ไม่พบผลการค้นหา
ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับ ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ ที่ผ่านประชามติแบบห้ามรณรงค์คัดค้านช่างยากเย็น การแก้ไขทั้งฉบับโดยการตั้ง ส.ส.ร.ถูกปิดตาย สุดท้ายกลางปี 2564 ช่วงที่พรรคพลังประชารัฐยังไม่แตก สภาสามารถผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จประเด็นเดียว โดย ส.ว.-รัฐบาลไม่ขวาง นั่นคือ ระบบเลือกตั้ง เปลี่ยนมาใช้บัตร 2 ใบ ส.ส.เขตใบหนึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อใบหนึ่ง
  • ตามขั้นตอนของกฎหมายกว่าจะผ่านวาระ 3 นำขึ้นทูลเกล้าฯ มีผลบังคับใช้ก็เข้าสู่ปลายปี 2564 การแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้ง มีผลให้ต้องแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 2 ฉบับ คือ การเลือกตั้ง ส.ส. กับ พรรคการเมือง โดยฉบับแรกเป็นหัวใจหลักที่มีการถกเถียกันมาก ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ เมื่อแล้วเสร็จจากชั้นนี้ก็จะให้ ส.ส.-ส.ว.โหวตในวาระ 2 และ 3 ต่อไปหลังจากเปิดประชุมสภากันในเดือนพ.ค.
  • ประเด็นที่เพิ่งพ่ายแพ้ไปสดๆ ร้อนๆ ในชั้นกรรมาธิการ (30 มี.ค.65) คือ บัตร 2 ใบจะเป็นเบอร์เดียวกันเหมือนที่ผ่านมา (ยกเว้นการเลือกตั้งปี 2550 ที่ออกแบบพิศดารและวุ่นวายมาก) หรือจะเป็นคนละเบอร์ แน่นอน ฝ่ายที่เปิดหน้าว่าอยากได้คนละเบอร์ อ้างว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็คือ เหล่า ส.ว. และ ส.ส.พลังประชารัฐ
  • หากดูคะแนนการโหวต ดูเหมือนเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับ “เนื้อหาสาระ” มากเท่ากับคณิตศาสตร์ว่าใครมีที่นั่งในกรรมาธิการมากย่อมโหวตชนะ โดยที่นั่งในกรรมาธิการนี้ก็คำนวณจากสัดส่วนที่นั่งรวมในรัฐสภา นั่นทำให้ ส.ว.กลายเป็น ‘พรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุด’ โดยมีสัดส่วนที่นั่งใน กมธ. 14 คน ครม.มี 8 คน เพื่อไทย 8 คน พลังประชารัฐ 6 คน ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ก้าวไกล พรรคละ 3 คน พรรคเล็ก 3 พรรคได้โควตาพรรคละคนรวมเป็น 3 คน
  • การโหวตครั้งนี้ ไม่นับประธานที่งดออกเสียงและคนขาดประชุมอีก 2 คน จะพบว่า กมธ.ฝ่ายรัฐบาลรวมกันอย่างเหนียวแน่น 32 เสียงโดยมาจาก ส.ว. 14 เสียง ครม.7 เสียง พลังประชารัฐ 5 เสียง ภูมิใจไทย 3 เสียง ประชาธิปัตย์ 1 เสียง ชาติไทยพัฒนา 1 เสียง เศรษฐกิจไทย 1 เสียง ส่วน กมธ.ฝ่ายค้าน 14 เสียง ประกอบด้วย เพื่อไทย 8 เสียง ก้าวไกล 3 เสียง เสรีรวมไทย 1 เสียง รวมถึงเสียงจากประชาธิปัตย์ที่แบ่งมาให้ 2 เสียง
  • ถ้าว่ากันในเนื้อหาสาระจริง แม้แต่หน่วยงานที่มีหน้าที่ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.โดยตรง คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังเห็นว่าบัตร 2 ใบใช้เบอร์เดียวกันนั้น สะดวกต่อทุกฝ่ายทั้ง ประชาชน พรรคการเมือง และ กกต. เอง ตอนยกร่างมาทีแรกก็ให้เป็นเบอร์เดียวกัน แต่เมื่อผ่าน ครม. มันถูกปรับแก้โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาในหลายจุด จุดหนึ่งคือ บัตรสองใบใช้คนละเบอร์
  • “ในการยกร่าง เราได้คำนึงถึงหลักการที่มีมาแต่เดิมในการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2544  2548  2554 ที่เป็นบัตรเบอร์เดียวกันทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ เมื่อมีโจทย์กำหนดมาในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วต้องออกแบบ เรามองไปถึงหลักการเดิมจึงมุ่งไปที่บัตรสองใบแต่หมายเลขเดียวกัน แต่เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่ามันอาจขัดกับมาตรา 90 กกต.ก็จำต้องมีความเห็นไปในทางของกฤษฎีกา แต่ในการบริหารจัดการ หมายเลขเดียวกันบริหารจัดการง่าย ประชาชนคุ้นชิน” ตัวแทนจาก กกต.ชี้แจงในที่ประชุมกรรมาธิการ  
  • ถามว่า กฤษฎีกาคือใคร กฤษฎีกามี 14 คณะ คณะที่ 1 ผู้ที่เป็นประธานคือ มีชัย ฤชุพันธุ์ คนเดียวกับที่เป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญ 2560 นี้เอง
  • ข้ออ้างเรื่องจะขัดกับรัฐธรรมนูญ ม. 90 นั้น สมชัย ศรีสุทธิยากร หนึ่งใน กมธ.คนนอกประกาศกร้าวในที่ประชุมว่า ที่มันวุ่นวายให้ต้องเถียงกันแบบนี้ก็เพราะพวก ส.ส.แก้รัฐธรรมนูญกันไม่สะเด็ดน้ำราวกับวางหมากไว้เอง การแก้ระบบเลือกตั้งเป็นบัตร 2 ใบที่จริงต้องแก้รัฐธรรมนูญ 6 มาตรา แต่สภาแก้เพียง 3 มาตรา ดังนั้น “เรียนผูกก็ต้องเรียนแก้” โดยมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ดีต่อพรรคการเมืองทุกพรรค นั่นก็คือ บัตร 2 ใบใช้เบอร์เดียวกัน
  • การเป็นเบอร์เดียวกันทั้ง ส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นด้วยทั้งนั้น พรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทยอธิบายหลายรอบว่า ประชาชนจำง่าย ส.ส.ในพื้นที่หาเสียงสะดวก ไม่ต้องคอยกังวลว่าประชาชนจะสับสน บอกเบอร์ตัวเองด้วย บอกเบอร์พรรคด้วย เดี๋ยวประชาชนกาผิดบัตรก็จะกลายเป็นโหวตให้พรรคคู่แข่งในพื้นที่
  • สุขุมพงษ์ โง่นคำ อดีต ส.ส.เพื่อไทย หนึ่งใน กมธ.ระบุว่า มันเคยเกิดความสับสนเช่นนี้ขึ้นมาแล้วเมื่อการเลือกตั้งปี 2550 ส.ส.เขตของเพื่อไทยได้คะแนนสูงมากทิ้งห่างคะแนนพรรค คาดว่าประชาชนอาจกาผิด และไม่ว่าจะอย่างไร พรรคการเมืองต่างๆ ต่างเห็นร่วมกันจนกระทั่งมีมติเอกฉันให้แก้ไขระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบและใช้หมายเลขเดียวกันทั้งการเลือกส.ส.เขต และเลือกพรรค (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
  • ขณะที่ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.ก้าวไกล หนึ่งในกมธ.ระบุว่า การที่ กมธ.ต้องมาแก้ปัญหาเรื่องหมายเลขกัน เพราะเกรงขัดมาตรา 90 หลายส่วนได้เสนอทางออกไว้แล้ว เป็นเพียงเรื่องการจัดการเท่านั้น เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญต้องการให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง หากกำหนดให้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเป็นคนละหมายเลข แทนที่พรรคการเมืองจะใส่ใจแคมเปญนโยบาย แทนที่จะเน้นเรื่องดีเบตในเนื้อหาสาระ พรรคการเมืองกลับต้องมาแข่งขันกันว่าประชาชนจะจำเบอร์ใครได้ จำเบอร์ใครไม่ได้ บรรยากาศการแข่งขันจะไม่สร้างสรรค์
  • “ประชาชนที่ส่งเสียงมา ไม่มีใครสักเสียงที่ต้องการความสับสน ความสับสนนี้เห็นได้ชัดในการเลือกตั้ง อบจ.ที่ผ่านมา ที่ผู้สมัครสมาชิก อบจ.อิสระ ที่ไม่ส่งนายกฯ กลับได้คะแนนมาก เพราะเป็นเบอร์เดียวกันกับนายก อบจ. ของอีกกลุ่มหนึ่ง เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นซ้ำ ส่วนโหวตเตอร์ก้าวไกลไม่ต้องห่วง เบอร์ไหน เขาก็กาได้ จำได้ แต่ผมคิดถึงองค์รวมของทั้งประเทศว่ามันจะวุ่นวายที่สุด แม้แต่ผู้ชนะผู้แพ้ก็จะมีแต่ข้อกังขาเต็มไปหมดว่าตัวเองชนะหรือแพ้ด้วยเรื่องอะไร” ปดิพัทธ์กล่าว
  • ส่วนฟากที่อยากให้ใช้บัตรคนละเบอร์ เนื้อหาส่วนใหญ่ที่อภิปรายมุ่งเน้นเรื่องจำกัดการซื้อเสียง-สร้างความหลากหลาย-ไม่มัดมือชกประชาชน
  •  อัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ หนึ่งใน กมธ. ระบุว่า การออกแบบให้บัตรเบอร์ต่างกัน ทำให้การซื้อเสียงยากขึ้น เวลาซื้อเสียงจะสื่อสารลำบากกับคนลงคะแนน
  • คารม พลพรกลาง ส.ส.ก้าวไกลที่มานั่ง กมธ.ในโควตาของภูมิใจไทย-พรรคที่ปิดปากเงียบที่สุดในการให้ความเห็นเรื่องนี้ตามหน้าสื่อ อภิปรายในที่ประชุมว่า ส.ส.เขตที่คิดว่าอยู่ในพรรคมีชื่อเสียงอยู่แล้ว มาเป็นส.ส.ก็ไม่ต้องทำอะไรมาก อาศัยพรรค เมื่อใช้เบอร์เดียวกับพรรค ผลเสียจะตกกับประชาชน
  • “ดังนั้น จึงเห็นตรงกับคุณอัครเดช การทุจริตอาจไม่ใช่ตรงๆ แต่ในเชิงนโยบายการหาเสียงก็ทำได้ ทำทีเดียวได้ทั้งสอง เหล้าพ่วงเบียร์ มัดมือชก คิดแบบนี้ได้เหมือนกัน ส่วนจะขัดมาตรา 90 หรือไม่ ผมเดาว่ามีคนร้องศาลรัฐธรรมนูญแน่ ถ้าจะไปแบบเบอร์เดียวกัน บางทีเวลาเราพูดอะไรกับสังคม บางคนบอกว่า ยุคนี้ทันสมัยแล้วมีโซเชียลแล้ว แต่พอมาอีกมุม เบอร์ต่างกันก็หาว่ายุ่งยาก ประเด็นคือ ต้องให้ประชาชนคิดได้ สมมติเขาชอบ ส.ส.คนหนึ่ง เขาเลือกปาร์ตี้ลิสต์พรรคอื่นก็ทำได้ แต่ถ้าเบอร์เดียวกัน มันไม่ยากที่จะโน้มน้าวให้ผิดเจตนารมณ์ของประชาชน” คารมกล่าว  
  • กมธ.อีกคนหนึ่งระบุว่า ประชาธิปไตยต้องมีความหลากหลาย ระบบต่างๆ ต้องเสริมให้กระบวนการเลือกตั้งหลากหลายด้วย ไม่ใช่เปิดไว้หลากหลายแต่ไปจัดการโดยเอากฎหมายไปจำกัดความคิดของเขาด้วยการใช้บัตรให้เป็นเบอร์เดียวกัน
  • ในการประชุมกมธ.รอบนี้ (30 มี.ค.) ยังมีการถกเถียงในประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องซึ่งอาจเป็นปัญหาในอนาคตนั่นคือ จะมีการร้องศาลรัฐธรรมนูญว่า พ.ร.ป.ขัดรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ มีการถกเถียงกันหนักระหว่างตัวแทนจากกฤษฎีกาและส.ส.ฝ่ายค้าน โดยส.ส.ฝ่ายค้านระบุว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 132 กำหนดอยู่แล้วโดยระบบอยู่แล้วว่า เมื่อสภาโหวตแล้ว ประธานสภาต้องส่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้ ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรม หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นก่อนแล้ว ไม่เปิดช่องให้ส่วนอื่นหรือแม้แต่ ‘นักร้อง’ คนใดไปยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
  • แต่กฤษฎีกากลับเห็นแย้งว่า ไม่ใช่ทุกกรณีจะส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะส่งให้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น อันไหนเกี่ยวกับศาลฎีกาก็ค่อยส่งศาลฎีกา อันไหนเกี่ยวกับองค์กรอิสระหน่วยใดก็ส่งให้หน่วยนั้น โดยยกตัวอย่างสมัยการพิจารณา พ.ร.ป.ยุคของสภานิติบัญญัติ (สนช.) ส.ส.ก้าวไกลสวนกลับว่า กฤษฎีกากำลังให้ความเห็นที่ “ใหญ่เกินกว่าที่จะรับผิดชอบไหว ถ้าเป็นอย่างนั้นเชิญอาจารย์มีชัย หรือเลขาธิการกฤษฎีกามาเลยดีกว่า”  
  • ขณะที่สมชาย แสวงการ ยืนยันว่า ตนเองเคยเป็น สนช.ซึ่งต้องพิจารณา พ.ร.ป.ถึง 10 ฉบับ และตอนนั้นก็เป็นดังเช่นกฤษฎีกาชี้แจงจริงๆ ว่า จะให้ยื่นต่อศาลฎีกาให้ความเห็นก็เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับศาลฎีกา ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญก็เฉพาะที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่เกี่ยวก็ไม่ได้ยื่น ขณะที่สุขุมพงษ์ โง่คำ ยืนยันว่า นั่นคือสมัย สนช. แต่ในยุคของสภานี้นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2560 รัฐสภายังไม่เคยพิจารณาร่าง พ.ร.ป.สักฉบับ และหากจะมีในครั้งนี้ ยังไงประธานสภาก็ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตามระบบอยู่แล้ว
  • นี่จึงเป็นข้อกฎหมายที่ยังเห็นไม่ตรงกันอยู่ งานนี้ดูเหมือนอาจไม่จบง่ายๆ หากผู้กุมชะตาสังคมไทยไม่อยากให้มันจบง่ายๆ