ไม่พบผลการค้นหา
มีรายงานตั้งข้อสังเกตว่า สื่อของรัฐบาลได้เซ็นเซอร์วิดีโอของตัวเอง หลังจากที่ผู้ชมสังเกตเห็นว่า ในวิดีโอดังกล่าวมีการนำเสนอบทกวีจีนยุคโบราณ เกี่ยวกับผู้นำที่ทุจริตและตามใจตัวเอง และเพิกเฉยต่อวิกฤตการณ์ระดับชาติ

วิดีโอดังกล่าว ซึ่งได้รับการผลิตโดย The People’s Daily สื่อทางการของรัฐบาลจีน มีวัตถุประสงค์เพื่อโปรโมตเมืองหางโจว ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ในเดือนนี้ โดยในวิดีโอมีการนำเสนอความเชื่อมโยงทางวรรณกรรมเก่าแก่ เข้ากับเมืองหางโจวแห่งนี้ อย่างไรก็ดี บทกวีเด่นบทหนึ่งของ หลินเซิง กวีจีนโบราณ กลับทำให้ผู้คนต้องตั้งคำถามกับจุดประสงค์ของเนื้อหาในวิดีโอ

บทกวีดังกล่าวได้รับการเขียนขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยบทกวีนี้ได้รับการตีความ ว่ามีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ผู้ปกครองในราชวงศ์ซ่ง ผ่านการกล่าวหาข้าราชการที่ทุจริต ว่าหลบหนีปัญหาของแผ่นดินไปยังเมืองหางโจว และเพิกเฉยต่อการปากกัดตีนถีบและวิกฤติการณ์ของไพร่ฟ้าทั่วไป ในขณะที่ข้าราชการกลับสนุกสนานไปกับการใช้ชีวิตของตัวเองอย่างเมามาย

บทกวีของหลินเซิงนี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และไม่ได้รับการเซ็นเซอร์จากทางภาครัฐจีน แต่มีผู้แสดงความคิดเห็นด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า การนำบทกวีดังกล่าวนี้มาใช้ ชี้ให้เห็นว่าผู้ผลิตวิดีโอไม่ได้ตระหนักว่าคำอธิบายของข้าราชการที่เมามายในหางโจว เป็นบทกวีที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมือง

The China Digital Times รายงานว่า วิดีโอดังกล่าวของ The People's Daily ยังรวบรวมบทกวีอีกบทหนึ่ง ซึ่งนักเคลื่อนไหวบางคนใช้อ้างอิงถึงเดือน "มิถุนายน" และ "ฤดูการทั้งสี่" เพื่อหลีกเลี่ยงการเซ็นเซอร์การสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2532 

ทั้งนี้ ตามรายงานของ Free Weibo เว็บไซต์ติดตามการเซ็นเซอร์จีน ระบุว่า วิดีโอที่มีบทกวีทั้ง 2 บท ถูกลบออกอย่างรวดเร็ว หลังจากมีผู้เข้าชมไปแล้วอย่างน้อย 130,000 ครั้ง ผ่านทั้งบัญชี The People’s Daily และบัญชีสื่ออื่นๆ ของรัฐบาลจีน ยังมีบัญชีอื่นๆ อีกหลายบัญชีก็แชร์วิดีโอดังกล่าวนี้เช่นกัน นอกจากนี้ แฮชแท็กที่โปรโมตควบคู่ไปกับวิดีโอ ยังไม่สามารถถูกกดเพื่อเข้าไปยังปลายทางได้

“สิ่งนี้กระทบต่อความรู้สึกในระดับชาติของฉันอย่างรุนแรง” บัญชีผู้ใช้จีนรายหนึ่งกล่าวแบบติดตลก โดยอ้างถึงร่างกฎหมายล่าสุดของจีน ที่จะลงโทษความคิดเห็น การแต่งกาย หรือสัญลักษณ์ที่ “บ่อนทำลายจิตวิญญาณ” หรือ “ทำร้ายความรู้สึก” ของจีน ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวสร้างความกังวลต่อประชาชนและนักวิชาการ ถึงการตีความกฎหมายที่ไม่ชัดเจน

ทั้งนี้ ความเห็นทางการเมืองในประเทศจีนได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวด โดยทางการจีนมักจะมีการเซ็นเซอร์เนื้อหาที่มีการวิพากษ์วิจารณ์บ่อยครั้ง หรือก่อให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ภายใต้การนำของ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนกลับมีความเผด็จการเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ทางการจีนยังได้การปราบปรามนักเคลื่อนไหว ผู้เห็นต่าง และการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

ยังมีสัญญาณอื่นๆ ของความไม่พอใจจากประชาชนต่อรัฐบาลจีนที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการประท้วงต่อวิธีการที่ทางการจีนจัดการกับเหตุน้ำท่วมร้ายแรง ในพื้นที่ภูมิภาคเมื่อเร็วๆ นี้ รวมถึงการประท้วง “กระดาษขาว” ที่เกิดขึ้นอย่างเด่นชัดในช่วงปีที่แล้ว เพื่อต่อต้านนโยบายการเซ็นเซอร์ของรัฐบาล ในขณะที่เศรษฐกิจของจีนกำลังประสบกับวิกฤตภาวะว่างงานของคนรุ่นใหม่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งรัฐบาลจีนได้หยุดเผยแพร่ตัวเลขอัตราว่างงานของคนรุ่นใหม่ชาวจีนไปเมื่อเดือนที่แล้ว


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2023/sep/12/chinese-state-media-censors-itself-poem-corruption-hangzhou?CMP=Share_AndroidApp_Other&fbclid=IwAR0fkS0zgytYDZDzX5POVZuogvCTZNUsL1_rFRz7yccIIOCcCY9hRErKc7s