ก.ย.2556 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ไลฟ์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นทางกฎหมายต่อกรณีที่ศาลฎีกาตัดสินตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ตลอดชีวิต เนื่องจากคำร้องเกี่ยวกับการโพสต์เฟซบุ๊กหลายปีก่อนพาดพิงสถาบัน

การชี้แจงของปิยบุตร สรุปความได้ดังนี้


ประเด็นที่1 มาตรฐานจริยธรรมไม่ควรให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาด

ปกติทุกองค์กรจะมีมาตรฐานทางจริยธรรม หรือ code of conduct ของตนเอง อาจเรียกมาตรฐานจริยธรรมบ้าง ข้อควรปฏิบัติบ้าง คุณค่าหลักที่ต้องยึดถือบ้าง แต่หลักของมันคือ องค์กรใครองค์กรมันกำหนดแนวทางของตัวเอง เพราะไม่มีใครได้รู้ได้ดีที่สุดว่าองค์กรตนเองนั้นควรจะมีมาตรฐานในการปฏิบัติตนกันอย่างไร โดยข้อกำหนดจะมาจากการถกเถียงอภิปรายกันเองในองค์กรนั้นๆ ว่าอย่างไรคือแนวปฏิบัติพื้นฐาน จากนั้นตามมาด้วยมาตรการบังคับและมาตรการลงโทษ โดยคนในองค์กรช่วยกันออกแบบ

ปัญหาความซับซ้อนเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเอาไปโฆษณาชวนเชื่อกันว่า ‘เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง’ เป็นยาแรงสำหรับนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชัน นักการเมืองที่ไม่ดี จึงเป็นที่มาที่ไปว่าการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จำเลยที่ 1 คือ นักการเมือง มีการนำมาตรฐานจริยธรรมมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ เมื่อออกแบบแล้วก็ตั้งโทษสูงๆ มากกว่าปกติ โดยผู้ร่างมาตราฐานจริยธรรมคือ ศาลต่างๆ และองค์กรอิสระ โดยเขียนเพิ่มเติมว่าให้เอามาใช้ สส. สว. ด้วย ดังนั้น  สส.เมื่อเข้าสภาแล้วไม่ได้ออกแบบมาตรฐานจริยธรรมของตัวเอง แต่ต้องหยิบยืมจากที่ศาลและองค์กรอิสระออกแบบ

สำหรับการตรวจสอบจริยธรรม มีการแบ่งไว้ 2 แบบ ถ้าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมแบบทั่วไป องค์กรตัวเองพิจารณาตัดสินกันเอง แต่ถ้าฝ่าฝืนมารตรฐานจริยธรรม ‘อย่างร้ายแรง’ เรื่องจะไปอยู่ในมือ ป.ป.ช.เพื่อเสนอต่อศาลฎีกา เมื่อศาลฎีกาชั้นเดียวพิพากษาจบเลยในชั้นเดียว อุทธรณ์ไม่ได้

ดังนั้น จึงไม่ควรให้ศาลฎีกามายุ่งเพราะ เรื่องจริยธรรม ควรให้แต่ละองค์กรออกแบบกันเอง เพราะศาลเป็นองค์กรตุลาการที่ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทโดยนำกฎหมายมาตัดสิน เช่น ความผิดอาญามีองค์ประกอบทางกฎหมายต่างๆ นำมาพิจารณาตัดสินแล้วก็มีบทลงโทษ เรียกว่าต้องมีข้อพิพาทเป็นประเด็นทางกฎหมายให้พิจารณา แต่เรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องความพอควร ความเหมาะสม ไม่ใช่ประเด็นชี้ขาดทางกฎหมาย และคำว่า ‘จริยธรรม’ ก็กว้างขวางเหลือเกิน หลายเรื่องไม่ใช่ความผิดทางกฎหมายที่จะมีชี้ถูกชี้ผิดโดยองค์กรตุลาการ

รัฐธรรมนูญกำหนดให้องค์กรตุลาการมาชี้ขาด ก็เข้าใจศาลท่าน เชื่อว่าท่านก็คงไม่อยากมาตัดสิน แต่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ นี่จึงเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญที่ผิดฝาผิดตัว เอาเรื่องจริยธรรมไปให้ศาลฎีกาตัดสิน

 
ประเด็นที่ 2 อัตราโทษไม่ได้สัดส่วนกับความผิด

อัตราโทษของการฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงกำหนดไว้ ม.235 วรรคสามและสี่ ฐานที่หนึ่งคือ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป ฐานที่สองคือ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี พูดง่ายๆ ว่าตัดสิทธิ์ได้สองอัน

สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง นั่นคือ การออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง มันจึงเหมือนตัดคนคนหนึ่งออกไปจากการมีส่วนร่วมในเมืองนี้ พูดง่ายๆ ว่าเป็นการตัดสิทธิความเป็นพลเมือง อันนี้ส่อแสดงให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิพื้นฐานพลเมืองอย่างรุนแรง ขัดหลักสากล แต่ก็นำมาใส่ในรัฐธรรมนูญ

ส่วนการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ การประหารชีวิตนักการเมือง ไม่ให้มีชีวิตในทางการเมือง

ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 วางกรอบการตัดสิทธิ 5 ปี  แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้ยาแรงโดนตัดสิทธิ 10 ปี ทั้งยังเปิดช่องให้ศาลใช้ดุลยพินิจว่าจะให้เพิกถอนเท่าไรก็ได้ด้วย เคยมีตุลาการเสียงข้างน้อยตัดสินตนในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ให้ตัดสิทธิตลอดชีวิต หรือมีตุลาการเสียงข้างน้อยเคยตัดสินกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติตลอดชีวิตเช่นกัน แต่แนวพื้นฐานอยู่ที่ 10 ปี

อย่างไรก็ดี สำหรับมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ศาลไม่เหลือดุลพินิจเลย เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดเลยว่า ‘ต้องเพิกถอนตลอดไป’ ต่อให้ศาลอยากตัดสิทธิ์น้อยก็ทำไม่ได้ เรียกว่าเขียนรัฐธรรมนูญได้อุกอาจมาก ผิดหลักสากล


โทษซ้ำซ้อน โดนแล้วโดนอีก

นักการเมืองไทยเมื่อถูกลงโทษในคดีต่างๆ มักจะมี ‘ลูกต่อเนื่อง’ โทษนักการเมืองก็คือ พ้นจากตำแหน่ง นี่ก็ยาแรงแล้ว แต่ก็ยังแถมอีก ถ้าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ม.98 กำหนดลักษณะต้องห้ามของคนลงสมัครรับเลือกตั้งเยอะมาก รวมถึงห้ามคนถูกพิพากษาจำคุกเป็น ส.ส. คนจำนวนมากได้รับโทษจากการกระทำของเขาไปแล้ว แต่เบิ้ลอีกทีคือห้ามลงเล่นการเมืองตลอดชีวต

เช่น ข้าราชการถูกปลดออกเพราะทุจริต นักการเมืองถูกจำคุกมาก่อน รัฐธรรมนูญไปเขียนล็อคห้ามลงสมัรรับเลือกตั้ง การกระทำความผิดหนึ่งครั้งโดนลงโทษสองหน แล้วหนสองนี่ตลอดชีวิตด้วย ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นการกำหนดอัตราโทษไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด แล้วยังโดนลงโทษซ้ำซ้อน

นักการเมืองในประเทศไทยที่ถูกลงโทษแบบนี้มีเยอะมาก น่าจะเกินร้อย ที่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งกรณี 10 ปีและตลอดชีวิต นี่มันประเทศอะไร ทำไมออกแบบรัฐธรรมนูญที่ทำให้คนถูกตัดสิทธิมหาศาล อย่าตอบว่าเพราะนักการเมืองมันเลว มันไม่จริง นักการเมืองมีดีมีเลว องค์กรอื่นก็เช่นกันมีทั้งคนดีคนเลว แต่ประเทศนี้กล่อมเหลาให้นักการเมืองเป็นจำเลยสังคม กดไว้ว่าอย่าซ่ามาก ซ่าเมื่อไหร่โดนอีก

 

ประเด็นที่ 3 การตัดสินให้มีความผิดย้อนหลัง

มาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับย้อนหลังในกรณีพรรณิการ์เห็นได้ชัดเจน เพราะมาตรฐานนี้ประกาศใช้เมื่อ 30 ม.ค.2561 ส่วน ป.ป.ช.ร้องเรียนกรณีพรรณิการณ์ทั้งหมด 6 กรณีจากการโพสต์ภาพพร้อมข้อความประกอบลงเฟซบุ๊ก ในปี 2553, 2553, 2554, 2556, 2557, 2558

การกระทำในช่วง 2553-2558 ทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนมาตรฐานจริยธรรมจะใช้บังคับในปี 2561 แล้วนำมาใช้กับการกระทำที่เกิดก่อนได้อย่างไร เพราะหลักกกฎหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ "ห้ามนำกฎหมายมาบังคับใช้ย้อนหลัง โดยเฉพาะที่กระทบกระเทือนในการลงโทษจำกัดสิทธิบุคคลอย่างรุนแรง" เหตุผลสามัญสำนึกธรรมดาก็คือ คุณจะตัดสินใจทำบางอย่างลงไป ต้องรู้ล่วงหน้าว่ามีกฎหมายอะไรอยู่ ดังนั้น หากจะบังคับใช้ควรใช้กับพฤติการณ์นับแต่มีการประกาศใช้มาตรฐานทางจริยธรรม

ในคำพิพากษาศาลท่านอธิบายอีกแบบ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการกระทำที่ต่อเนื่อง ไม่มีการลบโพสต์จึงถือว่าครอบคลุมถึงปัจจุบัน โพสต์ปี 2553 ก็จริงแต่รูปปรากฏอยู่ต่อเนื่อง เรื่องนี้เห็นต่าง ว่าการกระทำเกิดวันนั้นคือวันนั้น แต่แนวศาลคือ อะไรก็ตามที่อยู่ในโลกออนไลน์ไม่ลบก็โดนหมด  สมมติว่าเคยเขียนหนังสือหนึ่งเล่ม 30 ปีที่แล้วอย่างไรมันก็ไม่หายไปจากโลก ต่อมาบอกว่าเนื้อหาหนังสือดังกล่าวฝ่าฝืนจริยธรรม ถามว่าเขาจะทำลายหนังสือยังไง หรือต้องประกาศว่าทุกคนที่ซื้อไปช่วยเอาไปเผาทิ้งหรือ


ประเด็นที่ 4 มาตรฐานทางจริยธรรมใช้กับ ‘ผู้ที่ยังดำรงตำแหน่ง’  

มาตรฐานดังกล่าวใช้กับคนดำรงตำแหน่งตุลาการทุกศาล ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ สส สว หลักใหญ่ใจความจึงต้องใช้กับคนดำรงตำแหน่ง วิธีคิดก็คือ เมื่อมาอยู่ในตำแหน่งและองค์กรใดๆ  หากทำผิดมาตรฐานจริยธรรมขององค์กรนั้นๆ ก็ต้องพ้นจากการดำรงตำแหน่งไป นั่นคือโทษสูงสุด เพราะหนักกว่าว่ากล่าวตักเตือน คาดโทษ แต่กรณีพรรณิการ์เราจะเห็นได้ว่า เหตุการณ์นั้นเกิดเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ยังไม่ได้เป็น สส. และหลังจากเป็น สส.เพียง 10 เดือนเศษก็พ้นจากตำแหน่ง สส.แล้ว คำถามคือ มาตรฐานจริยธรรมดังกล่าวยังต้องนำมาใช้กับเขาอีกหรือ?

ศาลบอกว่าพ้นตำแหน่งแล้วก็พ้นไป แต่มีการร้องในช่วงเป็น สส.อยู่ เรื่องนี้ก็เห็นต่าง การใช้ต้องใช้ตอนที่เขายังดำรงตำแหน่งอยู่ ก่อนหน้าหรือหลังจากนั้นไม่ได้ แม้การร้องเรียนจะเกิดตอนเป็น สส. ก็ตาม แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นแล้ว ยังตามไปกันอีก

หากยังจำได้ อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็โดนแบบนี้ ตอนยิ่งลักษณ์ยุบสภาเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ อีก โดยลากจากมูลเหตุที่ศาลปกครองตัดสินเรื่องย้ายข้าราชการคนหนึ่ง แล้วจากนั้นยิ่งลักษณ์ยังพ้นจากตำแหน่งโดย คสช.ยึดอำนาจ แต่สุดท้ายก็ยังมีการลงโทษถอดถอนยิ่งลักษณ์อีกใน สนช. ทั้งที่เขาพ้นตำแหน่งไปนานแล้ว สาเหตุที่ต้องถอดถอนอีกที เพราะอยากพ่วงโทษ ‘ตัดสิทธิ’ แถมเข้าไปอีก เรียกว่า อยากประหัตประหารกันถึงที่สุด


ประเด็นที่ 5 เนื้อหา อะไรคือการไม่พิทักษ์รักษาสถาบันกษัตริย์

ขอยืนยันว่ากรณีของพรรณิการ์ไม่ได้ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามที่ป.ป.ช.ร้อง ซึ่งมีสองข้อ คือ ข้อ 5 ต้องธำรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กับข้อ 6 ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ ซึ่งศาลลงโทษจากฝ่าฝืนข้อ 6 เพียงข้อเดียว

ป.ป.ช.ร้องเรียนโดยใช้รูปการโพสต์เฟซบุ๊ก 6 ภาพ แต่ในคำพิพากษากล่าวจำเพาะ 5 รูปที่พาดพิงรัชกาลที่ 9 มีหนึ่งรูปที่พาดพิงสมเด็จพระเทพฯ เหตุผลของศาลอยู่ในหน้า 30 ของคำพิพากษาซึ่งระบุว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นมิ่งขวัญและศูนย์รวมความสาสมัครีของปวงชนชาวไทย ดังที่มีคำกล่าวว่า พ่อหลวง ในหลวง พ่อของแผ่นดิน ปวงชนชาวไทยต่างเคารพรักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดมา เมื่อพิจารณาภาพถ่ายและข้อความเข้าใจได้ว่า มีเจตนาพาดพิง ร.9 เป็นการแสดงออกต่อสถาบันในทางที่ไม่เหมาะสม มิบังควรอย่างยิ่ง ไม่เคารพในหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่ต้องพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ แสดงให้เห็นทัศนคติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ผ่านมาก่อนจะดำรงตำแหน่ง สส. และเมื่อเป็น สส. ก็ยังปล่อยให้ภาพถ่ายและข้อความปรากฏในระบบคอมพิวเตอร์ แม้จะตั้งค่าในเฟซบุ๊กปิดกั้นสาธารณะ ให้เฉพาะบุคคลเป็นเพื่อนเห็นก็มีเพื่อนมากถึง 4,000 กว่าคนที่เข้าถึงภาพถ่ายและข้อความนั้นได้

เวลาจะวินิจฉัยเรื่องใดก็ตามต้องมีองค์ประกอบ ต้องบอกว่าพิทักษ์รักษาคืออะไร การกระทำของพรรณิการ์ ขอถามอย่างตรงไปตรงมา ลดวางอคติออกก่อน การโพสต์ 6 ภาพนั้น ‘เท่ากับ’ การไม่พิทักษ์รักษาสถาบันหรือ แน่นอน ทราบดีว่าอาจมีคนไม่ชอบคุณพรรณิการ์ ไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกนั้น เป็นเรื่องธรรมดา อาจมีคนเห็นว่าไม่เหมาะ หรือแม้แต่ตัวผมเองก็วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ตามแนวรัฐธรรมนูญและกฎหมายเท่านั้น และคิดว่านี่เป็นการพิทักษ์สถาบันให้อยู่ตลอดไป แต่ทั้งหมดเราต้องยืนจากหลักก่อน ถ้อยคำคือ ‘พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันฯ’ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบการแสดงออกนั้นก็ตาม แต่มันคนละเรื่องกับการไม่พิทักษ์รักษาสถาบันฯ เวลาจะดูว่าใครรักษาพิทักษ์ดูจากพฤติกรรม เจตนา หากพูดขึ้นมาว่าไม่ต้องมีสถาบันแล้ว อย่างนี้เรียกได้ว่าไม่พิทักษ์รักษาตามที่กำหนดไว้ อยากให้ช่วยลดวางอคติแล้วช่วยคิดอ่านกันให้ดีๆ

ตามหลัก causation มันยังไกลเกินสำหรับกรณีนี้ การกระทำต้องแรงกว่านี้ ต้องแสดงออกชัดเจน ว่าไม่รักษาระบอบการปกครอง ไม่รักษาสถาบัน รณรงค์ต่างๆ นานาไม่เห็นด้วยกับการมีสถาบัน แบบนี้จึงเข้าข่าย

ตนยืนยันไม่รู้กี่ครั้งว่า ประเทศไทยต้องมีสถาบันดำรงอยู่ตลอดไป แต่การใช้กฎหมายต้องดูองค์ประกอบว่ามันเข้าจริงไหม แม้แต่มาตรา 112 ก็ใช้โดยขยายความกันไปเรื่อย นักวิชาการต่างประเทศเริ่มเขียนว่า เอาเข้าจริงทุกอย่างที่บอกว่าพาดพิงสถาบัน นานวันเข้าเราจะเริ่มตีความคล้ายการคุ้มครองสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสมัยโบราณ ใครลบหลู่ดูหมิ่นจะมีความผิด แต่ 112 ไม่ใช่เช่นนั้น ต้องตีความว่า ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายคืออะไร ต้องตีความองค์ประกอบ และพฤติกรรมที่ชัดแจ้ง ตอนนี้ดูราวกับว่าองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดในประเทศไทยขยาความตีความเรื่องนี้กว้างไปเรื่อยๆ ใครพูดถึงประโยคเดียวก็โดนหมด ขอออกตัวว่าไม่ชอบการแซะ ล้อเลียนพฤติกรรมส่วนบุคคล แต่เราก็ต้องยืนยันว่ามันไม่เข้าองค์ประกอบความผิด

ทราบดีกว่ามีคนไม่เห็นด้วยกับที่พรรณิการ์ทำเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว แต่ความไม่เหมาะสม ไม่ชอบ กับการถูกตัดสิทธิ์ตลอดชีวิตเพราะการไม่พิทักษ์รักษาสถาบันนั้นเป็นคนละเรื่อง จะตักเตือน จะตั้งข้อรังเกียจอะไรก็ว่าไป แต่เอาสิ่งที่ไม่ชอบมาลงโทษตัดสิทธิตลอดชีวิต มันเป็นคนละเรื่อง ด้วยความเคารพต่อผู้พิพากษาในคดี แต่ขอเห็นต่างในเรื่องนี้

 
2 ผลสืบเนื่องจากการใช้มาตรฐานจริยธรรมตัดสิทธิตลอดชีวิต

ผลประการที่หนึ่ง เมื่อตัดสินจนเกิดแนวทางขึ้นมา ต่อไปนี้ใครจะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองในอนาคต ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง อาจถูกขุดดิจิทัลฟุตปรินท์ทั้งชีวิตมาร้อง ป.ป.ช.ส่งศาล มีโอกาสถูกเพิกถอนสิดตลอดชีวิตได้ แม้ว่าเรื่องจะผ่านมานานมากแล้ว คนหนุ่มสาวทั้งหลาย วันข้างหน้าอยากเข้าสู่สนามการเมือง ดิจิทัลฟุตปริ้นท์ของท่านทั้งหมดอาจถูกร้องว่าฝ่าฝืนจริยธรรมในศาลได้ เท่ากับส่งผลโดยปริยายเพื่อ "ปราม" บรรดาคนต่างๆ ที่จะเข้าสู่วงการเมือง ว่า อย่าแสดงออกแบบนี้

ผลประการที่สอง ต่อไปนี้มาตรฐานจริยธรรมจะกลายเป็นอาวุธทรงอานุภาพในการจัดการเด็ดหัวนักการเมือง ขุดคุ้ยเรื่องในอดีตส่วนหนึ่ง ขณะที่ปัจจุบันก็มีนักร้องคอยส่งเรื่อง ป.ป.ช. มันจะกลายเป็นอาวุธทรงอานุภาพเพราะสร้างผลกระทบรุนแรง ตัดสิทธิตลอดชีวิต ทั้งยังใช้กันได้อย่างกว้างขวางมาก ถ้อยคำในข้อ 5-10 ของมาตรฐานจริยธรรมถ้อยคำกว้างมาก จนเกิดความไม่แน่นอนชัดเจนว่าอะไรคือละเมิด มันจะถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเล่นงานฝ่ายตรงข้าม แล้วนักการเมืองก็ต้องปรับสยบยอมต่ออำนาจ ไม่ต้องแสดงบทบาทอะไรมาก หรืออยู่ฝ่ายข้างอำนาจรัฐ โอกาสรอดมีสูง


ข้อเสนอแนะ 2 ประการ  

ประการที่หนึ่ง ต้องนำเรื่องมาตรฐานจริยธรรมออกจากรัฐธรรมนูญก่อน แล้วให้แต่ละองค์กรไปกำหนดขึ้นมาเอง รัฐธรรมนูญควรพูดเรื่องอำนาจหน้าที่ของสถาบันการเมือง ความสัมพันธ์ของสถาบันการเมือง สิทธิเสรีภาพของประชาชน ในส่วนจริยธรรม สส.ให้เขาเขียนกันเองแล้วลงโทษกันเอง ศาลไม่ต้องเข้ามา เช่นกันฝ่ายของผู้พิพากษาก็มี code of conduct ของตัวเอง

ประการที่สอง ยกเลิกโทษ ‘เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต’  และยกเลิกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 

สำหรับการเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง อาจยังให้คงอยู่ได้บ้าง แต่ต้องเขียนขอบเขตให้ชัดเจน และให้โทษต่ำลงมา เช่น 1-5 ปี ไม่ใช่เปิดเอาไว้กว้างเท่าไรก็ได้

รวมไปถึงมาตรา 98 กำหนดลักษณะต้องห้ามการเป็น สส. รมต. ควรต้องแก้ไข เพราะเขารับโทษไปแล้ว ยังโดนห้ามลงเล่นการเมืองอีก ต้องเอาเรื่องนี้ออกเพราะตึงเกินไป เป็นการลงโทษคนซ้ำซ้อน


ออกแบบกันคนออกจากการเมือง เสียดายแทนสังคมไทย 

เรื่องนี้ต้องให้กำลังใจพรรณิการ์และนักการเมืองอีกหลายท่านที่โดนเรื่องเหล่านี้ บางท่านอาจโดนในคดีอาญาอะไรก็แล้วแต่ เมื่อโดนคดีอาญาไปแล้วก็ไม่ควรโดนโทษซ้ำซ้อน ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าให้พ้นผิดลอยนวล อะไรผิดก็ว่าตามผิด แต่ไม่ควรต่อเนื่องเป็นลูกระนาดแบบนี้ ไม่ควรไปตัดสิทธิตลอดชีวิต

สำหรับความรู้สึกส่วนตัว ยอมรับว่าตนรู้สึกกับเรื่องนี้มาก เพราะเป็นคนไปชวนพรรณิการ์มาร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ช่วงประชุมสภาสมัยยังมีพรรคอนาคตใหม่ ตนและพรรณิการ์ก็นั่งติดกัน คุยกันเสมอเพื่อกำหนดทิศทางการสื่อสาร เมื่อพรรณิการ์โดยลงโทษแบบนี้จึงรู้สึกเสียใจ และรู้สึกนึกย้อนว่าถ้าวันนั้นไม่ไปชักชวนกันมา เขาอาจเป็นผู้ประกาศข่าวที่มีชื่อเสียง การแสดงออกของพรรณิการ์เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วก็คงไม่มีใครไปขุด การขุดเกิดจากบทบาทของพรรณิการ์ในฐานะสส. ที่ทำให้ฝ่ายอำนาจนิยมกังวลใจ

อย่างไรก็ตาม พรรณิการ์ไม่ได้โดนตัดสิทธิเลือกตั้ง ยังสามารถเป็นผู้ช่วยหาเสียงได้ แต่ดำรงตำแหน่งต่างๆ คงทำไม่ได้แล้ว จึงเสียดายแทนประเทศไทย เราออกแบบระบบกันมาทำให้บุคลากรที่มีคุณภาพในทางการเมือง การสื่อสาร ต้องหลุดพ้นจากวงจรการเมืองไทยตลอดชีวิต คิดอย่างแฟร์ๆ ไม่แบ่งฝักฝ่าย อาจมีคนไม่ชอบพรรณิการ์ด้วยหลายเหตุผล แต่ต้องยอมรับว่าเขามีความสามารถ ทำประโยชน์ได้เยอะ เป็นที่น่าเสียดายของสังคมไทย