ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ในประชุมพรรค พปชร. ประจำสัปดาห์ โดยที่ประชุมมีการหารือเตรียมความพร้อมในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้ ซึ่งมีเรื่องสำคัญที่จะเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 15 มิ.ย. ซึ่งจะมีร่างพ.ร.บ.4 ฉบับ ที่จะเข้าสู่การพิจารณา คือ 1. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เสนอโดยพรรคก้าวไกล เพื่อแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการสมรส 2.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ... เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ 3.พิจารณาร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ... ที่ ครม. และ 4.พิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... เสนอโดย ครม. ซึ่งทั้งหมดมีวัตถุประสงค์ตรงกัน คือ ต้องการเปิดกว้างให้คู่ชีวิตที่ไม่ใช่ชายและหญิง
ทั้งนี้การพิจารณากฎหมายในลักษณะดังกล่าวต้องใช้ความระมัดระวังเป็นไปอย่างรอบคอบ เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้บัญญติ เกี่ยวข้องกับสิทธิของ ชายหญิง ไว้ ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายจะไปตัดคำว่าชายหญิง ออกไปจากประมวลกฎหมายแพ่งจะกระทบกระเทือนกับสิทธิของประชาชนชาย หญิงทั้งประเทศที่ยังต้องการคงการใช้คำนี้ไว้
ดังนั้น ในมุมมองส่วนตัว จึงไม่เห็นด้วยในการตัดคำว่าชาย หญิงออกจากประมวลกฏหมายแพ่งส่วนวีธีการที่ดีเห็นว่าจัดทำเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิตขึ้นเป็นการเฉพาะ เป็นแนวทางที่ดีที่สุดเป็นสากล ไม่กระทบต่อสังคมส่วนใหญ่และให้กลุ่มความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิ ซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นแนวทางตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 20 / 2564 ต้องนำมาประกอบการพิจารณาด้วย
ไพบูลย์ กล่าวว่า การออกกฎหมายใดๆเพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็ควรจะคำนึงถึงผลของกฎหมาย ที่ไม่กระทบสิทธิของประชาชนกลุ่มอื่น จะได้ประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวม ดังนั้นแม้จะต่างกันเพียงแค่ชื่อหรือวิธีการเรียก หรือวิธีการบัญญัติกฏหมาย แต่ได้ผลสัมฤทธิ์ตามต้องการ ก็ควรจะยอมรับกันได้ แต่ถ้าจะเป็นกฎหมายของพรรคการเมืองหนึ่งที่เสนอมา สมาชิกท่านอื่นก็มีเอกสิทธิ์ที่จะเห็นด้วยหรือเห็นต่างได้ แต่ส่วนตัวเห็นว่าแนวทางออกกฎหมาย คู่ชีวิต ของรัฐบาล ก็เพื่อที่จะให้เป็นประโยชน์กับคู่ชีวิตที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นรูปธรรม ตนจึงเห็นว่าแนวทางที่เสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นแนวทางที่ดีที่สุด เป็นสากล ไม่ได้เป็นอย่างที่ถูกกล่าวหา