ตามธรรมชาติแล้ว จุดยืนทางการเมืองอันหลากหลายเป็นความสวยงามของสังคมประชาธิปไตย ทว่าประเทศไทยในปัจจุบันกลับไม่มองเช่นนั้น ความแตกต่างถูกตีความเป็นความแตกแยก ตั้งแต่ในระดับรากแก้วของโครงสร้างสังคมไล่ไปจนถึงรากฝอยของสถาบันครอบครัวที่รังแต่ปริร้าวเพิ่มขึ้น
ยิ่งมวลชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยดัน 'เพดาน' ขึ้นไป สังคมส่วนอื่นยิ่งรู้สึกว่ากำลังถูกท้าทาย ลบหลู่ และโค่นล้ม จนกลุ่มบุคคลที่กำลังถามหาบรรทัดฐานความถูกต้องในสังคมกลายเป็น 'ศัตรู' แม้กลุ่มบุคคลนั้นจะให้บังเอิญเป็นสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนฝูง
'วอยซ์ออนไลน์' ลงพื้นที่ม็อบคณะราษฏรพูดคุยกับผู้มาร่วมการชุมนุมถึงประสบการณ์ตรงที่จุดยืนทางการเมืองส่งผลกระทบกับชีวิตความสัมพันธ์ของพวกเขา
ชายหนุ่มวัย 30 ปี ที่กำลังยืนฟังแกนนำปราศรัยระหว่างที่ 3 ตัวแทนกลุ่ม ได้แก่ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล (มายด์), จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่) และ วารินทร์ แพทริก เข้ายื่นหนังสือต่อตัวแทนสถานทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อ 26 ต.ค.หันมาพูดคุยกับวอยซ์ออนไลน์ในประเด็นความฝันทางการเมืองที่เขาหวังร่วมผลักดันจนกลายเป็นความจริงในอนาคต ก่อนจะพักประเด็นดังกล่าวไว้แล้วขยับเลื่อนเข้าสู่เรื่องใกล้ตัวอย่างสถาบันครอบครัว
ชายหนุ่มท่าทางสุภาพเล่าให้ฟังว่า เขาเป็นหนึ่งในผู้คนที่ต้องเผชิญหน้าความแตกต่างทางความคิดประเด็นการเมืองรวมถึงความเชื่อมั่นในสถาบันสูงสุดของประเทศกับครอบครัวตนเอง ทั้งยังต้องแบกรับวาทกรรมซ้ำๆ อย่าง 'ล้มเจ้า' 'ถูกหลอก' และ 'ถูกชักจูง' โดยใครบางคน
"ผมมองว่าเด็กหลายคนมีวุฒิภาวะพอสมควรในการอยู่ในจุดนั้น มันอึดอัดที่ผู้ใหญ่แชร์หรือส่งสารได้ แต่เรากลับรู้สึกว่าถ้าส่งหรือแสดงความคิดเห็นไปมีแต่ทะเลาะกันโดยเฉพาะในแช็ต มันอึดอัด ทำอะไรไม่ได้ ทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง"
ชายหนุ่มชี้ว่า วิธีจัดการปัญหาดังกล่าวอาจแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือให้เริ่มจากการจัดการความรู้สึกของตนเองก่อน "คงต้องบอกตัวเองที่จะทำใจยอมรับมันให้ได้ก่อน" จากนั้นเมื่อเข้มแข็งเพียงพอ เวลาที่มีโอกาสได้พบหน้าและพูดคุยกันอาจลองเริ่มจากการตั้งคำถามว่าสิ่งที่อีกฝ่ายแชร์มาเป็นเรื่องจริงใช่หรือไม่ เพื่อลองดูว่าเขาพร้อมรับฟังชุดข้อมูลของเราหรือไม่
หากอีกฝั่งหนึ่งยังไม่พร้อม ชายหนุ่มคิดว่าคงไม่มีความจำเป็นต้องบังคับให้เกิดการทะเลาะกัน เนื่องจากกระบวนการถ่ายทอดข้อมูลต้องใช้เวลา ทั้งยังต้อง "กะเทาะ" สิ่งยึดเหนี่ยวเก่าๆ ออกทีละนิดด้วยเช่นเดียวกัน
"มันคงเป็นไปอย่างช้าๆ ค่อยๆ กะเทาะไป คนบางคนที่อาจจะปิด บางทีอาจจะมีเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เขาเปิดรับฟังมากขึ้น แต่ว่าถ้าผู้มีอำนาจไม่พยายามรับฟัง มันคงช้า เพราะว่าคนที่จะทำให้อีกฝ่ายที่เห็นตรงกันข้ามกับการปฏิรูปสถาบันฯ ทำความเข้าใจข้อเรียกร้องนี้ได้คงต้องมีคนที่มีอำนาจในฝ่ายนั้นพูดและทำความเข้าใจข้อเรียกร้องให้กับอีกด้านนึงฟัง ดังนั้น ในฐานะคนที่ออกมาชุมนุม สิ่งที่เราทำได้คือพยายามสร้างให้เห็นว่ามีความต้องการนี้อยู่"
รอบนอกของการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี วอยซ์ออนไลน์ชวนกลุ่มนักศึกษา 3 คน ที่กำลังพูดคุยปัญหาสังคมมาร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งต่ออนาคตที่พวกเขาพยายามต่อสู้ให้ได้มาอย่างที่ต้องการ พร้อมกับการต่อสู้อย่างเงียบๆ กับ 'ช่องว่างระหว่างความคิด'
นักศึกษาชายในกลุ่มนั้นพูดกับเราในฐานะสื่อว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ความไม่เข้าใจระหว่างรุ่นของผู้คนถ่างกว้างขนาดนี้มาน้ำหนักไม่น้อยจากสื่อมวลชนที่เสมือน 'สื่อสารไม่ถึงมวลชน' อย่างที่บทบาท หน้าที่ และจริยธรรมของวิชาชีพควรกำหนดให้เป็น
"ผมมีแม่อยู่ต่างจังหวัด โทรไปหาแม่แต่ละครั้ง แม่ไม่รู้เรื่องที่เกิดขึ้นเลย ผมคิดว่าเขาคงไม่ได้มาเล่นโซเชียลเหมือนเรา แต่ว่าสิ่งที่สำคัญคือสื่อหลักต้องทำหน้าที่เป็นสื่อกลางและเป็นกระบอกเสียงให้กับคนในประเทศ ให้รับรู้ข้อมูลเท่ากัน"
เขาอธิบายต่อไปว่า ม็อบปัจจุบันไม่ใช่คนรุ่นใหม่ต่อสู้กับคนรุ่นเก่า โดยการแบ่ง 'รุ่นใหม่' และ 'รุ่นเก่า' ตามช่วงอายุ แต่เป็นการต่อสู้กันระหว่างคนที่ได้รับข้อมูลแล้วกับคนที่ยังไม่เปิดรับชุดข้อมูลจากของอีกฝ่ายเพื่อให้เกิดการถกเถียงที่ตั้งอยู่บน 'ความเป็นจริง'
"คนยุคนี้ที่เขามาม็อบกัน เขาไม่ได้มาจากความเชื่อหรือความศรัทธา หรืออะไรที่เป็นนามธรรม เรามาจากสิ่งที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ เราศึกษา เรามีความจริง เรามีข้อมูล เรามาที่นี่เพราะเรามีข้อมูลที่จะมาต่อสู้ มีเหตุผลที่จะมาบอกว่าทำไมเราถึงมาทำ เราไม่ได้บอกว่ามาทำเพราะลมปาก"
ทว่าเมื่อสื่อหลักไม่อาจสื่อสารข้อมูลที่กลุ่มผู้มาประท้วงพยายามสื่อสารกับสังคมโดยรวมออกไปได้ จึงเป็นช่องว่างสำคัญให้เกิดการตีความไปในทิศทางใดก็ได้สุดแล้วแต่ผู้ตีความ นักศึกษาหนุ่มจึงชี้่ว่า ปัจจุบัน ผู้ชุมนุมเลยต้องทำหน้าที่ทั้งออกมาประท้วงบนท้องถนนและพยายามทำตัวเป็นผู้ให้ข้อมูล แต่ในตอนท้าย "ถ้ามันถึงจุดที่เราให้ความรู้เขาแล้ว เขาตัดสินใจแล้ว แล้วยังเป็นแบบเดิม ไม่มีเหตุผลที่จะต้องอยู่ด้วยกันอีกต่อไป"
นักศึกษาหญิงคนที่สองในกลุ่มเพื่อนวัยอุดมศึกษานี้ถ่ายทอดความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความอัดอั้นว่าอย่างน้อยที่สุดตัวเธอ เพื่อน และผู้ที่มาชุมนุมทุกคนได้ร่วมกันแสดงออกแล้ว แม้จริงอยู่ที่ผู้มีอำนาจแทบไม่ตอบสนองกลับมา หรือมีปัญหากับคนในครอบครัว แต่เธอเชื่อมั่นเต็มที่ว่ากระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว และจะไม่หวนกลับ เพราะผู้ขับเคลื่อนกระแสดังกล่าวคือเหล่าคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังหลักของประเทศไทย
"คนเราต้องการการเปลี่ยนแปลง คนเราไม่ได้จะอยู่เฉยๆ ตลอดเวลา ระยะเวลาผ่านไป โลกเปลี่ยนไป เราก็ต้องเปลี่ยนไปตามด้วย"
เธอตอบอย่างอ่อนใจเมื่อพูดถึงวิธีเชื่อมความคิดเห็นผู้อยู่กันคนละขั้วว่าทำได้ดีที่สุดคือ "กะเทาะเปลือกไปเรื่อยๆ" เพราะท้ายที่สุดแล้ว หากไม่เริ่มทำอะไรสักอย่าง การเปลี่ยนแปลงจะไม่มีวันเกิดขึ้น ในเมื่อ ณ วันนี้ทุกอย่างเริ่มไปแล้ว ก็เพียงสานต่ออุดมการณ์ตรงนี้ต่อไป
"ถ้าเราได้เริ่ม อย่างน้อยต้องมีการกะเทาะเปลือกบ้าง มีการเปลี่ยนแปลงบ้าง อย่างน้อยได้แค่หวัง ก็หวังว่าเขาจะกะเทาะเปลือกตรงนั้นออกมาได้"
"ไม่รู้ว่าเขาจะเปลี่ยนไปได้ตอนไหน ทำได้แค่รอเขาตอบสนองกลับมา"
นักศึกษาหญิงอีกคนในกลุ่มเพื่อนซึ่งเรียนในสาขาภาพยนตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เสริมว่า บางทีอาจไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวคิดของผู้คนกลุ่มอื่นๆ ให้หันมาเห็นตรงกับสิ่งที่กลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในปัจจุบันปักธงไว้ เพียงแต่กลุ่มที่สู้ให้สู้ต่อไปตามแนวทางที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงระหว่างกัน
เธอกล่าวอย่างเข้าอกเข้าใจว่าสรรพสิ่งที่ปลูกฝังไว้กับแนวความคิด ความเชื่อ การดำรงอยู่ของคนรุ่นก่อนเป็นเรื่องที่มีอิทธิพลและยึดโยงกันมาทั้งชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพามาเปลี่ยนแนวคิดกันใหม่ทั้งหมด ทว่าความพยายามในการแสดงออกของผู้เรียกร้องในปัจจุบัน ทั้งทางตรงผ่านการปราศรัย ไปจนถึงรูปแบบในเชิงสัญญะผ่านงานศิลปะอาจเป็นกลยุทธ์แบบประณีประณอมให้คนเริ่มเกิดความสนใจได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ทุกอย่างจะดำเนินต่อไปได้ ความพยายามเชื่อมครอบครัวจะมีประสิทธิภาพ ผู้มีอำนาจของประเทศ ผู้บริหารงานรัฐบาลจำเป็นต้องมอบพื้นที่และรับฟังข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่การปฏิบัติราวกับ "เสียงของเรามันไม่มีความหมายกับเขาเลย" เหมือนที่ผ่านมา
แม้ประเด็นความขัดแย้งในครอบครัวไม่มีคำตอบตายตัวให้กับทุกกรณี แต่เมื่อพาพวกเขากลับมาตอบถึงภาพฝันที่มองประเทศไทยเมื่อการเมืองดีเป็นอย่างไร ทุกคนกลับตอบได้อย่างฉับพลับ เสมือนภาพเหล่านั้นปรากฎชัดในจินตนาการของพวกเขาอยู่ก่อนแล้ว
นักศึกษาหญิงผู้ศึกษาเอกภาพยนตร์มองเห็นประเทศที่เปิดโอกาสให้เธอได้ทำงานในสายอาชีพที่เธอกำลังศึกษาโดยไม่โดนตั้งคำถามว่า "จบไปจะมีงานทำไหม" เธอเชื่อสนิทใจว่างานศิลปะควรทำเงินได้ และควรทำเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ ไม่ใช่มีบทบาทเป็นเพียงงานเสริมหรืองานฟรีแลนซ์เท่านั้น
เธอยังตั้งข้อสังเกตุเพิ่มว่า "ขนาดเรารู้สึกว่าประเทศมันเละเน่าขนาดนี้ คนต่างชาติยังมากันเยอะเลย ถ้าเราสามารถส่งเสริมการคมนาคม การขนส่ง ให้เดินทางสะดวก มีทางเท้าที่ดี มีทรัพยากร มีอาชีพอย่างผู้ให้บริการทางเพศ คนที่เขาเดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อมาซื้อก็มี ถ้าสนับสนุนให้ถูกกฎหมาย เราสามารถทำให้มันเป็นอาชีพที่เป็นเมืองท่องเที่ยว เรียกคนต่างชาติได้ดีมากๆ ด้วยซ้ำ"
นักศึกษาผู้หญิงอีกหนึ่งคนตอบคำถามเราผ่านคำถามง่ายๆ ว่า ตนเองเกิดมา 20 ปี แล้ว ความเจริญยังเดินทางไปไม่ถึงบ้านเกิดของตัวเอง ถ้าการเมืองดี สถานการณ์ควรเป็นเช่นที่เป็นเหรอ
"ออกไปแค่ลาดพร้าว ออกไปดอนเมือง ก็เห็นถึงความต่าง คมนาคมต่างๆ มันไม่ถึง แถวบ้านหนูยังใช้รถสองแถว คนยังไม่มีบ้าน แล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงสักที หนูรู้สึกว่าเราต้องออกมาทำอะไรสักอย่าง เราไม่สามารถยอมรับสิ่งนี้ได้ นี่ไม่ใช่สภาพปกติในการใช้ชีวิตอีกต่อไป เราต้องเปลี่ยนตอนนี้"
ด้านนักศึกษาชายในกลุ่มเดียวกันเสริมว่า เศรษฐกิจภาพรวมควรตอบโจทย์คนในประเทศ หากมองในภาพย่อยลงมา นักศึกษาหนุ่มชี้ว่า ที่ผ่านมาคนไทยเสียเงินให้กับขนส่งมวลชนที่เสมือนเป็นหัวใจของการเดินทางในตัวเมืองอย่างรถไฟฟ้าทั้งบีทีเอสและเอ็มอาร์ทีในสัดส่วนที่ไม่ตอบโจทย์กับรายรับ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไข เช่นเดียวกับความหวังในการหางานทำของคนรุ่นใหม่ที่ยิ่งนานวันยิ่งริบหรี่
"เกิดประเทศไหน เขาต้องอยากทำงานในประเทศนั้น"
ชายหนุ่มวัย 30 ปิดท้ายคำถามนี้ของวอยซ์ออนไลน์ด้วยคำตอบสั้นๆ ว่า "ถ้าการเมืองดีทุกอย่างมันเป็นไปได้" พร้อมขยายความทุกความเป็นไปได้ของเขาด้วยตัวอย่างว่า ในประเทศที่มีการเมืองดี ผู้คนที่ต้องการทำธุรกิจ ควรมีความสามารถในการทำธุรกิจ ไม่ใช่ความสามารถในการใช้เส้นสายให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการค้า ขณะที่สถานศึกษาทุกแห่งควรเป็นสถานศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ ไม่ต้องพาครอบครัวที่อาศัยอยู่ฝั่งหนึ่งของเมืองข้ามไปเรียนโรงเรียนที่ห่างบ้านออกไปไกล หรือแม้กรณีการเกณฑ์ทหาร ผู้ชายควรมีสิทธิเลือกเช่นเดียวกันว่าเขาอยากเป็นทหารหรือไม่โดยไม่ต้องพึ่งอำนาจเงิน
ท้ายสุด ชายวัยทำงานชี้ว่า หากสิ่งที่เขาหวังไม่เป็นจริงในเร็ววัน หรือไปไม่ถึงจุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ตนเองจะผิดหวังกับสังคมระดับนึง และคิดว่าอีกหลายคนคงเห็นไม่ต่างกัน ท้ายสุด หลายคนคงต้องไปหาประเทศที่ให้ความเป็นไปได้กับชีวิตมากกว่านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;