ไม่พบผลการค้นหา
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานบอร์ดสภาพัฒน์ มองนโยบายภาษี 'ทรัมป์' กระทบไทย เหตุเป็นหนึ่งในประเทศเกินดุลการค้าสหรัฐ แนะรัฐบาลชูจุดแข็งซอฟต์พาวเวอร์

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปาฐกถาพิเศษ "การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทย" ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 42 ว่า การสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจไทย ต้องแก้ปัญหาที่คั่งค้าง และรับมือความเสี่ยงใหม่ ในความท้าทายของโลก จากนโยบายผู้นำโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง 

โดยปัญหาคั่งค้างของไทยคือ หนี้สิน ประชาชนที่แก่ตัวลงทำให้ GDP ขยายตัวต่ำและแรงงานขาดแคลน คุณภาพการศึกษาถดถอย ภาคเกษตรขาดประสิทธิภาพ โดยใช้แรงงาน 30% ใช้พื้นที่ 40% แต่สัดส่วนต่อ GDP ต่ำ การนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบสูง รัฐบาลขาดดุลงบสูง

และมีปัญหาใหม่ จาก 2 มหาอำนาจคือ จีน-สหรัฐฯ โดยจีน กำลังพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เร่งส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี จะส่งผลกดดันกำลังการผลิตและการส่งออกสินค้าของไทยด้วย

ขณะที่นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีนโยบายและมาตรการกีดกันการค้าชัดเจน โดยเฉพาะประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา รวมถึงไทยที่เกินดุลราว 40,000 ล้านดอลลาร์ เป็นอันดับที่ 12 และขึ้นบัญชีประเทศไทยแล้ว 

ทั้งนี้ สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 10-20% และจะเจรจาเป็นกรณีไป นอกจากนี้ไทย เก็บภาษีศุลกากรนำเข้าเฉลี่ยจากสหรัฐฯ ประมาณ 9.7% อีกทั้ง ไทยสั่งห้ามนำเข้าเนื้อหมู เนื้อวัว โดยอ้างถึงสารเนื้อแดง ทำให้สหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSP ไทยเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา

อีกทั้งยังมี ความเสี่ยงที่จะการเกิดสงครามการค้าโดยรวมของทั่วโลกจะทำให้การค้าหดตัวลง หากเกิดขึ้น จะกระทบกับไทย เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกถึง 50% ของ GDP ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายของสหรัฐฯ คือ ความมั่นคงและดอกเบี้ยกับไทย

ส่วนปัญหาของไทย ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะในระดับสูง และข้อจำกัดของนโยบายการคลัง โดยแนวทางแก้ไขของไทย คือ ต้องทำให้ GDP ของประเทศเติบโตได้อย่างเร็ว ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ต้องพยายามป้องกันภัยคุกคามและปัจจัยใน คือ ความพยายามเพิ่มประสิทธิภาพปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะการนำเข้าพลังงานที่ควบคุมได้ยาก ซึ่งไทยต้องเร่งลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตลอดจนการทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพร่างกาย ที่แข็งแรงและสามารถทำงานได้นานขึ้น หรือเสียชีวิตเร็วเพื่อลดภาระในการดูแล เป็นต้น

ทั้งนี้มีจุดแข็ง ได้แก่ ความคุ้นเคย ชื่อเสียง ธุรกิจและการค้า มรดกทางวัฒนธรรม ผู้คนและค่านิยมของคนไทย อาหารก็ถือเป็นจุดเด่นที่จะต้องพยายามสร้างประสบการณ์และเน้นการให้บริการที่มีมูลค่าสูง

สำหรับภาคบริการ ทุกประเทศในโลกผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักจะปรับเปลี่ยนมาเป็นการพึ่งพาภาคบริการที่มากยิ่งขึ้น เห็นได้จากมูลค่าภาคบริการ เช่น สหรัฐฯ คิดเป็น 70% ของ GDP ขณะที่ประเทศไทย คิดเป็น 58.5% ของ GDP และจีน คิดเป็น 54.6% ของ GDP เป็นต้น

โดยภาคอุตสาหกรรม ต้องพัฒนาในกลุ่มเฉพาะทางและมีความสามารถในการแข่งขัน เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ การผลิตเครื่องมือแพทย์ อาหารเชิงสุขภาพ บรรจุภัณฑ์ เครื่องสำอาง ผ้าไหม แฟชั่นเมืองร้อน ซึ่งต้องพัฒนาคุณภาพให้ตรงความต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น

“ประเทศไทยจะต้องพึ่งพาจุดแข็งด้านซอฟต์พาวเวอร์ ด้วยการแปลงสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน”