ไม่พบผลการค้นหา
'ปดิพัทธ์' ก้าวไกลแนะรัฐจัดงบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารเงิน-บุคลากรได้เอง "เทียบจุฑา" เพื่อไทยทวงงบประมาณท้องถิ่นแก้ปัญหาประชาชน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ไม่เห็นอะไรเลยที่เป็นการกระจายอำนาจตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ เนื่องจากระบบรัฐราชการรวมศูนย์ และรัฐบาลยังไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ขณะเดียวกันการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไป 268,824 ล้านบาท เป็นงบฝากโอนถึง 145,922 ล้านบาท เช่น นมโรงเรียน อสม. เบี้ยคนพิการ เบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งใช้ท้องถิ่นเป็นเพียงทางผ่านไปยังส่วนงานต่างๆ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถนำมาใช้จ่ายได้ แถมยังต้องไปแจกจ่ายโดยไม่มีค่าดำเนินการ แต่ถูกคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ท้องถิ่นจะได้รับตาม พ.ร.บ. ที่กำหนดว่าต้องได้รับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 

ยิ่งเมื่อดูตามสัดส่วนจริงที่ท้องถิ่นสามารถนำงบประมาณไปใช้ได้กลับมีเพียงราวร้อยละ 24 อีกทั้งสำนักงบประมาณยังประเมินรายได้ของการปกครองส่วนท้องถิ่นพลาดไปประมาณร้อยละ 10 ทุกปี นั่นหมายความว่ารายรับที่รัฐบาลจะอุดหนุนก็ยิ่งน้อยลงไปอีก 

โดยปีนี้ (2563) จะยิ่งถือเป็นนรกขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จากการเก็บภาษีที่คาดว่าจะได้น้อยกว่าที่คาดถึงร้อยละ 20 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยรวมของประเทศที่จะลดลงกว่าร้อยละ 95 หรือ 3.4 หมื่นล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม รายรับของท้องถิ่นที่ลดไปจำนวนมาก แต่รัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือในการชดเชยรายได้ของท้องถิ่นที่หายไปแม้แต่บาทเดียว ทำให้ตนเห็นว่าตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาเป็นความจงใจที่จะทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ เปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น ที่สัดส่วนรายได้ส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 57.8 จากงบของประเทศทั้งหมด ขณะที่ไทยมีเพียงร้อยละ 29.5 ที่รวมงบฝากโอนไปด้วยจึงยังไม่ใช่ตัวเลขจริง 

ติงจัดสรรงบแบบทำ 'ท้องถิ่นอ่อนแอ' สกัดการส่งเสริมประชาธิปไตย

ดังนั้นการส่งเสริมประชาธิปไตยจึงไม่เป็นผล เพราะท้องถิ่นถูกทำให้อ่อนแอ เป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช.และรัฐราชการรวมศูนย์ ประชาชนจะรู้สึกว่าเลือกผู้บริหารส่วนท้องถิ่นไปแล้วแต่ทำอะไรไม่ได้ ก็เพราะไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล อีกทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงยังไม่ถูกแก้ไข หลายจังหวัดที่ยากจน มีรายได้ต่อครัวเรือนน้อย เช่น เชียงรายที่ยากจน การท่องเที่ยวยังไม่เปิด แถมยังเจอปัญหาไฟป่า แต่กลับได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลน้อยตามไปด้วย

อีกทั้งงบประมาณกองทุนประชารัฐสวัสดิการ 2,647.4 ล้านบาทกลับมาแทรกอยู่ในงบประมาณส่วนท้องถิ่น ทั้งที่อีกมุมหนึ่งคืองบหาเสียง ที่ผิดทั้งหลักการและมารยาท และเคยถูกกรรมาธิการงบประมาณฯ ทักท้วงไปตั้งแต่ปีที่แล้วกลับไม่แก้ไข 

ขณะเดียวกันปัญหาการบริหารคือ นายก อบจ. หรือ อบต. มาจากประชาชน แต่เวลาจะใช้งบประมาณต้องขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมาจากการแต่งตั้งของรัฐ และถ้าจะทำโครงการหรือทำถนนก็ต้องไปขออนุญาตกระทรวงคมนาคม เป็นต้น ขณะเดียวกันยังยกตัวอย่าง นายกเทศบาลต้องการจ้างครูชาวต่างชาติมาสอนหนังสือนักเรียน แต่กลับถูก สตง. เรียกเงินคืนโดยให้เหตุผลว่าโรงเรียนฟรีไม่จำเป็นต้องจ้างครูต่างชาติมาสอนก็ได้ โรงเรียนในจังหวัดพิษณุโลก อากาศร้อน ต้องการจะติดแอร์ให้นักเรียน แต่กลับถูก สตง. เรียกงบประมาณกลับ เพราะให้เหตุผลว่าเป็นโรงเรียนฟรีไม่จำเป็นต้องติดแอร์จะดีกว่า ถ้ารัฐยังเป็นแบบนี้อยู่ท้องถิ่นไม่มีความเจริญ เพราะงบประมาณที่ใส่ไปกับโครงสร้างแบบนี้ ต้องใช้การกระจายอำนาจแก้ปัญหา

5 ข้อเสนอพรรคก้าวไกล

ดังนั้น พรรคก้าวไกล จึงนำเสนอ 5 ข้อเสนอ ดังนี้

1.คืนอำนาจให้ประชาชนโดยการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับทันที ถูกพรากไปตั้งแต่รัฐบาลจนถึงตอนนี้ ปลดผู้บริหารท้องถิ่นแล้วตั้งคนของเขาเข้าไป กฎหมายใหม่กำหนดให้ผู้ว่า กทม. และเมืองพัทยา ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ รัฐบาลควรต้องคืนอำนาจให้กับประชาชน

2.เพิ่มสัดส่วนงบอุดหนุนใหม่ โดยไม่นับงบฝากโอน ชดเชย 3.4 หมื่นล้านที่ล้วงเอาไปจากงบประมาณท้องถิ่น

3.ชดเชยงบประมาณให้ อปท. ในส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

4.ปลดล็อกให้อิสระกับท้องถิ่นในการพิจารณาเงินสะสมของท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความต้องการโดยเร่งด่วนของประชาชน

5.แก้ไขและผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า ให้อำนาจ งบประมาณ และการบริหารบุคคลเป็นของท้องถิ่น นำไปสู่จังหวัดจัดการตนเองได้ 

'เพื่อไทย' ซัดรัฐจัดงบ อปท.น้อยไป ไม่เพียงพอกับภาระหน้าที่ผู้ใกล้ชิดปชช.

ด้าน นางเทียบจุฑา ขาวขำ ส.ส. อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ว่า รายได้ที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเองและรายได้ที่รัฐบาลเก็บให้และแบ่งให้ลดลงจากปี 2563 จำนวน 29,323 ล้านบาท ซึ่งน้อยเกินไปและไม่เพียงพอต่อหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีภาระหน้าที่มากและใกล้ชิดกับประชาชนในการแก้ปัญหาท้องถิ่น โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสจึงสำคัญมากที่จะบูรณาการนโยบายรัฐบาลเข้ากับท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ

ตนจึงขอเสนอว่า 1.จัดงบประมาณเป็นสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นและเพียงพอกับการถ่ายโอนภารกิจ รวมทั้งบริการสาธารณะที่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น และกระจายงบประมาณให้ทั่วถึงไม่กระจุกตัวในเมือง 2.ค่าตอบแทนของ อสม. ไม่ควรเอามารวมเป็นเงินอุดหนุน ทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเสียโอกาส 3.รัฐบาลควรเร่งรัดการแก้ปัญหาภาคการเกษตรและภาคท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น โดยการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหารโลกซึ่งต้องเริ่มต้นจากการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ

ทั้งนี้นางเทียบจุฑา ย้ำว่าการจัดสรรงบประมาณปี 2564 ไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการและแก้ปัญหาให้ประชาชนในท้องถิ่น