ไม่พบผลการค้นหา
499 ราย คือชีวิตของเด็กญี่ปุ่นที่เสียไปในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 20%

อัตราการฆ่าตัวตายของประชากรญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเคยขึ้นไปแตะสถิติมีผู้ฆ่าตัวตายถึง 25.5 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ในปี 2546 ตัวเลขเหล่านั้นทยอยปรับระดับลงมาจนเหลือเพียง 15.7 ณ สิ้นปี 2562 ทว่าภายใต้ภาพการพัฒนาที่ดูสดใสนี้ สถิติเด็กและเยาวชนที่ฆ่าตัวตายกลับสูงขึ้นอย่างหน้าตกใจ 

ตามข้อมูลของกระทรวงสุขภาพ แรงงาน และสวัสดิการแห่งญี่ปุ่น ในฐานะผู้รับผิดชอบรายงานสภาพความเป็นอยู่ของผู้คน พบว่า ระดับการฆ่าตัวตายต่อปีของประชากรวัยเยาว์ เพิ่มขึ้นจาก 289 ราย ในปี 2559 มาเป็น 315, 369 และ 339 ราย ระหว่างปี 2560-2562 ก่อนจะกระโดนขึ้นกว่า 20% มาเป็น 499 ราย ในปีที่ผ่านมา 

แม้รายงานจากกระทรวงฯ ระบุว่าเหตุผลของการพรากชีวิตตนเองในกลุ่มเด็กนั้นไม่แตกต่างจากไปจากเดิมนัก กล่าวคือยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับ สมรรถภาพทางการศึกษา, ความไม่แน่นอนของอาชีพการงาน ไปจนถึงปัญหาภายในครอบครัว แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนลงความเห็นว่าวิกฤตโรคระบาดตลอดทั้งปี 2563 มีส่วนเกี่ยวข้องเช่นเดียวกัน 


เงื่อนไขโควิด-19

ทานากะ เคียวโกะ จากสถาบันสุขภาพเด็กและการพัฒนาแห่งชาติญี่ปุ่น อธิบายถึงการตัดสินใจฆ่าตัวตายในเด็กว่ามีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายมิติ ทั้งตัวกระตุ้นในเชิงชีววิทยา, จิตวิทยา และสภาพแวดล้อม ขณะที่ความเชื่อมโยงถึงโควิด-19 เกิดจาก ระดับความเครียดในเด็กที่เพิ่มสูงถึงจนอาจผลักให้พวกเขาคิดสั้นได้ 

สถาบันฯ ดังกล่าว ได้จัดทำชุดแบบสำรวจผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็กกลุ่มนี้ จากผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นเด็กทั้งสิ้น 715 คน ระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2563 พบภาวะการเป็นโรคซึมเศร้าระดับกลางถึงสูง ในเด็กหลากหลายกลุ่มอายุ :

  • 15% ของเด็กระดับประถมศึกษา (ประถมฯ 4-6)
  • 24% ของเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
  • 30% ของเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 
ญี่ปุ่น - เด็ก - เอเอฟพี

ผลสำรวจพบว่า ราว 24% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เคยมีความคิดฆ่าตัวตาย ขณะที่หนึ่งในหกของผู้ตอบแบบสอบถามมีประวัติทำร้ายตนเอง อาทิ การชกตีหรือดึงทึ้งผมตนเอง 


โรงเรียนที่หายไป 

ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าการต้องทำงานหรือเรียนจากที่บ้านสร้างภาระหนักให้กับผู้ปกครองแต่เพียงอย่างเดียว เว็บไซต์ระบายความรู้สึกที่พัฒนาขึ้นโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในโตเกียว อย่าง '3Keys' ช่วยสะท้อนความอัดอั้นของวัยเยาว์ที่ถูกสังคมละเลย 

"ฉันไม่มีที่ทางในบ้านของตนเอง ฉันไม่มีเพื่อนสักคนที่สามารถพึ่งพาได้ เมื่อคืนฉันออกไปเดินเตร็ดเตร่ข้างนอกอยู่สามชั่วโมง ฉันไม่รู้ว่าต้องทำยังไง"


"ฉันเหนื่อย ฉันต้องการพัก ช่วยฉันที ฉันต้องการตาย ฉันไม่มีที่ให้เป็นตัวเองหรือให้หนีไป"


"ครอบครัวฉันเข้ากันไม่ได้และฉันก็กำลังทุกข์ทรมาน ในฐานะเด็ก ฉันทำอะไรไม่ได้เลย และฉันต้องอดทนกับสิ่งนี้ แต่มันยากเหลือเกิน"

โมริยามะ ทาเกะ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม 3Keys ชี้ว่า สร้างเว็บไซต์เพื่อระบายความในใจนี้ขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ ที่ไม่ได้ไปโรงเรียนจากโรคระบาด ขณะที่บ้านเองก็ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยอย่างที่หลายคนเข้าใจ 

ไม่นานมานี้ทาเกะยังสร้างพื้นที่สำหรับการพักผ่อนระยะสั้น ที่รวมทั้งสถานที่อาบน้ำและทำความสะอาดเครื่องนุ่งห่มไว้บริเวณย่านชินจูกุ กรุงโตเกียว เช่นเดียวกัน 

4heMlfZp4TDXRKs5FT3nVVY3p4t95CmwL2bAhPn1.jpeg

สำหรับอัตราการฆ่าตัวตายภาพรวมของไทยนั้นมีเทรนด์เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตพบว่า สัดส่วนการฆ่าตัวตายต่อประชากร 100,000 ราย อยู่ที่ 6.03 ราย ในปี 2560 ก่อนจะเป็นกราฟที่พุ่งสูงขึ้นไปแตะ 7.37 ราย ในปี 2563 

ณ ปี 2562 เมื่อแยกตามช่วงอายุพบว่า ช่วงวัยที่มีการฆ่าตัวตายสูงที่สุดสองอันดับแรกคือ วัย 30-39 ปี (21.71%) และ 40-49 ปี (21.21%) รองลงมาคือวัย 50-59 ปี (18.49%) และไล่ลงมาที่กลุ่มอายุ 20-29 ปี (15.10%) ขณะที่ประชากรวัย 10-19 ปี อยู่ที่ 2.51% โดยเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกันในแต่ละปี 

อ้างอิง; NHK, JT