ส่งออกไทย 10 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ต.ค.) หดตัวด้วยด้วยมูลค่ารวมทั้งหมดในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 7.26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นเงิน 192,372 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เมื่อมองสินค้าเกษตรฯ และอุตสาหกรรมเกษตร 10 อันดับแรก พร้อมกับสินค้าอุตสาหกรรม 10 อันดับแรก ตลอดช่วง ม.ค.-ต.ค. มีเพียงแค่ 6 จากทั้งหมด 20 สินค้าเท่านั้น ที่ยังครองตัวในแดนบวกได้
ฝั่งเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 3 ประเภท คือ 1.ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง 2.อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และ 3.อาหารสัตว์เลี้ยง จากกลุ่มสินค้าประเภทแรก ในสัดส่วนการเติบโต 12.6%, 4.1% และ 17.3% ตามลำดับ
ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่มีศักยภาพส่งออกในแดนบวก ได้แก่ 1.อัญมณีและเครื่องประดับ (รวมทองคำ) 2. เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และ 3. ผลิตภัณฑ์ยาง ในสัดส่วน 20.9%, 2.1% และ 6.4% ตามลำดับ
สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แจงว่า สินค้าทั้งหมดล้วนกระจุกตัวอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอานิงสงส์บวกจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ประกอบรวมกับมาตรการล็อกดาวน์ ฝั่งผลไม้แห้งแช่เย็นแช่แข็งนั้นตามปกติแล้วมีราคาถูกกว่าผลไม้สดทั่วไปทั้งยังเก็บรักษาได้นานกว่า ประชาชนจำนวนมากจึงเลือกบริโภคเช่นเดียวกับอาหารกระป๋อง
ขณะที่การต้องอยู่บ้านเป็นเวลานานและไม่สามารถออกไปไหนได้สะดวก ทำให้ผู้คนมีเวลาใส่ใจกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น จนนำไปสู่มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงที่ปรับตัวเป็นบวกอย่างมีนัยสำคัญ โดยตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ คู่ค้าสำคัญที่เป็นจุดหมายปลายทางตลาดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยคือสหรัฐฯ ด้วยมูลค่าส่งออกรวม 10 เดือนแรกของปี 2563 สูงถึง 1 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยญี่ปุ่นซึ่งรั้งอันดับที่สองแบบไม่ห่าง ด้วยมูลค่าส่งออก 9,200 ล้านบาท
ด้านสินค้าอุตสาหกรรมนั้น ทั้งผลิตภัณฑ์ยางรวมไปถึงเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ส่วนประกอบล้วนเป็นสินค้าที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นจากทั้งอุตสาหกรรมทางการแพทย์ที่ต้องการนำผลิตภัณฑ์ยางไปผลิตเป็นสินค้าเฉพาะทาง รวมถึงกลุ่มประชากรวัยทำงานที่มีความจำเป็นต้องทำงานจากที่บ้านและอาจต้องการอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพิ่มเติม ขณะที่การซื้อขายทองในตลาดโลกตลอดช่วงวิกฤตโรคระบาดนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สรท.ประเมินว่าการส่งออกของประเทศตลอดทั้งปี 2563 จะติดลบระหว่าง 7% - 6% ก่อนจะปรับตัวขึ้นไปอยู่ในแดนบวกระหว่าง 3% - 5% ในปี 2564 โดยมีผลสำคัญมาจาก 5 ปัจจัยในแง่บวก และอีก 5 ปัจจัยในแง่ลบ
ปัจจัยส่งเสริมอุตสาหกรรมหลักของไทย ประการแรกมาจาก การลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งมียอดประชากรรวมกันถึง 2,200 ล้านคน ทั้งยังมีขนาดเศรษฐกิจถึง 30% ของจีดีพีโลก เท่านั้นยังไม่พอ ยังคิดเป็น 28% มูลค่าการค้าโลก นับเป็นผลดีต่อการขยายตลาดของผู้ส่งออก
ประการต่อมาเป็นผลจากวงการสาธารณสุขที่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยไปจนถึงระดับโลก และจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมให้กลับมาลื่นไหลอีกครั้ง
ประการที่สาม เกิดจากพฤติกรรมการทำงานจากบ้านซึ่งยังมีการบังคับใช้อยู่ในบางพื้นที่/ประเทศ ที่ต้องกลับมาล็อกดาวน์กันอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดเป็นระลอกที่สอง ซึ่งจะผสานกับสินค้าประเภทที่ไทยได้รับอานิงสงค์ในปัจจุบันเช่น ผลิตภัณฑ์ยาง และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
ประการที่สี่ เป็นเรื่องสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งสอดประสานกับเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ทำให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อยกลับมามีความหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาขับเคลื่อนดีขึ้น ซึ่งจะส่งให้มีความต้องการน้ำมันเพิ่มมากขึ้น
ท้ายสุด เศรษฐกิจจีนกลับมาพื้นตัวอย่างรวดเร็ว เป็นผลดีต่อการส่งออกของประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่จีนเป็นคู่ค้าสำคัญ อาทิ กลุ่มสินค้ายางพารา มันสำปะหลัง และเม็ดพลาสติกเป็นต้น
ในทางตรงกันข้าม ไทยยังต้องเผชิญหน้ากับอีก 5 ปัจจัยลบที่ส่งผลร้ายต่อการส่งออกเช่นเดียวกัน โดยประเด็นแรกเป็นเรื่องค่าเงินบาท ที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น สกุลเงินบาทคอรงบตัวในช่วง 30 บาทต้นๆ โดยหากนับตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 6 ธ.ค.เงินบาทไทยแข็งค่าราว 0.46% ส่งให้ผู้ประกอบการการส่งออกอาจไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ ได้
ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนและค่าระวางสูงยังเป็นอีกประเด็นที่ส่งผลลบต่อต้นทุนของผู้ปรักอบการ เช่นเดียวกับการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจเวียดนาม และการบังคับใช้ความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) ที่เป็นปัจจัยดึงดูดการย้ายฐานการผลิตและมีความได้เปรียบไทยในการส่งออกสินค้าประเภท เครื่องนุ่งห่ม และสินค้าประมง
ขณะประเด็นที่สี่เป็นเรื่องกิจการภายในประเทศ อย่างระบบกฎระเบียบของไทยที่มีความล่าช้าและมีขั้นตอนไม่จำเป็นจำนวนมาก จนเป็นต้นทุนแฝงในการดำเนินการของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในด้านการขนส่ง
ประเด็นสุดท้ายอยู่ในฝั่งมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ซึ่งอาจเริ่มมีการบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปีหน้า ซึ่งจะกลายมาเป็นอุปสรรคในการส่งออกสินค้าของประเทศได้ ถ้าไม่มีการเตรียมตัวที่ดีพอ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;