ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงผลการดำเนินงานของศาลยุติธรรมในรอบปี 2563 ศาลชั้นต้น-ศาลสูง ทำคดีเสร็จเร็วตามเป้าเวลาได้เกือบ 100% ศาลชั้นต้น-อุทธรณ์-ฎีกา รับฟ้องใหม่กว่า 1.7 ล้านคดี ขณะพบข้อหาที่มีการฟ้องคดีสูงสุด คือ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ รองลงมาสินเชื่อบุคคล

พงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงผลการดำเนินงานของศาลยุติธรรมในรอบปี 2563 และการบริหารงานสำนักงานศาลยุติธรรมพร้อมนโยบายการส่งเสริมงานตุลาการในอนาคต 

โดยการบริหารจัดการคดีช่วงปี 2563 สถิติการพิจารณาพิพากษาคดีนับตั้งแต่เดือน ม.ค.- ธ.ค. 2563 ศาลชั้นต้น ศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลฎีกา ทำคดีเสร็จรวม 1,541,242 คดี จากจำนวนคดีค้างเก่าและคดี รับฟ้องใหม่ทั้งหมด 1,779,789 คดี คงเหลือคดีค้างพิจารณามาในปี 2564 จำนวน 238,547 คดี ซึ่งการบริหารจัดการคดีให้เสร็จสิ้นโดยรวดเร็วเป็นไปตามเป้าหมายของนโยบายการกำหนดระยะเวลาพิจารณาในศาลชั้นต้นที่จะต้องไม่เกิน 2 ปี ซึ่งศาลชั้นต้นดำเนินการได้ตามเป้าหมายถึง 99.93% คดีในศาลชั้นอุทธรณ์ต้องไม่เกิน 6 เดือนทำได้ตามเป้า 97.59% คดีในศาลฎีกาพิจารณาไม่เกิน 1 ปี ทำได้ตามเป้า 96.91% 

สำหรับข้อหาที่มีการฟ้องคดีสูงสุดจากทั่วประเทศ 10 อันดับแรก ได้แก่

  • พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 352,805 ข้อหา 
  • คดีผู้บริโภค เรื่องสินเชื่อบุคคล 234,023 ข้อหา 
  • คดีผู้บริโภค เรื่องบัตรเครดิต 181,205 ข้อหา 
  • คดีผู้บริโภค เรื่องกู้ยืม 141,274 ข้อหา 
  • พ.ร.บ.จราจรทางบก 123,266 ข้อหา  
  • คดีแพ่ง เรื่องขอจัดการมรดก 97,493 ข้อหา 
  • คดีผู้บริโภค เรื่องเช่าซื้อ (รถยนต์) 75,842 ข้อหา 
  • คดีแพ่ง เรื่องค้ำประกัน 56,894 ข้อหา 
  • พ.ร.บ.การพนัน 37,526 ข้อหา 
  • คดีแพ่ง เรื่องละเมิด 35,690 ข้อหา โดยเมื่อเทียบกับปี 2562 พบว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ และคดีผู้บริโภคเรื่องสินเชื่อบุคคล ยังเป็นข้อหาที่มีผู้กระทำความผิดสูงสุด 

ด้านการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา/จำเลยในคดีอาญา ทั้งชั้นฝากขังและ ชั้นพิจารณาคดี สถิติการปล่อยชั่วคราวของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ มีคำร้องยื่นทั้งหมด 237,875 คำร้อง(1 คำร้อง/1 คน) อนุญาตปล่อยชั่วคราว 217,094 คำร้อง คิดเป็น 91.26%  โดยเมื่อเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกาคนที่ 46 เข้ามารับตำแหน่งและได้มอบนโยบาย การบริหารงานศาลยุติธรรมปี พ.ศ.2563-2564 ไว้รวม 5 ข้อ โดยข้อ 2 เรื่องสมดุล คือ การสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิ ได้เน้นย้ำเรื่องลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นทุกขั้นตอน และยกระดับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลยระหว่างการต่อสู้คดีในศาล สำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบ Smart Court เข้ามาช่วยงานตุลาการดังกล่าว รวมทั้งสร้างช่องทางให้ประชาชนเข้าถึง 

กระบวนการยุติธรรมด้านประกันตัวได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว ผ่านการยื่นประกันแบบออนไลน์ด้วยระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม หรือ CIOS (ซีออส) ทางเว็บไซต์ https://cios.coj.go.th หรือสามารถเข้าใช้บริการผ่าน COJ App ที่ยื่นคำขอประกันได้โดยไม่ต้องเดินทางมาศาล สามารถทราบคำสั่งและดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. 2564 ขณะนี้มีการยื่นประกันออนไลน์แล้ว  

แยกเป็นกรณียื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวรวม 45 เรื่อง จำนวน 41 คน ซึ่งทราบคำสั่งแล้วมีทั้งที่อนุญาตและไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และกรณีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว รวม 7 เรื่อง จำนวน 6 คน โดยการยื่นประกันช่องทางนี้เป็นส่วนที่ดำเนินการนอกเหนือจากการที่ผู้ขอประกันจะยื่นเอกสารคำขอประกันได้เองที่ศาลในเขตอำนาจพื้นที่ของคดีนั้น ๆ ได้ทุกวันโดยศาลพิจารณาแบบไม่มีวันหยุด อันเป็นการคุ้มครองสิทธิประกันตัวผู้ต้องหา/จำเลยทุกคนทุกสถานะอย่างเท่าเทียม 

ขณะที่การพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา/จำเลยนั้น ศาลยุติธรรมก็ยังคงใช้กำไล EM เข้ามายกระดับการคุ้มครองสิทธิขอประกันตัวด้วย ซึ่งทุกคนไม่ว่าฐานะใดก็มีสิทธิได้รับการปล่อยชั่วคราว และได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสม ซึ่งรอบปี 2563 มีการใช้กำไล EM จำนวน 6,638 เครื่อง ดังนี้ การให้ประกันชั้นสอบสวน จำนวน 3,543 คดี ชั้นพิจารณา 2,105 คดี ชั้นอุทธรณ์-ฎีกา 990 คดี 


มุ่ง SMART COURT เต็มกำลัง

นอกจากนี้การมุ่งสู่ SMART COURT ศาลยุติธรรมยังนำสื่อดิจิทัลสังคมออนไลน์ อาทิ โปรแกรม ZOOM , Microsoft Teams และแอปพลิเคชั่น LINE มาสนับสนุนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแบบออนไลน์ด้วย ซึ่งการจัดไกล่เกลี่ยออนไลน์ ดำเนินการทั้งกรณีก่อนฟ้องตามกฎหมายใหม่ ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) มาตรา 20 ตรี และกรณีหลังฟ้อง ซึ่งนับตั้งแต่เดือน ก.พ.-ธ.ค.63 พบว่าไกล่เกลี่ยสำเร็จ 30,454 คดี ทุนทรัพย์รวม 14,979,372,822.18 บาท จากทั้งหมด 33,932 คดี คิดเป็น 89.75% โดยระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์ ในอนาคตเราตั้งเป้าหมายที่จะให้ดำเนินการเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 10% ด้วย ซึ่งคู่ความที่ประสงค์จะเข้าไกล่เกลี่ยออนไลน์แบบก่อนฟ้องคดี สามารถยื่นคำขอผ่านระบบ CIOS (ซีออส)  ที่ https://cios.coj.go.th และแบบหลังฟ้องยื่นได้ผ่านระบบ e-Filing Version 3 (อีไฟลิ่ง) ทาง https://efiling3.coj.go.th/eFiling หรือเข้าใช้บริการผ่านทาง COJ App  

ด้านการบริหารงานอำนวยความยุติธรรมให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่ ช่วงปีที่ผ่านมามีการเปิดศาลเพิ่ม ได้แก่ ศาลแขวงเชียงดาว ศาลแขวงกระบี่ ศาลแขวงตรัง ปัจจุบันจึงมีศาลชั้นต้นรวมกับศาลชั้นอุทธรณ์และศาลฎีกาแล้วทั้งสิ้น 283 ศาล นอกจากนี้ยังผลักดันออกกฎหมายใหม่ ระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับ และคำแนะนำของประธานศาลฎีกา เพิ่มอีก 17 เรื่อง เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของศาลยุติธรรมทั่วประเทศด้วย 

ด้านการจัดการระบบรักษาความปลอดภัย และเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือคอร์ทมาแชล (Court Marshal) ปัจจุบันเรามีคอร์ทมาแชลรวมอัตรากำลัง (ชาย-หญิง) ระดับปฏิบัติการทั้งสิ้น 312 นาย จัดให้ประจำที่ศูนย์รักษาความปลอดภัย สำนักงานศาลยุติธรรม (ส่วนกลาง) 57 นาย และจัดสรรไปยังศาลกับสำนักงานศาลยุติธรรมพื้นที่ กทม.- ภูมิภาคอีก 207 แห่ง โดยภารกิจคอร์ทมาแชลปรากฏผลงานดังนี้ สืบสวนติดตามจับกุมบุคคลตามหมายจับ 2,050 หมายจับ ส่วนใหญ่เป็นในคดี พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ รองลงมา เช่น พ.ร.บ.จราจรทางบก ลักทรัพย์ ภารกิจงานสร้างระบบและมาตรการรักษาความปลอดภัยผู้พิพากษา ทรัพย์สินของศาลและสำนักงานยุติธรรม จำนวน 263 ครั้ง อาทิ รักษาความปลอดภัย การพิจารณาคดีความมั่นคง คดีสำคัญและเป็นที่สนใจของประชาชน และป้องกันเหตุกรณีมีผู้ต้องขังรายสำคัญที่ต้องระมัดระวังการควบคุม ด้านสถิติเหตุไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นภายในศาลตามแผนควบคุมภาวะฉุกเฉิน (Emergency Plan) พบเหตุเกิดขึ้น 174 ครั้ง เช่น พกสิ่งของต้องห้าม ผู้ต้องหา/จำเลยพยายามหลบหนี บุกรุกพื้นที่หวงห้าม ขับรถที่ลักเข้ามาในศาล โดยมาตรการจัดการกับเหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าวมีทั้งการตั้งสำนวนคดีละเมิดอำนาจศาล และส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี ตามเหตุผลความจำเป็นในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าวให้เพียงพอต่อจำนวนศาลหรือสำนักงานศาลยุติธรรมแต่ละแห่ง ในปีงบประมาณ 2565-2567 จึงมีแผนที่จะขอรับคอร์ทมาแชลเพิ่มอีก 871 นาย (กรอบอัตราทั้งหมด 1,180 นาย)  

นอกจาก ภารกิจอำนวยความยุติธรรมแล้ว สำนักงานศาลยุติธรรม ยังเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ควรสอดแทรก กระจายความรู้ทางกฎหมายเบื้องต้นให้ไปสู่ภายนอกด้วยเพื่อจะรับทราบถึงสิทธิของตน และปกป้องสิทธิอาจถูกละเมิดได้ ที่ผ่านมาจึงได้ดำเนินกิจกรรมทั้งการตอบปัญหากฎหมายระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษา, โครงการค่ายต้นกล้าตุลาการที่เปิดโอกาสนักเรียนมัธยมศึกษาเรียนรู้ด้านกฎหมายที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวันและทักษะมุ่งสู่การเป็นนักกฎหมาย/ผู้พิพากษา ซึ่งจัดมาแล้ว 10 รุ่น จำนวน 1,244 คน โดยปีงบประมาณ 2564 กำลังรับสมัครรุ่นที่ 11 จนถึงวันที่ 5 ก.พ.นี้, โครงการเยาวชนไทยหัวใจเดียวกันซึ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนอายุ 15-18 ปี พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการอบรมให้ความรู้ สิทธิหน้าที่ด้านกฎหมายของเด็กและเยาวชน รวมถึงกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ก็จัดอบรมมาแล้ว 7 รุ่น จำนวน 847 คน

โดยขณะนี้กำลังติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดก่อนว่าจะจัดรุ่นที่ 8 ได้ในช่วงเดือนใด นอกจากนี้ยังมีการจัดหลักสูตรอบรมสื่อมวลชน (สศย.) ด้วย เพื่อให้สื่อมวลชนได้รับทราบข้อปฏิบัติในศาล รวมทั้งข้อกฎหมายที่ควรระมัดระวังในการนำเสนอข่าว-ภาพข่าว ไม่ละเมิดบุคคลอื่น ขณะเดียวกันสำนักงานศาลยุติธรรมก็จะดำเนินการเผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ให้มากยิ่งขึ้นเพื่อสนับสนุนนโยบายของประธานศาลฎีกาที่ให้ศาลยุติธรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ขั้นตอนการดำเนินงานของศาลยุติธรรมอย่างเข้าถึงและเข้าใจ ให้เป็นรูปธรรมได้โดยเร็วด้วย