สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การเตรียมการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน หรือ ไม่เกิน 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน (คิดตามอัตราเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท) สูงสุดไม่เกิน 90 วัน โดยยึดตามจังหวัดที่ถูกประกาศโดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด ล่าสุดมีจำนวน 28 จังหวัด พบว่ามีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 6,098 แห่ง มีจำนวนผู้ประกันตน 103,800 ราย รวมวงเงินชดเชยที่เตรียมไว้เบื้องต้นราว 2,321 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงฯ ได้เปิดให้ผู้ประกันตนที่ว่างงานจากคำสั่งดังกล่าวสามารถขอรับเงินชดเชยได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
โดยได้มีปรับรูปแบบการขอรับเงินชดเชย ให้ผู้ประกันตนกรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.sso.go.th แล้วนำส่งให้นายจ้าง โดยเน้นย้ำเบอร์โทรศัพท์ติดต่อและเลขบัญชีธนาคารที่ถูกต้อง ส่วนนายจ้างดำเนินการเพียงยื่นสิทธิการว่างานในระบบ e-service ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนทำให้สามารถโอนเงินเข้าบัญชีได้ภายใน 5 วันทำการ จากเดิมที่มีปัญหาล่าช้าการจ่ายเงินชดเชยกว่า 1 เดือน
ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า เงินกองทุนว่างงานของสำนักงานประกันสังคมขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 150,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถดูแลผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ส่วนจากการดูแลเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ช่วงแรกจำนวน 945,405 ราย คิดเป็นวงเงินประมาณ 15,000 ล้านบาท สามารถดำเนินการจ่ายเงินให้กับผู้ประกันตนได้ทั้งหมดแล้ว
นอกจากนี้กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคมได้ออก “กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2563” ส่งผลให้มีการปรับลดเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือในอัตราฝ่ายละ 3% ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนและนายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบลดลงเหลือ สูงสุดไม่เกิน 450 บาทต่อคนต่อเดือน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ลดลงเหลือ 278 บาท จากเดิม 432 บาท ต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง มี.ค. 2564 เพื่อช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตนที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้าง และผู้ประกันตน
ทั้งนี้คาดว่าการลดอัตราเงินสมทบเป็นระยะเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่เดือน ม.ค. – มี.ค. 2564) เพื่อช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้าง และผู้ประกันตนในการจ่ายเงินสมทบลดลงรวมจำนวน 15,660 ล้านบาท