ไม่พบผลการค้นหา
ธปท. ชู 3 มาตรการเสริมสภาพคล่องเศรษฐกิจ ตั้งกองทุนดูแลตราสารหนี้ ก.ล.ต. ย้ำผ่อนปรนเกณฑ์ดูแลบริษัทจดทะเบียนประชุมทางไกลได้สะดวก พร้อมเกณฑ์การซื้อหุ้นคืน ด้านธนาคารพาณิชย์ย้ำประชาชนไม่ต้องตระหนกเงินในตู้เอทีเอ็มมีเพียงพอ ไม่ต้องแห่ถอน

วันนี้ (22 มี.ค.) ตัวแทนจากภาคการเงินและการลงทุนของไทย ได้แก่ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง, นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรััพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) , นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย, นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ร่วมกันแถลงข่าวมาตรการความช่วยเหลือตลาดเงินและตลาดทุนไทยท่ามกลางสถานกาณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

กลต แถลงโควิด19
  • บรรยากาศการแถลงข่าวมาตรการดูแลตลาดเงินตลาดทุน

ในการแถลงครั้งนี้ นายวิรไท ชี้ว่า ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการประเมินความเสี่ยงจากสถานการณ์โรคโควิด-19 มาตลอด ทั้งจะเห็นได้จากการเป็นธนาคารกลางประเทศแรกๆ ของโลก ที่เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา ทั้งยังมีการประชุมนัดพิเศษของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.75 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติกาณ์

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลาดเงินตลาดทุนไทยในปัจจุบันไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับวิกฤตในช่วงปี 2540 ได้ เนื่องจากอยู่กันในคนละบริบท อีกทั้งสภาพคล่องของตลาดเงินและตลาดทุน รวมไปถึงเสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศยังดีและมั่นคงอยู่ เพียงแต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดไปทั่วโลกทำให้ตลาดเงินบางตลาดมีความผิดปกติ และกลไกตลาดตามปกติสะดุดบ้าง จึงเป็นหน้าที่ของ ธปท. ที่จะต้องเข้าไปดูแล อาทิ การเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลกว่า 100,000 ล้านบาท ระหว่างช่วงวันที่ 13 - 20 มี.ค. ที่ผ่านมา

เพื่อตอกย้ำเสถียรภาพและสภาพคล่องของภาคการเงินประเทศให้ประชาชนและภาคเอกชนมั่นใจมากขึ้น ธปท. และภาคส่วนอื่นๆ จึงร่วมกันออก 3 มาตรการช่วยเหลือได้แก่ 

  • หนึ่ง ตั้งกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่ธปท.จัดตั้งกลไกพิเศษเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทุนรวมผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยที่ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน (Money market fund) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily fixed income fund) ที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี แต่ได้รับผลกระทบจากการที่ตลาดการเงินขาดสภาพคล่อง สามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวมาวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท.ได้ โดยจะดำเนินการจนกว่าสถานการณ์ในตลาดการเงินจะเข้าสู่ภาวะปกติ จากการประมาณการเบื้องต้นพบว่ามีกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์คุณภาพดีที่สามารถนำมาวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท.ได้ มูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท
  • สอง จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ วงเงินเริ่มต้น 70,000 – 100,000 ล้านบาท โดยความร่วมมือของผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน ธุรกิจประกันภัย และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ร่วมกันเพื่อลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนออกใหม่ของบริษัทที่มีคุณภาพดี แต่ประสบปัญหาตลาดขาดสภาพคล่องจนส่งผลให้ไม่สามารถต่ออายุ (rollover) ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดได้ครบทั้งจำนวน โดยปัจจุบัน เม็ดเงินของกองทุนอยู่ในช่วง 80,000 ล้านบาท แบ่งเป็นจากสมาคมธนาคารไทย 40,000 ล้านบาท ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท ธุรกิจประกันภัย 10,000 ล้านบาท และกองทุนบำเหน็จบำนานอีก 10,000 ล้านบาท โดย นายวิรไท ชี้ว่ากองทุนดังกล่าวน่าจะจัดตั้งแล้วเสร็จโดยใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์
  • สาม สำหรับตราสารหนี้ภาครัฐ ธปท.พร้อมที่จะดูแลให้กลไกตลาดตราสารหนี้ภาครัฐทำงานได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และมีสภาพคล่องเพียงพอ ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อการเสริมสภาพคล่องของตลาดการเงินและไม่ให้ส่งผลกระทบไปสู่ตราสารประเภทอื่นๆ เรื่องจากพันธบัตรรัฐบาลเป็นตัวกำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ทั้งยังสร้างความมั่นใจให้ประชาชนที่ลงทุนด้วย

ขณะที่ฝั่ง ก.ล.ต. นางสาวรื่นวดี กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาสนับสนุนตลาดทุน โดยส่วนแรกเป็นเรื่องการจัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่สามารถทำได้ทั้ง 2 รูปแบบ คือการมอบอำนาจให้กรรมการอิสระในกรณีที่ยังมีการจัดประชุมอยู่ หรือการประชุมทางไกล ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว

นอกจากนี้ ในฝั่งของตลาดทุน ก.ล.ต. ชี้ว่า ได้มีการปรับกลไกการซื้อหุ้นกลับคืน (Treasury Stock) ของบริษัทจดทะเบียนมหาชนแล้ว จากที่เคยติดระยะเวลาก็จะแก้ไขให้สามารถทำได้ โดยที่ผ่านมา 3 เดือนแรกของปีนี้ มีบริษัทมหาชนประมาณ 20 บริษัท ที่ซื้อหุ้นคืนไปแล้วคิดเป็นมูลค่า 70,979 ล้านบาท


ปชช.อย่าตระหนก ทุกธนาคารมีเงินให้ถอน-กองทุนยังดี

นายปรีดี ออกมากล่าวย้ำว่า ขอให้ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนกและรีบไปขายคืนกองทุนที่ถืออยู่ ณ ขณะนี้ เนื่องจากหากเป็นการถือพันธบัตรรัฐบาลซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยก็มีความเสี่ยงน้อยอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ขณะที่ถ้าเป็นการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily Fixed Income Fund) ก็ได้รับข้อมูลจากฝั่ง ก.ล.ต. แล้วว่า กองทุนทั้งหมดร้อยละ 60 ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ขณะที่อีกร้อยละ 40 เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้รับการประเมินเกรดเอขึ้นไปถึงร้อยละ 80 ซึ่งแปลว่ายังเป็นสินทรัพย์คุณภาพดีที่ไม่ควรมาเทขายจนอาจขาดทุน และยิ่งจะเป็นการสร้างความตื่นตระหนกซ้ำเข้าไปจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่

นายวิรไท อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อสถานกาณ์ที่ประชาชนตื่นตระหนกแล้วมาขายหน่วยลงทุนคืน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) สามารถรับซื้อคืนได้อยู่แล้ว แต่ถ้าทุกคนแห่มาขายหมด ก็ทำให้ บลจ. ต้องขายสินทรัพย์คุณภาพสูงออกไป ส่งผลให้สินทรัพย์เหล่านั้นมีราคาตกลง และในท้ายที่สุดจะไม่ส่งผลดีกับฝ่ายไหนเลย

ส่วนประชาชนที่มีความกังวลใจเรื่องเงินฝากที่ฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ นายปรีดี ย้ำว่า ขอให้มั่นใจว่าธนาคารพาณิชย์ยังเปิดทำการตามปกติ และเอทีเอ็มทุกแห่งมีเงินเพียงพอสำหรับประชาชน จึงไม่มีความจำเป็นต้องกังวลว่าธนาคารพาณิชย์จะมีเงินไม่เพียงพอรองรับความต้องการดังกล่าว และขอให้เข้าใจว่าเม็ดเงินสำหรับการถอนเงินและการลงทุนเป็นคนละส่วนกัน

ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากประกาศสั่งปิดสถานที่ต่างๆ นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมชุดมาตรการเยียวยาไว้แล้ว แต่ต้องรอให้ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่จะถึงนี้ (24 มี.ค.) ก่อน โดยนายประสงค์ย้ำว่า เมื่อมาตรการต่างๆ ผ่านครม.แล้วกระทรวงการคลังก็พร้อมดำเนินการโดยทันที 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :