4 เม.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) กรณีที่ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ได้สอบถามเรื่องกัญชาจะจัดให้อยู่ในรูปแบบไหน ให้ใช้เพื่อสันทนาการหรือเพื่อทางการแพทย์ว่า การจัดรูปแบบของกัญชาในขณะนี้ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดปี 64 กัญชาเป็นยาเสพติด และตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลที่ผ่านมา กำหนดให้สารสกัดกัญชาที่มีค่า THC มากกว่า 0.2% เป็นยาเสพติด และประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญา การแพทย์แผนไทย รวมทั้งประกาศให้ช่อดอกเป็นสมุนไพรควบคุม ห้ามใช้ ห้ามจำหน่าย ควบคุมห้ามจำหน่ายช่อดอก ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ส่วนก้าน ต้น ใบ ไม่จัดว่าเป็นยาเสพติด และกัญชาถูกจัดเป็นยาเสพติดที่นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้
สำหรับนโยบายกัญชาของประเทศไทยเป็นอย่างไรนั้น จากคำแถลงการณ์ของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 66 ที่แถลงต่อรัฐสภา และเน้นย้ำวันที่ 2 เมษายนที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฯ พูดชัดเจนว่ากัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ และส่งเสริมเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น นี่คือสถานะของกัญชาในปัจจุบัน ถ้าจะนำมาใช้ทางการแพทย์ รัฐต้องออกกฏหมายมาควบคุม ตนได้เสนอร่างกฎหมายกันชง-กัญชา เข้าสู่การพิจารณา หาก ครม.เห็นชอบจะเสนอเข้าสู่สภา นี่จะเป็นกฎหมายควบคุมกัญชา ส่วนที่นอกเหนือไปจากทางการแพทย์และสุขภาพ รวมถึงเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน จะถือเป็นการใช้ผิดประเภท ต้องมีกฎหมายควบคุม การปลูกการผลิตต้องขออนุญาต
นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงกฎกระทรวงครอบครองยาบ้า 5 เม็ด ถือว่าเป็นผู้เสพหรือผู้ป่วย โดยระบุว่า กรณีที่ ดร.ปรีดา บุญเพลิง สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน มีถ้อยคำกล่าวหาตนในสภาว่าเป็น ‘ฆาตกรผ่อนส่ง’ เลยอยากให้ยกเลิกยาบ้า 5 เม็ด ตนไม่อยากให้ถอนคำพูด เพราะดร.ปรีดา เป็น สส. ที่ออกประมวลกฎหมายเมื่อปี 2564 เป็นผู้ลงคะแนนออกกฎหมายด้วย แต่กลับไม่รู้เจตนาและจุดมุ่งหมายของกฎหมายปี 2564 เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ต้องการเปลี่ยนวิธีการที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติด เพราะเขาดูผลการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ผ่านมาทั้งโลก และที่ผ่านมา เรามีกฎหมายยาเสพติดใช้มาถึงปี 2563 แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากเรามีกฎหมายเข้มข้น โทษหนัก จับติดคุก เป็นการยากมากที่จะคืนคนดีสู่สังคมสังคม เพราะสิ่งที่ทำเป็นการลดต้นทุนคนดีให้ต่ำลง และเป็นการไปสร้างโอกาสกลับไปสู่สังคมที่ไม่ดีให้สูงขึ้น และตีตราเขาว่าติดยาเสพติด แม้บำบัดหายแล้วเป็นผู้เสพยาเสพติดในประวัติอาชญากรรม
กฎหมายฉบับปี 2564 บอกว่าต้องให้โอกาสเข้าสู่การบำบัดรักษาเพื่อแยกคนที่ไม่มีเจตนาค้า จำหน่าย จ่ายแจก ได้กลับคืนสู่สังคม ไม่ถูกตีตราหรือถูกดำเนินคดี จึงได้มีออกกฎกระทรวงเรื่องการครอบครองไม่เกิน 5 เม็ดอาจพิจารณาเป็นผู้ป่่วยที่ต้องบำบัดออกมาเพื่อคัดกรองคนใหัได้เข้าสู่กระบวนการบำบัด เพราะในขณะนี้มีคนไทยใช้ยาบ้าอยู่ราว 1,900,000 คน ถ้าเราไม่แยกออกมาคนเหล่านี้ จะกลายเป็นผู้ค้า รวมทั้งกฎหมายฉบับนี้พยายามที่จะลดทอนความเป็นอาญา แม้ยังคงความเป็นอาญาไว้กับผู้ค้า ผู้ครอบครอง และผู้เสพแม้มี 1 เม็ดก็มีความผิดมีโทษหมด เพียงแต่ว่าถ้าใครมีพฤติกรรมที่ไม่มีการค้า ไม่จำหน่ายและ ‘สมัครใจ’ เข้าสู่กระบวนการบำบัด โดยต้องครอบครองไม่เกินที่กฎหมายกำหนดก็จะได้รับการสันนิษฐานไว้ว่าเป็นผู้เสพหรือมีไว้เพื่อเสพ เพื่อเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยตามนโยบายของรัฐบาล
นพ.ชลน่าน กล่าวย้ำว่า การเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยจะต้องได้รับความสมัครใจ เมื่อผ่านการบำบัดจะต้องมีหนังสือรับรองให้พ้นจากความผิด ส่วนเรื่องการบำบัดในขณะนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ผู้เสพที่มีอาการจะเอาเข้าสู่การบำบัดทางการแพทย์ ขณะที่คนไม่มีอาการจะเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูทางสังคม หรือการใช้ชุมชนเป็นฐานบำบัด
“ความเป็นห่วงของเพื่อนสมาชิกว่าเราไม่มีสถานบำบัดที่เพียงพอ ศักยภาพของเราในตอนนี้พยายามจะทำให้เต็มศักยภาพ ให้มีสถานบำบัดมากที่สุด ทั้งการแพทย์และสังคม เรามีการจัดตั้ง ‘มินิธัญญาลักษณ์’ ให้ครอบคลุมทั้งหมด 77 จังหวัด มีหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในระดับโรงพยาบาลระดับศูนย์ และรพ.ทั่วไปทุกจังหวัด มีกลุ่มงานยาเสพติด และจิตเวชทุกอำเภอ เป็นสิ่งที่เราวางเอาไว้”
นพ.ชลน่าน กล่าวถึงผลการดำเนินการบำบัด CBTx ว่า มีผู้เข้าบำบัดทั้งหมดในปีงบประมาณ 2567 จำนวน 56,854 ราย เป็นสีแดง 7,422 ราย, สีส้ม 2,819 ราย, สีเหลือง 1411 ราย และสีเขียวหรือผู้ไม่มีอาการ 45,202 ราย ซึ่งตามกฏหมายใหม่ ถ้าให้โอกาสได้เข้าสู่กระบวนการบำบัด ให้มีโอกาสกลับคืนเป็นคนดีสู่สังคม โอกาสที่จะไม่กลับไปเสพยาเสพติดจะสูงมาก และจะสามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดได้
จากนั้น ดร.ปรีดา ได้ลุกขึ้นใช้สิทธิ์พาดพิงว่าขอเรียนอย่างตรงไปตรงมาว่าตนเองเป็นครูทั้งชีวิต รักนักเรียนมาตลอด ปัญหาที่เกิดขึ้นจากกฎกระทรวงฉบับนี้ ทำให้เกิดประเด็นปัญหาทั่วประเทศ สิ่งที่กล่าวมาคือวิธีการที่จะแก้ไข จะสำเร็จหรือไม่ต้องดูของจริง เด็กนักเรียนตั้งแต่ ม. 1 ถึง ม. 6 มีความอยากลอง อยากรู้ ก็ทำให้เกิดปัญหานี้มา ลองเอาไปบำบัดที่บ้านของรัฐมนตรี หรือ สส. ทั้ง 500 คนดูว่าเป็นคนดีจริงหรือไม่ ถ้ากลับมาอยู่บ้านก็เหมือนเดิมอีกวนไปเวียนมาอยู่แบบนี้ และสิ่งเหล่านี้ก็เริ่มจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ
ปรีดกล่าวต่อว่า ส่วนกรณี พ.ร.บ. กัญชาฯ เห็นด้วยที่ใช้ในทางการแพทย์ สิ่งไหนที่ดีและเกิดประโยชน์กับประเทศชาติเราพร้อมสนับสนุน แต่นี่เป็นประเด็นปัญหาที่เกิดกับเด็ก พร้อมตั้งคำถามว่ากรณียาบ้าท่านไม่ห่วงลูกหลานของท่านหรือ พี่น้องประชาชนก็รออยู่ว่าหากยกเลิกกฎกระทรวงฉบับนี้ได้จะทำให้ประชาชนมีความสุขมากขึ้น