ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move จัดงาน "ทวงการเมืองเชิงโครงสร้าง สู่ประชาธิปไตยที่กินได้" ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มีการสรุปและรับรองข้อเสนอเชิงนโยบาย 9 ประเด็น โดยนายประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษา P-move ประกอบด้วย
1. ด้านสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ข้อเสนอที่สำคัญคือ ยกเลิกคำสั่ง คสช., ปรับปรุง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และยกเลิกหรือแก้ไขเพื่อนำสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
2. การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รวมทั้งด้านการเงินการคลัง บริหารงานบุคคลและโยกย้าย
3.การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ใช้ระบบไต่สวนและลูกขุนแทนระบบกล่าวหาในคดีที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและทรัพยากรสิ่งแวดล้อม, ปรับปรุงกองทุนยุติธรรมให้คนจนเข้าถึงได้ง่าย และสร้างมาตรการป้องกันการฟ้องคดี SLAPPs หรือฟ้องคดีปิดปากประชาชน
4. ที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ให้ทบทวนเขตส่งเสริมพิเศษ ที่ประกาศทับซ้อนพื้นที่เกษตรกรรม ที่จะมีศักยภาพในการผลิตอาหารได้ และคุ้มครองพื้นที่ดังกล่าว , แก้ไขกฎหมายที่ดิน, จัดตั้งองค์กรอิสระจากหลายภาคส่วน ตรวจสอบและเพิกถอนเอกสารสิทธิ์และเยียวยาในพื้นที่ 3 ลักษณะคือ ที่ดินร้างยังไม่ทำประโยชน์ ตามเงื่อนไขกฎหมาย 2.ที่เอกสารสิทธิ์โดยมิชอบทุกกรณี และ 3.ที่เปลี่ยนสภาพโดยไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้
5.การจัดการทรัพยากร โดยถ่ายโอนอำนาจให้ส่วนท้องถิ่น, นำที่ดินหมดสัญญาเช่าตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนและพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ มาจัดสรรให้เกษตรกรในรูปแบบโฉนดชุมชน
6.ด้านภัยพิบัติ โดยปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การเตรียมพร้อมโดยมีส่วนร่วมทุกระดับเน้นส่งเสริมชุมชนร่วมจัดการ, ตั้งคณะกรรมการ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัดและตำบล พิจารณาแผนการช่วยเหลือและฟื้นฟู
7.ด้านการคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์ เสนอ ตั้งคณะกรรมการเพื่อให้สัญชาติและสิทธิสถานะ ตามมติ ครม.2 มิถุนายนและ 3 สิงหาคม 2553 และการจัดตั้งกองทุนชาติติพันธ์
8.นโยบายด้านสถานะและสิทธิบุคคล เสนอทำแผนแม่บทแก้ปัญหาทั้งกรณีคนไร้รัฐไร้สัญชาติและกลุ่มชาติติพันธ์ภายใน 3 ปี และจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิต กลุ่มคนที่รอการแก้ปัญหาและการเข้าถึงกองทุนระบบสุขภาพขั้นพื้นฐานทันที
9.นโยบายรัฐสวัสดิการ ที่มีระบบบำนาญแห่งชาติและการปฏิรูประบบภาษี, เก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เกษตรกรเริ่มที่ 20 ไร่ คนทั่วไป 10 ไร่ ภาษีเริ่มต้น 2,000 บาท รวมถึงการปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม เพื่อนำเงินมาจัดสวัสดิการด้วย
จากนั้นมีการแถลงท่าทีพีมูฟต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยนายดิเรก กองเงิน ประธานสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ 1 ในแกนนำสำคัญของ P-move อ่านแถลงการณ์ ขอให้พรรคการเมืองแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมตามกลไกของระบอบประชาธิปไตย และเห็นว่าประเทศบอบช้ำจากการปฏิรูปโดยผู้มีอำนาจที่ผ่านมา พร้อมเรียกร้อง 3 ข้อต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ประกอบด้วย
1.ให้พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลก่อน เพื่อเป็นการเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่เคารพหลักกติกาประชาธิปไตย ไม่ต่างกับการยึดอำนาจของคณะรัฐประหารที่ผ่านมา
2.ให้พรรคการเมืองนำ 9 ข้อเสนอของ P-move ไปผลักดันอย่างจริงจัง
3.พรรคการเมืองต้องยึดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก, แก้กฎหมายและนโยบายให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาและสร้างการเมืองให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ในงานยังมีเวทีให้พรรคการเมืองรับข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง 9 ประเด็นและนำเสนอแนวทางในการนำข้อเสนอของภาคประชาชนไปกำหนดเป็นนโยบายในการบริหารประเทศ ซึ่งมีตัวแทนจาก 5 พรรคการเมืองเข้าร่วมรับฟังข้อเสนอ คือ พรรคเพื่อไทย, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคอนาคตใหม่, พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิไจไทย