แม้คนเรามีสิทธิย้ายประเทศ แต่ไม่มีสิทธิย้ายเส้นแบ่งเขตแดนประเทศ เกิดประเด็นความวุ่นวายเล็กน้อยเกี่ยวกับพรมแดนระหว่างสองชาติ เมื่อเกษตรกรชาวเบลเยียมรายหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงเส้นแบ่งเขตพรมแดนระหว่างเบลเยียมกับฝรั่งเศสโดยไม่ได้ตั้งใจ
เรื่องของเรื่องเริ่มจากการที่ เกษตรกรในเบลเยียมรายนหนึ่งอยู่ระหว่างกำลังใช้รถแทรกเตอร์ไถตรียมที่ดินเพื่อทำการเพาะปลูก ทว่าระหว่างนั้นกลับพบหินก้อนหนึ่งขวางทางรถแทรกเตอร์ในพื้นที่เตรียมทำเกษตรกรรม เขาจึงทำการขนย้ายหินก้อนนั้นไปทิ้งยังพื้นที่อื่น ห่างจากจุดที่ตั้งเดิมราว 2.29 เมตร แต่ภายหลังกลับมาทราบว่า หินก้อนนั้นแท้จริงแล้วคือย้ายเสาหินอายุ 200 ปี ซึ่งทำหน้าที่เป็นหลักแบ่งเขตพรมแดนระหว่างฝรั่งเศสกับเบลเยียม
การเคลื่อนย้ายดังกล่าว ซึ่งเสาหินถูกนำไปทิ้งห่างจากจุดที่ตั้งเดิมราว 2.29 เมตร รุกล้ำเข้าไปในดินแดนของประเทศฝรั่งเศส ส่งผลให้เขตแดนของประเทศเบลเยี่ยมรุกล้ำเข้ามายังประเทศฝรั่งเศสราว 2 เมตร เดวิด ลาโวซ์ นายกเทศมนตรีเมืองแอคเคอลีนเนอซึ่งอยู่ในพื้นที่ กล่าวติดตลกกับสถานีโทรทัศน์เตเอฟเอิงของสื่อท้องถิ่นฝรั่งเศสว่าเกษตรกรคนนี้ทำให้ดินแดนเบลเยียมใหญ่ขึ้น แต่ฝรั่งเศสเล็กลง ขณะที่นายกเทศมนตรีเมืองบูสินี ซูร์ ค็อก เมืองในฝั่งฝรั่งเศสซึ่งอยู่ติดเบลเยียมกลับไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว
"การเปลี่ยนขนาดของประเทศ 2 ประเทศไม่ใช่ความคิดที่ดี แน่นอนผมมีความสุขที่เห็นเมืองตัวเองใหญ่ขึ้น แต่นายกเทศมนตรีของฝรั่งเศส (เมืองซึ่งอยู่อีกฝั่ง) คงไม่คิดเช่นนั้น" เดวิด ลาโวซ์ กล่าว
เสาหินนี้ถูกพบว่าย้ายออกจากจุดเดิม เนื่องจากมีกลุ่มคนผู้หลงไหลในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นรายหนึ่งเดินออกไปสำรวจป่า ตามแนวพรมแดนของสองชาติ ก่อนจะสังเกตว่าเสาหินที่ถูกใช้เป็นเครื่องหมายแบ่งเขตแดนของสองชาติตั้งแต่สมัยสนธิสัญญาคอร์ทไรค์ (Treaty of Kortrijk) เมื่อปี ค.ศ.1820 ถูกย้ายจากจุดเดิมที่เคยถูกปักไว้เมื่อกว่า 200 ปีก่อน
อย่างไรก็ดี แม้เหตุการณ์นี้ไม่ได้เป็นเรื่องตึงเครียดระหว่างประเทศแต่อย่างใด เนื่องจากชาวนาคนดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างพรมแดนแต่อย่างใด โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเบลเยียมได้ติดต่อชาวนาคนดังกล่าวเพื่อให้นำเสาหินไปคืนที่เดิมแล้ว แต่หากเขาไม่ปฏิบัติตาม เรื่องนี้อาจต้องถึงกระทรวงต่างประเทศเบลเยียม และชาวนาผู้นั้นอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
ทั้งนี้ เบลเยี่ยมกับฝรั่งเศสมีพรมแดนติดกันเป็นระยะทาง 620 กิโลเมตร ซึ่งแม้ปัจจุบันเสาหินแทบจะไม่มีความหมายในเชิงเส้นแบ่งแนวพรมแดน เนื่องจากเทคโนโลยีในยุคนี้สามารถระบุตำแหน่งของพรมแดนทางภูมิศาสตร์ได้อย่างชัดเจน แต่เสาหินดังกล่าวก็ยังคงต้องถูกย้ายกลับไปยังจุดที่ตั้งเดิมเนื่องจากถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และโบราณคดีแสดงถึงแนวพรมแดนของสองชาติตั้งแต่ยุคแรก
ที่มา: TheGuardian