ไม่พบผลการค้นหา
ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ไฟป่าในแอมะซอน ท่าทีของฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีขวาดจัดของบราซิลนั้นน่าฉงนไม่น้อยกับการเพิกเฉยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีท่าทีแข็งกร้าวปฏิเสธความช่วยเหลือในการรักษาผืนป่าที่เปรียบเสมือนปอดของโลก แต่มุมมองจากเพื่อนทหารและนักวิชาการเผยให้เห็นเบื้องหลังความคิดและจุดยืนแบบทหารของโบลโซนารูผู้เคยเป็นทหารบกยศร้อยเอก ซึ่งส่งผลต่อสถานการณ์ป่าดิบชื้นแอมะซอนในปัจจุบัน

ในขณะที่นานาชาติมองป่าดิบชื้นแอมะซอนเป็นปราการด่านสำคัญในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนของภูมิอากาศ กองทัพบราซิลมองว่า ป่าดิบชื้นแห่งนี้เป็นเป็นทรัพย์สินก้อนใหญ่ของประเทศที่ต่างชาติกระสันอยากจะเข้ามาควบคุม

พลเอกเปาลู ชากัส แสดงความเห็นกับทางรอยเตอร์สว่า ต่างชาตินั้นมีส่วนได้ส่วนเสียกับความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุในป่าแอมะซอน เวลาชาวต่างชาติพูดถึงการปกป้องชนพื้นเมืองและสิ่งแวดล้อม นั่นก็เป็นเพียงฉากหน้าเพื่อสร้างความชอบธรรมในการแทรกแซงบราซิล

"ประธานาธิบดีโบลโซนารูเชื่อแบบนี้เต็มที่ ความเชื่อนี้มาจากโรงเรียนทหาร" ชากัส นายพลปลดเกษียณ ผู้เป็นเพื่อนกับโบลโซนารูกล่าว

เออร์เนสโต อาราอูโจ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่ากองทัพมีอิทธิพลต่อโบลโซนารูในฐานะที่เป็นโรงเรียนหล่อหลอมความรักชาติ และวางรากฐานความคิดเรื่องอธิปไตยเหนือพื้นที่ป่าแอมะซอน

ทั้งนี้ ฌาอีร์ โบลโซนารู เคยเป็นทหารยศร้อยเอก จบจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกอากูลัสเนกราส (Military Academy of Agulhas Negras) มาก่อน โดยมีทัศนคติต่อป่าแอมะซอนว่าเป็นทรัพย์สินของบราซิล การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นตัวขัดขวางการพัฒนาของเศรษฐกิจ และเคยหาเสียงว่าจะเปิดทางให้อุตสาหกรรมการเกษตรใช้พื้นที่ป่า

AFP ไฟป่า แอมะซอน บราซิล 2019 Wildfire Amazon Brazil

รอยเตอร์ส รายงานว่าประเด็นเรื่องป่าแอมะซอนไม่เพียงเกี่ยวพันกับอธิปไตยของบราซิลเท่านั้น แต่ป่าแห่งนี้ยังมอบหน้าที่ให้กองทัพด้วย เมื่อกองทัพบราซิลไม่มีศัตรูจริงๆ ให้ต่อกร เช่น การประจำการโรงพยาบาลในป่า การตรวจตราพื้นที่ หรือการตัดถนน

ทั้งนี้ นอกจากสงครามช่วงสั้นๆ กับปารากวัย ในช่วงปี ค.ศ. 1864 ถึง 1870 และการเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว กองทัพบราซิลก็แทบไม่มีการสู้รบเลย ทุกวันนี้ บทบาทของกองทัพนั้นมีเพียงการร่วมภารกิจรักษาความปลอดภัยสาธารณะ โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ

เซเวียร์ อานุลด์ นักวิชาการชาวฝรั่งเศสผู้ศึกษาบทบาทของกองทัพในป่าแอมะซอน กล่าวว่าในช่วงทศวรรษ 1960 รัฐบาลเผด็จการทหารบราซิลได้ปรับแนวคิดต่อป่าแอมะซอนใหม่ว่าการพัฒนาพื้นที่ป่าแอมะซอนนั้น คือกุญแจสู่ความมั่นคงของประเทศ โดยอุดมการณ์ของรัฐบาลทหารนั้นสรุปอยู่ในคำขวัญในขณะนั้นคือ "ผนวกรวมไม่ให้สูญเสีย" และ "เอาพื้นที่ที่ไม่มีคน ไปให้คนที่ไม่มีที่" ซึ่งใช้ในการรวมชนพื้นเมืองเข้าสู่การบริหารส่วนกลาง และยึดพื้นที่ป่ามาจัดการโดยใช้ภัยจากต่างชาติเป็นข้ออ้าง แล้วพื้นที่ป่าแอมะซอนก็กลายเป็นที่ปักหลักของกองทัพบราซิลนับแต่นั้น

อานุลด์ยังเสริมอีกว่า พื้นที่ป่าแห่งนี้สำคัญต่ออัตลักษณ์ของกองทัพ

"กองทัพจำเป็นต้องมีศัตรู" อานุลด์ กล่าวพร้อมเสริมว่าในยามสงบสุข เมื่อประเทศมีสถานะทางการเงินไม่ดี แรงจูงใจในการลดงบของกองทัพก็มากตาม ด้วยวาทกรรมนี้ (การมีศัตรู) ไม่เพียงมอบความชอบธรรมให้งบของกองทัพ แต่ยังมอบหน้าที่ให้อีกด้วย

วิกฤตไฟป่าแอมะซอนทำให้ทั่วโลกพากันโจมตีความถดถอยในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทว่าทางโบลโซนารูได้ตอบโต้โดยตั้งตัวเป็นศัตรูกับผู้นำชาติต่างๆ ที่วิจารณ์บราซิล ทั้งชี้ว่าเหล่าเอ็นจีโอซึ่งรับเงินสนับสนุนจากต่างชาติเป็นผู้เผาป่าหลังโดนลดงบ ปฏิเสธความช่วยเหลือต่างชาติในการดับไฟป่าและโจมตีด้วยคำพูด

ในวันที่ 25 บราซิลได้ส่งทหารบราซิลกว่า 43,000 นายลงพื้นที่ช่วยดับไฟป่าในแอมะซอนซึ่งยังคงดำเนินอยู่

อีกด้านหนึ่ง ตาสซิโอ ฟรังคี ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าแอมะซอน จากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกบราซิล (Brazilian Army Command and General Staff School) กล่าวว่าความกังวลต่อพื้นที่ป่าแอมะซอนของกองทัพนั้นมีมูล เนื่องจากนั่นเป็นพื้นที่อันตราย กฎหมายเอื้อมไม่ถึง และรายล้อมด้วย 3 ชาติที่ผลิตโคเคนมากที่สุดในโลก (โคลอมเบีย, เปรู, โบลิเวีย)


โบลโซนารูกับศัตรูที่สร้างขึ้น

ในขณะที่ทั่วโลกไม่พอใจที่ป่าแอมะซอนกำลังถูกไฟป่าลุกลาม โบลโซนารู ประธานาธิบดีของบราซิล ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นต้นตอของเรื่องนี้เพราะการลดการปกป้องสิ่งแวดล้อมลง เพื่อเปิดช่องให้นายทุนอุตสาหกรรมการเกษตรทำกำไร

อย่างไรก็ตาม โบลโซนารูอ้างโดยไม่มีมูลว่าเหล่าเอ็นจีโอเองที่เป็นผู้จุดไฟเผาป่าและทำประเทศเสียหาย ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงชาวบราซิลชี้ว่าไฟป่าเกิดจากการเผาเพื่อเคลียร์พื้นที่ที่เพิ่งตัดไม้ทำลายป่าทิ้ง เพราะรัฐบาลปล่อยให้มีการถางและเผาป่า ตามที่เคยได้หาเสียงไว้ว่าจะผ่อนผันการใช้พื้นที่ป่าเพื่อการเกษตร

afp - jair Bolsonaro brazil

ทั้งนี้ นับตั้งแต่โบลโซนารูเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นปี อัตราการทำลายป่าไม้ก็สูงขึ้นมาก โดยในเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว พื้นที่ป่าแอมะซอนในบราซิลถูกทำลายไปถึง 2,254.8 ตารางกิโลเมตร (ขณะที่จังหวัดอยุธยามีพื้นที่ 2,557 ตารางกิโลเมตร) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ป่าถูกทำลายมากขึ้นถึง 278 เปอร์เซ็นต์

รัฐบาลนอร์เวย์และเยอรมนีซึ่งเป็นผู้บริจาคงบสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อมและป่าแอมะซอนของบราซิลมาโดยตลอดก็พากันลดและระงับงบไปเนื่องจากเล็งเห็นถึงความไม่จริงจังในการพิทักษ์ผืนป่า ทว่าทางด้านโบลโซนารูกลับตอบโต้ว่าบราซิลไม่ต้องการเงินของต่างชาติ

หลังปัญหาไฟป่าแอมะซอนกลายเป็นที่จับตาทั่วโลก โบลโซนารูอ้างว่าบราซิลไม่มีทรัพยากรมากพอในการแก้ปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้น แต่เมื่อชาติจี 7 (G7) ร่วมกันบริจาคงบ 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 670 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการคลี่คลายปัญหาไฟป่าแอมะซอนซึ่งกำลังลุกลามอยู่ ประธานาธิบดีบราซิลผู้นี้กลับปฏิเสธ

เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ผู้เป็นประธานการประชุมจี 7 (G7) ในปีนี้ เสนอว่าชาติจี 7 จะให้งบสนับสนุนการดับไฟป่าแอมะซอนให้ โบลโซนารูได้ตราหน้ามาครงว่าทำตัวเป็นเจ้าอาณานิคมที่ทำทีเป็นช่วยเหลือ เป็นการบั่นทอนอธิปไตยของบราซิล

ท่าทีของโบลโซนารูนั้นยืนกรานให้ต่างชาติยุ่งแต่เรื่องของตัวเอง และหยุดดูหมิ่นอธิปไตยของบราซิล แม้ทั่วโลกจะคลางแคลงกับท่าทีของเขา และมีชาวบราซิลไม่พอใจเช่นกัน แต่ภาพลักษณ์ของเขาในบราซิลนั้นก็ดีกว่า โดยเฉพาะในกองทัพ

ทั้งนี้ กองทัพบราซิลถูกตัดงบมานานกว่า 10 ปีในสมัยพรรคแรงงานซึ่งมีอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายเป็นรัฐบาล ทว่าหลังโบลโซนารูขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมกราคม เขาก็ได้วางตัวทหารบกและทหารเรือชั้นผู้ใหญ่อย่างน้อย 10 คนในคณะรัฐมนตรีของเขา ทำให้อุดมการณ์ฟากทหารมีน้ำหนักมากในคณะรัฐมนตรีของเขา

ที่มา: Reuters / NPR / Japan Times

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: