นอกจากสถานการณ์โควิดที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยังมีความรุนแรงที่คู่ขนานไปพร้อมกันด้วยอย่างเงียบเชียบ ไม่เพียงแต่เหตุวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหายาเสพติดในหลายพื้นที่แล้ว ในสามจังหวัดภาคใต้ ก็มีเหตุปิดล้อมวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาก่อเหตุความไม่สงบเช่นเดียวกัน ยังไม่นับถึงเหตุความรุนแรงทางการเมืองที่พรากชีวิตประชาชนและถูกปล่อยผ่านไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม อธิบายถึงศัพท์สามคำที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสิทธิในชีวิต คือ คำว่าการฆ่านอกระบบกฎหมาย การวิสามัญฆาตกรรม และ คำว่าศาลเตี้ย ทั้งสามคำนี้เป็นรูปแบบของการละเมิดสิทธิในชีวิตที่ร้ายแรง
ผอ.ผสานวัฒนธรรม บอกว่่าในประวัติศาสตร์การเมืองของไทยมีการละเมิดสิทธิในชีวิตที่ร้ายแรงและกว้างขวางหลายเหตุการณ์ เช่น การสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. กลุ่มพันธมิตรฯ สงครามยาเสพติด เหตุการณ์ตากใบ-กรือเซะ/ความขัดแย้งใน จชต. เหตุการณ์พฤษภา 35 เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 การทรมาน อุ้มหาย อุ้มฆ่า เป็นระบบ-เฉพาะกรณี ทั้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐและบางกรณีเกิดจากกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ
"ความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมาเหล่านี้ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิในชีวิต ไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษ แต่กลับเหลือแต่เพียงความทรงจำและประวัติศาสตร์ความรุนแรง"
พรเพ็ญ บอกอีกว่า อย่่างกรณีเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงปี 2553 มีผู้เสียชีวิตถึง 99 ศพ มีหลายกรณีที่ระบุว่าผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กลับไม่มีการนำคนผิดมาลงโทษ บางคดีเข้าสู่การพิจารณาในขั้นศาล และมีการเยียวยาจำนวนเงินที่มาก ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงจากรัฐไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในจังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น
มะยุ เจ๊ะนะ ตัวแทนสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี (CAP) นำเสนอมุมผลกระทบว่าเรื่องการวิสามัญฆาตกรรมในพื้นที่ว่า ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องสภาพจิตใจของเด็กหรือลูกหลานของคนที่ถูกวิสามัญฯ
งานของภาคประชาชนอยู่กับประเด็นการเยียวยา การให้ความรู้ และสนับสนุนการศึกษาของเด็กเหล่านั้น สาระสำคัญก็เพื่อไม่ให้พวกเขากลับเข้าสู่วงจรเดิมของการใช้ความรุนแรง ภรรยาหรือผู้หญิงในครอบครัวของผู้เสียหายต้องยืนและอยู่ให้ได้ มีคนรอบข้างให้การสนับสนุน ทำให้การอยู่ในชุมชนของเขาไม่เป็นอันตรายต่อชุมชน ทำให้เขามีกำลังใจมากขึ้น
"เงินอุดหนุนต่างๆ ต้องมีการระดมทุนเป็นการให้ก่อนเบื้องต้นนั้นก็สามารถทำกันได้ แม้ยังไม่ใช่ระยะยาวแต่ก็ช่วยได้ให้ลูกและตัวผู้หญิงตั้งตัวได้ ในภาวะที่เขาต้องสูญเสียเสาหลักของครอบครัวไป สถานการณ์โควิดก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เดือนที่ผ่านมามีหลายกรณีที่ขอให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือ เพราะเขาไม่มีเงินไม่มีรายได้
"หลังวิสามัญฆาตกรรม บางคนกำลังจะคลอดลูก แต่ยังไม่ได้รับการเยียวยา มากกว่านั้นเราจะต้องเยียวยากับคนในชุมชนและคนในพื้นที่ ด้วยการสร้าางความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม คนในพื้นที่ไม่ลืมกรณี 'ตากใบ' 'อิหม่ามยะผา'
มะยุ ย้ำว่า ความเงียบ ความจำฝังใจที่ไม่ถูกแสดงออกมา อาจทำให้เขากลับไปสู่วงจรเดิม สิ่งสำคัญคือต้องให้โอกาส ต้องมีพื้นที่ยืนของคนเหล่านี้ เพื่อแสดงออกทางความคิดเห็นในสภาวะที่มีความรุนแรงรอบตัวของพวกเขา
อับดุลสุโก ดินอะ ผอ.ศูนย์อัลกุรอานและภาษาQlcc ชวนมองไปที่การต่อสู้ด้วยการจับอาวุธของกลุ่มต่อต้านอำนาจรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ หรือที่เรียกพฤติกรรมอุดมการณ์ดังกล่าวสั้นๆ ว่า "จีฮาด"
เขามองว่า จีฮาดเป็นภาษาอาหรับ จะแปลว่าความพยายามการต่อสู้การพลีชีพก็ได้ หากในทางวิชาการก็หมายถึงการใช้ความพยายามอย่างมากในการทำความดี ยกเว้นความชั่ว อะไรคือการจีฮาดที่ดี คือการต่อสู้อารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเอง จีฮาดจึงมีคำนิยามที่กว้าง คือการพลีชีพหรือการให้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการทำความดีละเว้นความชั่ว
อย่างไรก็ตาม การจับอาวุธต่อสู้จะมีคำนิยามที่เจาะจง การจับอาวุธมาต่อสู้ที่มีคนร่วมขบวนการมาต่อสู้ ในส่วนนี้มีการให้ความเห็นว่าถ้าไม่เข้าเงื่อนไขไม่สามารถจะต่อสู้พลีชีพได้
เงื่อนไขได้แก่ 1.การถูกกดขี่หรือขับไล่ ลิดรอนสิทธิ 2.การกดขี่ทางศาสนา 3.การกระทำเพื่อพระเจ้า ไม่ใช่เพื่อมาตุภูมิ 4.ไม่ใช่การฆ่าใครก็ได้ ห้ามฆ่าเด็ก นักบวชทุกศาสนา คนบริสุทธ์ที่ไม่ได้ร่วมต่อสู้ รวมทั้งห้ามการทำลายศพ
เขามองว่า จีฮาดไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีกฎกติกาเช่นเดียวกับหลักการสากล เราจึงต้องดูกระบวนการและเป้าหมายไปพร้อมกัน
เมื่อมองกลับมายังปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีที่มีการปิดล้อมตรวจค้นจับกุมบุคคลตามเป้าหมาย และมีการบันทึกภาพเสียงที่พูดถึงการสละชีวิตโดยไม่ยอมมอบตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ในมุมนี้ เขามองว่าหลายกรณีรัฐไม่สามารถสร้างหลักประกันและความเชื่อมั่นว่าเขาจะได้รับความเป็นธรรม หรือเขาอาจถูกกระทำความรุนแรงมากก่อน เราอาจมองว่ายอมสละชีพดีกว่า แต่จะเข้าสู่สวรรค์ตามที่เขาคิดหรือไม่ไม่มีใครตอบได้ เป็นการต่อสู้กันทางความคิด
"หน้าที่ของรัฐคือต้องสร้างให้เกิดความคิดในพื้นที่ได้จริงว่าเขาจะได้รับความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ แต่กรณีผลการพิจารณา 'คดีตากใบ' ที่บอกว่าขาดอากาศหายใจ อาจเป็นเหตุให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม"
ผอ.ศูนย์อัลกุรอานและภาษา บอกอีกว่า คนที่อยู่ในขบวนการจับอาวุธต้องสื่อสารกับสังคมด้วยว่าตนเองเลือกที่จะทำการจีฮาดก็ต้องดำเนินการตามหลักการอย่างเคร่งครัด ทั้งเป้าหมายและกระบวนการด้วยทั้งหมด และต้องสื่อสารด้วยหากมีเหตุการณ์ความรุนแรงที่ละเมิดหลักการต่อสู้ตามหลักอิสลามก็ต้องมาแสดงข้อเท็จจริงให้สังคมเห็น
อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเต๊ะ ทนายจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ให้ความเห็นว่าต่อกรณีวิสามัญฆาตกรรมว่า การวิสามัญฆาตกรรม ตามกฎหมายไทยเป็นการกระทำที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่
จากประสบการณ์ศูนย์ทนายความมุสลิม เขาเห็นว่ามีหลายกรณีที่กระบวนการยุติธรรมไม่ดำเนินการอย่างถูกต้อง
"คดีวิสามัญฆาตกรรมโดยหลัก ต้องมีการชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุ โดยให้แพทย์ ตำรวจ อัยการ ฝ่ายปกครองมีบทบาทในการเข้าไปทำการชันสูตร จะได้รู้รายละเอียดถึงบาดแผลต่างๆ ได้ การชันสูตรที่ดีคือการชันสูตรในที่เกิดเหตุ เพราะว่าที่เกิดเหตุจะบอกอะไรได้หลายอย่าง"
หลายครั้งที่กระบวนการยุติธรรมไม่เป็นไปตามหลักสากล อับดุลกอฮาร์มองว่า ปัจจุบันจะมีการชันสูตรพลิกศพที่โรงพยาบาล เป็นการนำศพจากสถานที่เกิดเหตุมาที่โรงพยาบาลแทน เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อเท็จจริงจะไม่เหมือนที่ชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุ
"บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าถึงพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุได้ มีเพียงหน่วยงานที่ทำวิสามัญฆาตกรรมเท่านั้น ญาติของผู้ตายก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ แม้จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลังบ้านตนเอง กว่าจะได้เห็นศพก็หลังชันสูตรซึ่งใช้เวลานานมาก"
เขายกตัวอย่่าง เช่น กรณี 'ปุโละปุโย' กรณี 'โต๊ะชูด กรณี 'อาแน' ที่ผ่านมา กว่าที่จะชันสูตรศพเกิดขึ้นที่โรงพยาบาล ไม่ใช่ในที่เกิดเหตุ บางกรณีผู้ตายไม่มีอาวุธ แต่ก็อาจจะปรากฏอาวุธในที่เกิดเหตุได้ นี่คือปัญหาความไว้วางใจในพื้นที่
นอกจากความลักลั่นของกระบวนการยุติธรรมแล้ว ทนายความมุสลิมยังชี้ให้เห็นหมุดหมายความเส้นทางยุติธรรมที่ถูกตัดขาดอีกด้วย
เขาบอกว่า ก่อนรัฐประหารปี 2557 มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะแม้ในกฎหมายจะระบุไว้ว่าจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายบัญญัติเอาไว้ ก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องค้นหาความจริงเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ตาย
"ตัวกฎหมายไม่เพียงพอในการควบคุมการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้อง คณะกรรมการฯ อาจค้นหาความจริงเพิ่ม และเจ้าหน้าที่ปฏิบัตินอกกฎหมายก็จะต้องรับผิดเหมือนกัน ที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่ถูกกระบวนการยุติธรรมลงโทษ หลายคดีสังคมมีความคลางแคลงใจ พอตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้น ก็สามารถลดอุณหภูมิความไม่ไว้ใจได้บ้าง"
ระหว่างที่เส้นทางยุติธรรมกำลังทอดไปข้างหน้า พอรัฐประหาร เขาเห็นว่ารัฐเลิกตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และชาวบ้านก็ไม่สามารถร้องเรียนได้ กลายเป็นปล่อยไปตามยถากรรม
"เพราะเขารู้สึกว่าไม่รู้จะไปร้องเรียนทำไม ภาวะแบบนี้รัฐไม่สนใจว่าญาติจะรู้สึกอย่างไร ญาติของผู้เสียชีวิตก็สิ้นหวังกับกระบวนการการให้ความเป็นธรรม"
เมื่อเส้นทางกำลังนำไปสู่ความไม่ธรรม ในสายตาของทนายความมุสลิม เห็นว่า ระยะหลังมาพบว่าฝ่ายรัฐพยายามรุกหนักขึ้น เช่น ฟ้องคดีให้ที่พักพิง ปิดล้อมตรวจค้น จับกุม กระทั่งวิสามัญฆาตกรรม
"จับตายจนบ้านพังไปเป็นหลังๆ เป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านได้เห็น นี่เป็นการใช้ความรุนแรงเพื่อสร้างความหวาดกลัวและตัดสัมพันธ์กับชุมชน ซึ่งไม่เป็นผลดีกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง" อับดุลกอฮาร์ ทิ้งท้าย
หมายเหตุ - เรียบเรียงจากเสวนาออนไลน์ หัวข้อ "ที่ปาตานี วิสามัญฆาตกรรม เป็นนโยบายหรือเป็นความจำเป็นที่ได้สัดส่วน" เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 / ภาพ : รอยเตอร์