ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดวงเสวนาวิชาการ “ความคิดสันติภาพ ของ ปรีดี พนมยงค์ กับสันติภาพของโลกในปัจจุบัน” เนื่องในวาระครบรอบ 77 ปี วันสันติภาพไทย โดยมีผู้ร่วมเสวนา ดังนี้ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู อดีตประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ และ รัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตและเจ้าของเพจทูตนอกแถว
ตอนหนึ่ง สุลักษณ์ กล่าวว่า วันสันติภาพไทย คือโบว์แดงชิ้นสุดท้ายที่ ปรีดี ได้ฝากไว้ให้พวกเรา ส่วนโบว์แดงชิ้นแรกคือวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันที่เราเปลี่ยนจาก “กษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย” เป็น “กษัตริย์หลุดออกจากอำนาจ“ จนกระทั่งวันที่ 27 มิถุนายน 2475 เป็นวันแรกที่มีธรรมนูญปกครองบ้านเมืองฉบับที่ดีที่สุดที่เรามี สั้นที่สุด ได้สาระที่สุด เพราะปรากฏชัดว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรชาวสยาม ที่ให้พระเจ้าแผ่นดินและราษฎรมีสถานะเท่าเทียมกันในทางกฎหมายทุกอย่างทุกประการ
ส่วนโบว์แดงอีกชิ้นหนึ่งซึ่งไม่ได้รับความสำเร็จนั้น คือ การเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ เพราะ ปรีดี เห็นว่าคนเราเท่าเทียมกันทางกฏหมายนั้นยังไม่พอ แต่ต้องเท่าเทียมทางเศรษฐกิจด้วย คือต้องลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ต้องเป็นรัฐสวัสดิการ ซึ่งเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลสหราชอาณาจักรทำสำเร็จในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การที่เราไปเร็วกว่าเขา ทำให้ ปรีดี ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ก็ไม่ได้ท้อถอย ต่อมา วันที่ 27 มิถุนายน 2477 ปรีดี ได้ก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง”เปิดโอกาสให้คนยากจนและทุกคนได้เข้าเรียน นำความรู้มารับใช้บ้านเมือง การศึกษาจึงไม่ได้ถูกจำกัดไว้เพียงอภิสิทธิ์ชนคนบางกลุ่มเท่านั้น
เมื่อถามว่าคนรุ่นใหม่รับรู้และให้ความสำคัญกับวันสันติภาพไทยและขบวนการเสรีไทยอย่างไรบ้าง สุลักษณ์ ระบุว่า ตนเป็นคนรุ่นเก่าจึงอาจตอบแทนคนรุ่นใหม่ไม่ได้ แต่เราสามารถสร้างจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ผ่านสื่อนอกกระแสหลัก ในเวลานี้ เราจะเห็นได้ว่าไม่ใช่เพียงนิสิตนักศึกษา แต่นักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยม เยาวชนคนหนุ่มสาว ออกมาท้าทายรัฐบาลเผด็จการอย่างสันติประชาธรรม ซึ่งน่าเคารพมาก บทบาทสื่อนอกกระแสหลักจึงสำคัญในการทำให้คนรุ่นใหม่ออกมายืนหยัดในเรื่องสันติภาพและประชาธิปไตย
ขณะที่ รัศม์ กล่าวว่า โดยเนื้อแท้ของการประกาศวันสันติภาพไทยเมื่อ 77 ปีที่แล้วก็เป็นเรื่องของการต่างประเทศ เพราะในตอนนั้นประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สอง สิ่งที่ ปรีดี ได้ทำ ถือว่ามีส่วนสำคัญในการทำให้เรารอดจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม
หลังการปฏิรูปการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมา นโยบายต่างประเทศของไทยก็ได้ถูกวางรากฐานโดย ปรีดี ซึ่งก็ยังดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น การวางตัวเป็นกลาง ที่ว่าประเทศไทยจะต้องมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในเวทีประชาคมโลก และความพยายามในการสร้างการรวมกลุ่มภายในภูมิภาค ซึ่งในปัจจุบันเห็นได้จากการเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน แม้ว่าอาเซียนเองจะยังมีข้อบกพร่องมากมายก็ตาม
อย่างไรก็ดี โลกในยุคปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่ความขัดแย้งใหม่ ระหว่าง “ระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย” กับ ”ระบอบอำนาจนิยม” เมื่อพิจารณาประกอบกับแนวโน้มของโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จะเห็นว่าคะแนนค่านิยมอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้ถดถอยลงอย่างมากแทบทุกพื้นที่ โดยประเทศไทยเองก็ประชาธิปไตยถดถอยเพราะผลพวงจากการทำรัฐประหารและการมีอยู่ของกลุ่มผู้สนับสนุนเผด็จการ ดังนั้น แนวโน้มของการเกิดสงครามที่จะทำลายสันติภาพจึงมีโอกาสสูงในเหล่าประเทศที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหนึ่งในค่านิยมที่โยงเข้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย
ทั้งนี้ นโยบายต่างประเทศที่สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพจริงๆแล้วนั้น ไม่สามารถแยกออกจากการเมืองภายในหรือสถานะของประเทศตนเองได้ หมายความว่า หากการเมืองภายในเรานิ่งและมีความชอบธรรม นโยบายต่างประเทศจึงจะสามารถดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัญหาที่น่าหนักใจในตอนนี้คือการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมาร์
เพราะนอกจากรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันจะมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมในตนเองแล้ว การที่เราผูกยึดโยงหรือคอยแก้ต่างให้กับรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาร์ตลอดเวลานั้น กำลังทำให้เรายืนอยู่ตรงข้ามกับประชาคมโลก ดังนั้น ถ้าเราอยากเห็นนโยบายต่างประเทศที่ดี รวมทั้งสันติภาพเกิดขึ้นอย่างแท้จริง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันฟื้นฟู ผลักดันให้แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยกลับคืนมามีความเข้มแข็งทั้งในประเทศและประชาคมโลก