รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ว่า ครม.รับทราบคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง ในลักษณะเป็นสะพานยกสูงเหนือระดับน้ำท่วมสูงสุด ซึ่งใช้เป็นเส้นทางสัญจรรองรับการเดินทางด้วยจักรยาน (Bike Lane) มี 12 แผนงาน อาทิ แผนงานทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา แผนงานปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน แผนงานพัฒนาท่าเรือ โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 (สะพานพระราม 7 - กรมชลประทาน) ช่วงที่ 2 (กรมชลประทาน-คลองรอบกรุง) ช่วงที่ 3 (สะพานพระราม 7 - คลองบางพลัด) และช่วงที่ 4 (คลองบางพลัด - คลองบางยี่ขัน) ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ครม.เห็นชอบไม่ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ตามความเห็นของสำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งศาลฯ พิพากษาให้รัฐบาลระงับการก่อสร้างโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจนกว่าจะได้มีการดำเนินการ ดังนี้
1.จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยระบุถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชน มีการประกาศเผยแพร่ข้อมูลโครงการ และสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นให้ประชาชนทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เสร็จสิ้นการรับฟังความคิดเห็น
2.จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการดังกล่าวตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยครบถ้วน
3.แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 พ.ศ.2537 ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 เพื่อให้เจ้าท่ามีอำนาจอนุญาตและได้อนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำได้
4.ขออนุญาตต่ออธิบดีกรมศิลปากรเพื่อได้มีคำสั่งเป็นหนังสืออนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในบริเวณที่โครงการพาดผ่าน