นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ หรือ พ.ร.บ.ภาษี e-Service ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติผ่านร่างไปแล้วเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ขั้นตอนหลังจากนี้จะต้องนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หากเห็นชอบก็จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป และหลังจากนั้น 6 เดือน จึงจะเริ่มจัดเก็บได้ ดังนั้นคาดว่าจะเริ่มจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ในปีภาษี 2564
สำหรับภาษี e-Service ผู้ให้บริการต่างประเทศ ทั้งแพลตฟอร์มดูหนัง เล่นเกมส์ นายหน้า สื่อโฆษณา ตลาดกลางที่จับผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกัน รวมถึงบริการอีคอมเมิร์ซ เช่น Facebook, YouTube, Google, Line, Netflix, Lazada ที่มีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาท ที่ให้บริการในประเทศไทย จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม นำส่งให้กับกรมสรรพากร โดยไม่มีภาษีซื้อ เช่น ถ้าให้บริการ 100 บาท จะต้องนำส่งทันที 7 บาท หรือร้อยละ 7 ของค่าบริการ
"ภาษี e-Service ไม่ได้ห้ามขึ้นราคา แต่เป็นการสมยอมระหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ เช่น ค่าบริการ 100 บาทอาจจะรวมอยู่ในนั้นแล้ว หรืออาจจะเก็บนอกนั้นก็ได้" นางสมหมายกล่าว
ทั้งนี้นางสมหมาย ระบุว่า เป้าหมายการจัดเก็บภาษี e-Service ปีแรกซึ่งหากดูฐานจากปี 2562 คาดว่าจะได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่จากการระบาดของโควิด-19 จะเห็นว่าคนใช้ออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ก็คาดว่าจะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น
ซึ่งจะเกิดความเป็นธรรมสำหรับผู้ให้บริการในประเทศไทยที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เพราะในแต่ละปีผู้ให้บริการต่างประเทศได้รายรับปีละกว่า 40,000 ล้านบาท โดยยืนยันว่าผู้ให้บริการรายใหญ่ๆ ก็พร้อมที่จะเสียภาษีดังกล่าวแล้ว
ส่วนกรณีที่กรมสรรพากรติดหมายเรียกเก็บภาษีอดีตข้าราชการ นางสมหมาย ชี้แจงว่า เป็นไปตามข้อระเบียบ โดยที่ผ่านมาสรรพากรในพื้นที่ได้รับเรื่องให้ตรวจสอบ จึงได้ขออนุมัติออกตรวจสภาพกิจการของบริษัทดังกล่าว แต่จากการออกตรวจพบว่าสถานประกอบการปิด และจากการขอคัดหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าบริษัทฯ ได้แจ้งเลิกไปแล้ว จึงต้องมีการส่งหนังสือเชิญพบตามที่อยู่ของผู้ชำระบัญชีที่แจ้งไว้ต่อทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และได้ขออนุมัติสรรพากรพื้นที่ส่งหนังสือเชิญพบด้วยตนเอง หากไม่สามารถส่งได้หรือไม่มีผู้รับ จึงได้ปิดหนังสือเชิญพบดังกล่าว และในการปิดหนังสือเชิญพบเจ้าหน้าที่ได้แจ้งความตำรวจ เพื่อเป็นพยานว่ามิได้ทำให้เกิดความเสียหายใดๆ
อย่างไรก็ตามทางอดีตข้าราชการสามารถดำเนินการชี้แจง หรือ ร้องทุกข์ได้อยู่แล้ว ซึ่งกระบวนการถัดไปจะเป็นหน้าที่ของพนักงานสืบสวนในการตรวจสอบพิสูจน์ข้อเท็จจริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :