ไม่พบผลการค้นหา
อ่านความคิด ‘แสนปิติ สิทธิพันธุ์’ หรือ ‘แสนดี’ บุตรชายเพียงคนเดียวของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าฯ กทม. หัวใจ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” หลังครบรอบ 1 ปี การเรียนจบในระดับปริญญาตรี ด้านประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) สหรัฐอเมริกา จนเดินทางกลับมายังประเทศไทย เพื่อเรียนรู้และตามหาเป้าหมายต่อไปในชีวิต

‘วอยซ์’ เดินทางสู่ร้านหนังสือก็องดิด (Candide Books & Café) ย่านคลองสาน พูดคุยกับ ‘แสนดี’ หนอนหนังสือผู้ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ ถึงบทเรียนสำคัญที่ประวัติศาสตร์ได้สอนไว้ มุมมองต่อการเมืองไทย และการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเติบโต ผ่าน #ExclusiveVoice

แสนดี no logo 5.jpg

‘แสนดี’ ในวัยเด็ก 

ผมเป็นเด็กที่มีพลังล้นมาก ค่อนข้างดื้อ แล้วก็ซนมากๆ ไม่ค่อยทำอะไรถูกใจใครเท่าไหร่ แล้วก็ชอบหยอกล้อ แกล้งคนไปเรื่อย เรียกได้ว่าเป็นเด็กแสบคนหนึ่งเลย ตามประสาคนรักความสนุก มีความซุกซนโดยธรรมชาติ ผมชอบหยอกคนอื่นเล่น แต่บางครั้งก็เล่นแรงไปเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าผมทำตัวไม่ดีหรืออะไร อย่างครั้งหนึ่ง ผมเคยทำกรรไกรบาดเพื่อนจนเป็นแผล โดนพ่อแม่ด่าเละเลย (หัวเราะ) แต่นั่นมันก็เป็นตัวตนของผม

ตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ชอบซื้อหนังสือให้ผมอ่าน เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ กองทัพ อาวุธ เครื่องบิน รถไฟ ทุกอย่าง ที่จะมีภาพประกอบกับรายละเอียดต่างๆให้ ผมว่าความรักการอ่านของผมเริ่มจากตรงนั้น ผมชอบดูรูปภาพ เพราะตอนนั้นยังอ่านหนังสือไม่ออก แต่พอโตขึ้นผมก็เข้าใจทุกอย่างนะ 

โดยธรรมชาติ ผมเป็นคนที่เรียนรู้สิ่งต่างๆผ่านการมองเห็น ผมทำความเข้าใจสิ่งต่างๆผ่านภาพ เพราะผมว่าการอ่านตัวหนังสือมันน่าเบื่อมาก ผมสามารถจำรายละเอียดเฉพาะบนแต่ละหน้ากระดาษได้ อย่างพวกบทความที่ผมเคยเขียนในอดีต จำได้ถึงเนื้อหาหรือสำนวนที่ใช้ แล้วผมก็สามารถอ่านหนังสือหนา 600 หน้า จบได้ใน 1-2 ชม.ด้วย ไม่ใช่ว่าเพราะรีบหรืออะไร แต่ผมว่าสมองผมประมวลผลเร็วกว่าคนอื่น มันเลยมีข้อมูลเต็มไปหมด

ตอนแรกผมก็ไม่ได้รักการอ่านหรอก มองว่ามันน่าเบื่อ เหมือนเป็นสิ่งที่ต้องทำเวลาเรียน แต่ผมฝึกฝนตัวเอง บังคับตัวเองให้อ่านหนังสือ ส่วนพ่อผมเป็นนักอ่านอยู่แล้ว อ่านหลายอย่างเลย เขาจึงเป็นคนรอบรู้ ผมก็ได้ความกระหายใคร่รู้มาจากเขา

หนังสือที่ผมอ่านส่วนมากจะเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องสงคราม การสู้รบต่างๆ สงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 ความสนใจก็คงเริ่มจากจุดนี้ ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ผมรู้และสนใจมาโดยตลอด เลยรู้ตัวว่าอยากเรียนด้านนี้ ผมไม่ได้สนใจคณิตศาสตร์หรือวิชาอื่นเลย มันไม่จับใจผมเท่าไหร่ เพราะผมมีเรื่องที่สนใจอยู่แล้วในตอนนั้น 

แสนดี no logo 4.jpg

อะไรคือเสน่ห์ของประวัติศาสตร์ 

ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องการจดจำวันที่ แน่นอนว่าตอนเรียนมันต้องจำ ทั้งวันที่ ทุกอย่าง ทำไมเหตุการณ์นี้จึงเกิดขึ้น แต่สำหรับผม มันเป็นเรื่องการอธิบายความสัมพันธ์ของตัวเรากับโลก ว่าเรามองโลก คนอื่น หรือสังคมอย่างไรมากกว่า มันสำคัญที่จะต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์หนึ่งส่งผลกระทบต่อใครอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะคนธรรมดา อภิสิทธิ์ชน หรือคนอื่นจากหลากหลายกลุ่ม

เพราะเหตุการณ์เดียวสามารถส่งผลกระทบต่อใครหลายคนที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ต่างกัน เช่น สงครามส่งผลกระทบต่อคนเยอะมาก ทั้งผู้ลี้ภัย กองทัพ ประชาชน นักการเมือง ทุกคนล้วนเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุการณ์เดียวกัน การพูดถึงชีวิตที่สูญเสียไปก็เป็นสิ่งสำคัญ หลายคนอาจจะยึดติดการพูดถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจหรือต้นทุนทางการเมือง แต่ชีวิตที่สูญเสียไปสำคัญที่สุด เพราะมันสอนให้เรามีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สอนให้เราไม่ลืม บางครั้งเรากลับลืมที่จะจดจำเรื่องเล็กๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดด้วยซ้ำ หนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่มมองข้ามตรงนี้ไป

แล้วผมว่าการศึกษาศาสตร์แขนงอื่นก็สำคัญนะ เอามาผนวกกับประวัติศาสตร์ มันย่อมดีกว่าการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างเดียว แต่ควรดึงเรื่องอื่นๆเข้ามาด้วย เช่น สังคมวิทยา ชาติพันธุ์วิทยา ปรัชญา รัฐศาสตร์ นิเวศวิทยา เศรษฐศาสตร์ เรียกได้ว่าประวัติศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่มีความลื่นไหลมาก   

ประวัติศาสตร์สอนให้เราใจกว้างมากขึ้น ทำให้คนต้องคิดนอกกรอบ เผชิญหน้ากับความเห็นต่าง เราไม่สามารถเป็นคนใจแคบได้ เพราะคนอื่นก็มีความเห็น แนวคิด หรือวิธีมองประวัติศาสตร์ที่ต่างออกไป เราก็ต้องเคารพตรงนั้น

มันเป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ ไม่ว่าในฐานะผู้เรียนอย่างผม หรือคนทั่วไป เราต่างมีการตีความที่ต่างกัน เราแค่พยายามฟังกันและกันเพื่อนำไปสู่ฉันทามติบางอย่าง ผมว่ามันทำให้สังคมดีขึ้นได้

ปัญหาของสังคมทุกวันนี้ คือคนพยายามถกเถียงกันตลอดเวลาเพื่อเอาชนะ “ความเห็นของฉันดีกว่าเธอนะ” บางคนเถียงเพื่อต้องการโน้มน้าวใจคนอื่น ซึ่งเราไม่ควรทำแบบนั้น แต่ควรพูดคุยกับคนอื่นเพื่อฟังความเห็นของพวกเขา ทำให้พวกเขารู้สึกถูกรับฟัง เพื่อที่จะเข้าใจจุดยืนของพวกเขา คือคุณอาจจะไม่ได้ชอบเขาหรอก แต่คุณต้องอดทนอดกลั้นต่อความเห็นเขาต่างหาก


มองประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างไร

ผมว่าช่วงเวลาสิบปีที่ผ่านมาสำคัญนะ เห็นได้จากผลของการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นว่า มันถึงเวลาแล้วสำหรับความเปลี่ยนแปลง เราไม่สามารถจมอยู่กับสิ่งเดิมได้ตลอดไป สิบปีที่ผ่านมา เราได้เห็นช่วงเวลาของการทำรัฐประหาร ซึ่งไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย มันยังคงมีแต่สิ่งเดิม แต่ผมว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องการ พวกเขาต้องการความเปลี่ยนแปลง อยากมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อยากเห็นอะไรหลายๆ อย่างในชีวิตดีขึ้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาเลือกพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งนี้

ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ผมพยายามไม่ออกสื่อเท่าไหร่ แล้วก็พยายามไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองด้วย แต่พอมีการเลือกตั้ง ผมมองว่าตัวเองก็มีสิทธิมีเสียง จึงควรทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย ซึ่งมันเป็นสิทธิและหน้าที่ของผมในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง ที่ควรจะทำให้เสียงของผมถูกรับฟัง เราไม่สามารถปล่อยให้นักการเมืองคิดทุกอย่างแทนได้ แต่ต้องลงมือทำทุกอย่างให้ชัดเจนเอง แล้วการเมืองตอนนี้ก็ดูไปในทิศทางที่ดีนะ 

ความเปลี่ยนแปลงมันต้องเกิดขึ้น เพียงแค่มันต้องเกิดจากล่างขึ้นบน ซึ่งเราจะทำไม่สำเร็จเลยหากไม่มีประชาชน เจตนารมณ์ของประชาชนจึงต้องได้รับการเคารพ
แสนดี no logo 6.jpg

แสนดี no logo 7.jpg

แนะนำหนังสือน่าอ่าน

“The Alchemist” โดย Paulo Coelho : เล่มนี้ผมอ่านไปเป็นพันรอบได้ เป็นนิยายเกี่ยวกับการค้นหาตัวตน การเดินทางแสวงหาจิตวิญญาณ รู้สึกว่ามันสะท้อนตัวเองดี เพราะผมยังรู้สึกหลงทางกับชีวิตอยู่พอสมควร ผมยังพยายามตามหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำ สิ่งที่ทำได้ ความสามารถ หรือศักยภาพที่ผมมี หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเหมือนเครื่องมือนำทางไปสู่การค้นพบตัวเอง รวมถึงวิธีทำให้ผมเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม

“Napoleon the Great” โดย Andrew Roberts : เล่มนี้เป็นความชอบส่วนตัวของผมต่อจักรพรรดินโปเลียน บทที่ว่าด้วยสงครามนโปเลียนเป็นตอนที่ผมชอบที่สุด อ่านมาตั้งแต่เด็กแล้ว หนังสือเล่มนี้ดีนะ เหมาะกับคนที่อยากเริ่มต้นศึกษาประวัติศาสตร์ สิ่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์มากของหนังสือสารคดีแบบนี้ คือพวกแหล่งอ้างอิงที่เราสามารถตามไปอ่านหนังสือเล่มอื่นต่อได้ โดยไม่ต้องไปเสียเวลาสืบค้นเอง หนังสือประเภทนี้เลยเป็นเครื่องมือทางวิชาการที่ดีมาก

“Nonviolent Communication” โดย Marshall B. Rosenberg เป็นหนังสื่อที่พ่อผมแนะนำให้อ่านช่วงกำลังอกหัก มันช่วยให้ผมผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ และยังสอนเราเกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วยว่า การกระทำหรือคำพูดของเราย่อมส่งผลต่อคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นวัจนภาษา หรือ อวัจนภาษาก็ตาม น้ำเสียงที่ใช้ในการเข้าหาคนอื่นก็สำคัญมากเช่นกัน ทำให้ผมตระหนักอยู่เสมอว่าตัวเองกำลังพูดหรือปฏิบัติตัวแบบไหนกับคนอื่น

“Very Bangkok : In the City of the Senses” โดย Philip Cornwel-Smith ก็ตามชื่อเลย ในฐานะคนที่มีพ่อเป็นผู้ว่าฯ ผมได้หนังสือเล่มนี้มานานมากแล้วนะ ตั้งแต่ตอนยังเป็นนักศึกษาฝึกงานอยู่ที่ Khaosod English มีเพื่อนร่วมงานให้มา หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับกรุงเทพโดยละเอียด โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรม เพราะผมรู้สึกว่าตัวผมเป็นชาวต่างชาติในประเทศบ้านเกิดตัวเองเสียด้วยซ้ำ ผมเป็นคนไทยที่ไม่ได้พูดภาษาไทย ขนบธรรมเนียมหรือประเพณีบางอย่างเป็นสิ่งแปลกมากสำหรับผม ผมเลยต้องค่อยๆ ทำตัวให้คุ้นเคยกับแนวปฏิบัติหรือความเชื่อต่างๆ คือต้องเรียนรู้ใหม่ตั้งแต่ต้นอีกครั้ง เรียนรู้กระบวนการในการเป็นคนไทย 

ถ้าให้ยกตัวอย่าง ผมว่าเรารู้จักคำนี้กันดีมาก “เกรงใจ” ซึ่งในภาษาอังกฤษเราไม่มีคำความหมายเดียวกันกับคำนี้ ผมพยายามไปหาดูนะ แต่คิดว่ามันใกล้เคียงกับคำว่า “considerate”  มากที่สุด แปลว่า “คิดถึงความรู้สึกคนอื่น” ไม่ทำร้ายความรู้สึกเขา ซึ่งในสังคมตะวันตกเราไม่ค่อยเห็นอะไรแบบนี้เท่าไหร่ บางครั้งที่อเมริกา คนจะมีความตรงไปตรงมามาก ในยุโรปก็เป็นแบบนั้น คนที่นั่นเขาซื่อตรงกันมาก ผมเลยรู้สึกว่าตัวเองมีความเป็นคนตะวันตกมากกว่า ไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นคนไทยเท่าไหร่  

หรืออีกกรณีหนึ่ง อย่างเวลาผมชวนเพื่อนๆ มากินข้าวเย็นด้วยกัน แล้วผมพยายามจะชวนคนอื่นมาเพิ่ม เพราะเพื่อนในกลุ่มอยากให้ชวนมาด้วย กลายเป็นว่าเพื่อนที่ถูกชวนเขาปฏิเสธ แล้วมาบอกทีหลังว่า รู้สึกเสียดาย ทั้งที่อยากไปกินข้าวด้วยแต่แรก เขาบอกว่า รู้สึกลำบากใจที่พูดปฏิเสธไป ทั้งที่ไม่ได้อยากตอบแบบนั้น


ทำไมคนไทยถึงกลัวการพูดปฏิเสธขนาดนั้น 

เพราะพวกเขาใจดีกันมาก มีความใส่ใจคนอื่น ผมว่าคนไทยไม่ค่อยมองว่าตัวเองมาก่อนคนอื่นสักเท่าไหร่ นั่นคือมุมมองของผมนะ คนอื่นอาจจะคิดไม่เหมือนกันก็ได้ ซึ่งนั่นคือความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมที่ชัดเจนมาก ตอนผมอยู่ต่างประเทศ ผมไม่ค่อยเจออะไรแบบนี้มากเท่าตอนกลับมาอยู่ไทย ตัวผมเรียนจบมัธยมจากโรงเรียนนนานาชาติ ก้ไม่ค่อยได้เห็นอะไรแบบนี้ 

อีกอย่าง คนไทยมีความเป็นทางการสูงเมื่อเทียบกับคนตะวันตก คนตะวันตกจะสบายๆ เป็นกันเองมากเวลาคุยกัน แต่คนไทยจะมีเรื่องลำดับชั้นทางสังคมหรือความอาวุโสเข้ามาเกี่ยวด้วย ตอนอยู่ที่อเมริกา เรามีสมาคมนักเรียนไทยอยู่ในมหาวิทยาลัย ทุกคนจะมีระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ซึ่งที่อื่นในอเมริกา ผมก็ไม่เห็นว่ามีนะ แต่ที่ไทยยังมีระบบแบบนี้อยู่ เชื่อไหม ผมไม่ชินเลย กับการที่คนมาเรียกผมว่า “พี่แสนดี” รู้สึกเป็นคนแก่มาก เหมือนเป็นลุงเลย (หัวเราะ)

แสนดี no logo 2.jpg


การเมือง คือ การเติบโต  

ช่วงนี้มีแต่คนมาถามว่า “สนใจเล่นการเมืองไหม” เอาจริง ผมไม่รู้ คือผมก็พิจารณาเรื่องนี้อยู่ โดยเฉพาะการเป็น ส.ส. ผมยังอายุไม่ถึงหรอก แต่ก็ไม่ปิดกั้นโอกาส ไม่ลองก็ไม่รู้

ผมว่าการเมืองเป็นเรื่องของการเติบโต ว่าคุณจะเติบโตไปเป็นคนแบบไหน อย่างพ่อผมก็เติบโตอย่างมากจากการเป็นนักการเมืองมาตลอด 15 ปี ตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีช่วยฯ กระทรวงคมนาคม ตอนปี 2555 เขาไม่มีประสบการณ์เลย เขียนสุนทรพจน์ก็ไม่เป็น ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการเมืองเลย เป็นนักวิชาการมาจากภาคเอกชน แต่เขาก็ได้เติบโต ได้พัฒนาทักษะหลายอย่างเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น การเมืองจึงเป็นเรื่องของการเติบโตสำหรับผม ไม่ใช่แค่ตัวผมคนเดียว แต่หมายถึงทั้งประเทศไทยเลย เพราะมุมมองของเราเปลี่ยนได้เสมอ มันเป็นพลวัต เราคงไม่ได้คิดแบบเดิมเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี แค่เราเปิดใจให้กว้าง เผชิญหน้ากับความเห็นที่แตกต่าง คุณค่าที่เรายึดถือย่อมเปลี่ยนได้ เพราะงั้น ทำไมผมจะไม่ลองดูละ 

ในอนาคต ถ้าผมเรียนภาษาไทย มันอาจจะกลายเป็นจุดแข็งก็ได้นะ คือผมคิดเรื่องนี้มาตลอด ว่าจะเรียนภาษาไทย ผมต้องเรียนเพราะรู้สึกว่ามันเป็นจุดอ่อนที่มี ซึ่งผมรู้สึกว่าตัวเองมีจุดอ่อนหลายอย่าง และจุดอ่อนที่ชัดที่สุดคือผมเป็นคนไม่มั่นใจ ไม่เชื่อมั่นในตัวเองเท่าพ่อผม อยากเป็นแบบนั้นให้ได้อยู่ จุดอ่อนอีกข้อ คือ การพูดในที่สาธารณะ ผมพูดในที่สาธารณะไม่ได้เลย สัมภาษณ์ทำได้ แต่ไม่ใช่พูดในที่สาธารณะ ผมตื่นเวที 

ชีวิตมันเต็มไปด้วยความท้าทาย ผมเคยพูดไว้ในบทสัมภาษณ์หนึ่งว่าชีวิตก็เหมือนสายน้ำ แค่ปล่อยให้มันไหลไป แต่หลายปีที่ผ่านมา ผมเพิ่งเข้าใจว่าชีวิตมันไม่ได้เป็นแบบนั้น ผมว่าชีวิตมีขึ้นและลง เหมือนเวลาเล่นโยโย่ คุณจะต้องขึ้นและลง ไม่ได้อยู่บนเส้นทางเดิมหรือหยุดนิ่ง แต่คุณจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เมื่อได้เจอคนใหม่ๆ คุณจะถ่อมตัวลง ความเป็นจริงมันจะต่างออกไปเสมอ


เป้าหมายสูงสุดของชีวิต

เป้าหมายสูงสุดของผม คือ การที่เป็นตัวของตัวเองไปเรื่อยๆ คืองี้ ความตั้งใจผมมันเปลี่ยนได้ตลอด ผมเคยคิดอยากเป็นนักข่าวมาตั้งนาน จนมารู้ตัวว่าไม่ใช่ทาง ตอนเกิดการชุมนุมปี 2563 ผมเลยเบนเข็มไปสนใจเรื่องนโยบายสาธารณะ สมัครเรียนต่อปริญญาโทด้านนี้ มหาวิทยาลัยก็ตอบรับ แต่ผมปฏิเสธที่จะเข้าเรียนไป เพราะรู้สึกว่ายังไม่พร้อม ยังไม่มีประสบการณ์ ต้องออกไปใช้ชีวิตให้รู้จักโลกมากกว่านี้ ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้ ผมยังเด็กอยู่มาก 

อันนี้ผมขอพูดเผื่อไปถึงคนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับผมนะ พวกเขารู้สึกถูกกดดันจากสังคมกันมาก ทุกคนรู้สึกรีบร้อนที่จะต้องตัดสินใจอะไรต่างๆในชีวิต สังคมต้องการให้พวกเราทำตามเงื่อนไข แบบถ้าอายุ 25 ต้องมีงานทำ อายุ 30 ต้องแต่งงาน เหมือนกับว่ามีเส้นตายหรือบทสรุปไว้ให้ เราเลยรู้สึกว่ามันบีบรัดและตายตัวมาก ซึ่งผมทนต่อความรู้สึกนั้นไม่ได้ 

ผมต้องการเป็นอิสระ ไม่อยากเป็นเหมือนนกที่ถูกขังอยู่ในกรงไว้นาน อยากปล่อยชีวิตไปตามวิถีของมัน ตราบใดที่นกในกรงยังส่งเสียงร้องได้ คุณก็ยังออกจากพื้นที่ปลอดภัยของคุณได้เช่นกัน

ยังมีอีกหลายอย่างที่ผมอยากเรียนรู้ อบขนม ทำไอศกรีม เขียนบทกวี ท่องเที่ยว ผมอยากทำไปหมดทุกอย่าง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกมีอภิสิทธิ์มาก ผมรู้ตัวดีว่าตัวเองมีอภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่น ผมอยู่กับมันมาทั้งชีวิต เหมือนอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ แต่เพราะว่าผมรู้ตัว ผมเลยอยากทำตัวให้ดีขึ้นกว่านี้ ไม่ใช่แค่ต่อตัวเอง แต่กับคนอื่นในชีวิตด้วย.

แสนดี no logo 3.jpgแสนดี no logo 8.jpg

ภาพ : วิทวัส มณีจักร


ฉายฉาน คำคม
นักข่าวการเมืองภาคสนามสองภาษา เขียนข่าวต่างประเทศบ้างบางเวลา เป็นทาสแมว ชอบกินช็อกมิ้นท์
23Article
0Video
0Blog