ไม่พบผลการค้นหา
พบ 3 นักข่าว 'รอยเตอร์-อีสานเรคคอร์ด-เดอะแมทเทอร์' ถูกทำร้ายร่างกายโดย คฝ. ด้าน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จี้ภาครัฐตรวจสอบและชี้แจงด่วน

18 พ.ย.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ที่บริเวณถนนดินสอ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ กลุ่ม 'ราษฎรหยุดเอเปค 2022' เดินทางไปยื่นหนังสือแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเพื่อคัดค้านการประชุมเอเปค 2022 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

อย่างไรก็ดี ในการสลายการชุมนุมเมื่อช่วงเวลาประมาณ 12.00 น. หลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำการเผาพริกเผาเกลือบนหลังคารถตำรวจ ทำให้ตำรวจใช้อุปกรณ์ดับเพลิงและน้ำฉีดเพื่อดับเปลวเพลิง จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน จึงได้เริ่มมีการตั้งแนวและใช้กระบอง พร้อมทั้งโล่ห์สกัดให้กลุ่มผู้ชุมนุมถอยร่นไป 

นอกจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บไม่น้อยกว่า 10 คน และยังพบว่ามีสื่อมวลชนบางส่วนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงด้วยเช่นกัน ได้แก่ 

  • ช่างภาพจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่บาดเจ็บจากการถูกเศษแก้วบาดเข้าที่เยื่อบุตาข้างขวา  
  • วรัญญู คงสถิตย์ นักข่าวพลเมือง สำนักข่าว The Isaan Record ที่ถูกตำรวจควบคุมฝูงชนจับกุมขณะรายงานสดทางเฟซบุ๊กไลฟ์ โดยพบว่ามีการทำร้ายร่างกายอีกด้วย 
  • ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว The Matter ที่รายงานสดผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ โดยประมาณนาทีที่ 2.59 ได้โดนตำรวจใช้โล่ห์กระแทกจนล้ม กระบองฟาดศีรษะ และเตะหัวพร้อมทั้งพูดว่า "พวกกูเนี่ย ของจริง" ทั้งที่นักข่าวคนเดียวกันนั้นใส่ปลอกแขนแสดงตนชัดเจน 

ในช่วงเย็นของวันนี้ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค 2022 จะเดินทางไปยื่นหนังสือ และพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สน.ทุ่งสองห้อง เนื่องจากมีผู้ชุมนุมถูกจับกุมและนำตัวมาที่ สน. ดังกล่าว โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.ว่า มีจำนวน 25 คน


สมาคมนักหนังสือพิมพ์ออกแถลงการณ์จี้ตรวจสอบ

ด้านสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ โดยนายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ กล่าวว่า อนุกรรมการฯ ได้รับรายงานกรณีมีสื่อมวลชนบาดเจ็บอย่างน้อย 2 คน ขณะปฏิบัติหน้าที่รายงานเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุม 'ราษฎรหยุด APEC' เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 โดยมีรายละเอียดดังนี้

กรณีที่หนึ่ง มีคลิปวิดิโอเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่ง ใช้โล่กระแทกผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว The Matter จนล้มลงกับพื้น ขณะกำลังรายงานสดเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม โดยที่ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวแสดงตนว่าเป็นสื่อมวลชน พร้อมกับสวมปลอกแขนแสดงสัญลักษณ์สื่อมวลชน ต่อมา มีรายงานด้วยว่าผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่ใช้กระบองฟาด และเตะเข้าที่ศีรษะ จนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 

คลิปเหตุการณ์กรณีที่หนึ่ง: 

The Matter : www.facebook.com/thematterco/videos/1331180424290098/

The Standard : www.facebook.com/thestandardth/videos/496985079073121

The Reporter : www.facebook.com/TheReportersTH/videos/1230717807506966

เดลินิวส์ : www.facebook.com/dailynewsonlinefan/videos/525845562743449

กรณีที่สอง มีคลิปวิดิโอแสดงจังหวะที่ช่างภาพจากสำนักข่าว Reuters กำลังบันทึกภาพแนวตำรวจใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และได้มีการเขวี้ยงวัตถุของแข็งเข้าใส่ใบหน้าของช่างภาพคนดังกล่าว จนได้รับบาดเจ็บบริเวณลูกตา 

คลิปเหตุการณ์กรณีที่สอง:

ViralPress : twitter.com/ViralPressCoLtd/status/1593493898562744320

สำหรับกรณีที่หนึ่ง นายธีรนัยกล่าวว่า ตนขอเรียกร้องให้ทางการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือรัฐบาล เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วนทุกประเด็น เช่น การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคลิปที่ปรากฏเป็นข่าวเหมาะสมหรือไม่ เป็นการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่ เป็นไปตามหลักปฏิบัติของหน่วยงานหรือไม่ ฯลฯ และถ้าหากผลการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดจริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีบทลงโทษหรือดำเนินการอย่างไร และจะมีการชดใช้ความเสียหายต่อนักข่าวที่ถูกกระทำอย่างไรบ้าง

นายธีรนัยตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ศาลแพ่งเคยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ในคดีหมายเลขดำที่ พ3683/2564 ซึ่งศาลระบุไว้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจต้อง ‘...ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชน ภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน…’ ดังนั้น จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล และเป็นไปตามคำสั่งศาลแพ่งข้างต้นอีกด้วย 

“ฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ จะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจะมีการพิจารณามาตรการในลำดับต่อไป หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกเฉยที่จะตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น” นายธีรนัยกล่าว

สำหรับกรณีที่สอง นายธีรนัยกล่าวว่า ตนขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเร่งตรวจสอบที่มาที่ไปของเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน โดยเฉพาะทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จำนวนมาก และมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการควบคุมดูแลการชุมนุมโดยตรง จึงต้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ใครเป็นผู้ขว้างปาวัตถุของแข็งในคลิปวิดิโอ มีเจตนาจงใจทำร้ายสื่อมวลชนหรือไม่ และจะมีการดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับผู้ก่อเหตุหรือไม่ อย่างไร

นายธีรนัยกล่าวด้วยว่า ภาครัฐต้องชี้แจงทั้งสองกรณีกับสังคมอย่างเร่งด่วนและโปร่งใส เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทั้งสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามที่ฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ ได้ย้ำว่ามาตลอดว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน” 

ทั้งนี้ สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปที่พบเห็นการใช้ความรุนแรง หรือพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อสื่อมวลชนในพื้นที่การชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการกระทำจากฝ่ายใดก็ตาม สามารถติดต่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ ได้ที่อีเมล์ [email protected] (กรุณาเขียนระบุในหัวข้ออีเมลล์ว่า “เรียน ฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ”)