ไม่พบผลการค้นหา
การเป็นเพศที่ 3 ไม่จำเป็นต้องแต่งหญิง หรือเป็นตลก ความในใจจาก 'เต็งหนึ่ง' คณิศ ปิยะปภากรกูล อดีตนักร้องบอยแบนด์ ที่ออกมายอมรับว่า ตัวเองเป็นเกย์ ที่อยากให้ทุกคนมีทัศนคติใหม่

หลังออกมาประกาศ ยอมรับ ว่า 'ตัวเองเป็นเกย์' เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2561 อดีตนักร้องบอยแบนด์ เต็งหนึ่ง คณิศ ปิยะปภากรกูล ก็ได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ผ่านทางโลกออนไลน์ โดยเฉพาะ เมื่อเขาประกาศตัว ก็มีการเรียกสรรพนามใหม่ว่า คุณแม่ และรอการแต่งตัวเป็นผู้หญิง ?

โดยทีมข่าว วอยซ์ออนไลน์ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ เต็งหนึ่ง ถึงประเด็นดังกล่าว เขาเล่าให้ฟังว่า หลังเปิดตัว ก็มีคนบอกว่า “ฉันได้คุณแม่เพิ่มแล้ว หรือว่า ฉันได้เพื่อนสาวเพิ่ม ผมเข้าใจนะครับ ทุกคนก็คงคาดหวังว่า เอาหล่ะ เต็งหนึ่ง จะต้องแต่งหญิงแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้ว คนที่เป็น LGBT หลายๆ คน ไม่ได้ชอบการเป็นคุณแม่ขนาดนั้น เขายังอยากเป็นผู้ชายคนหนึ่ง หลายๆ คนยังอยากหล่อ ยังอยากดูแลตัวเอง เล่นกีฬา หรือทำอะไร พอเป็นเกย์ ต้องตลก ต้องเป็นคนให้ความบันเทิง จริงๆ แล้ว ผมอยากเปลี่ยนทัศนคติผู้คน ว่าคนเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องตลก ต้องแต่งหญิง พวกเขา มีชีวิตที่เรียบง่าย ถ้ามองรอบๆ เราจะเห็น โดยเฉพาะคนในวงการ ที่เป็นเกย์ เป็นเพศที่ 3 เยอะมาก เขาก็ใช้ชีวิตอย่างปกติ อย่างมีความสุข ไม่ต้องตลกก็ได้"

"ผมก็เข้าใจนะ ด้วยภาพจำในงานบันเทิงต่างๆ มักจะสร้างให้กลุ่มคนเหล่านี้ มีความแตกต่าง สมมติว่า คนนี้จะต้องรับบท เป็นผู้จัดการศิลปิน หรือชjางแต่งหน้า เขาก็จะใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการ ตลกไปเลย แต่งตัวสีสันจัดจ้าน หรืออะไรที่ค่อนข้างจะเห็นแล้วรู้เลย จนกลายเป็นภาพจำ ในงานบันเทิง 

“ผมเป็นคนที่เคารพตัวเอง คือเราอยากทำอะไร เราอยากเป็นอะไร เราแค่อยากมีความสุข ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทำตามใจตัวเอง แต่ต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน"


สัมภาษณ์เต็งหนึ่ง

เต็งหนึ่ง ยังเล่าว่า ด้วยชีวิตของเขา ที่มีโอกาสได้เดินทางไปหลายประเทศ ทั้งไปเรียนต่อที่ อเมริกา และที่จีน การยอมรับเรื่องเกย์ ประเทศไทยยังเปิดกว้างมากกว่าประเทศอื่นๆ “ประเทศไทย เป็นประเทศที่เปิดกว้างนะครับ แล้วรู้สึกว่า เป็นประเทศที่ คนเป็น LGBT อยู่แล้วมีความสุขนะ ถึงแม้ประเทศเรากฏหมายยังไม่รองรับทั้งหมด แต่ก็ยังมีคนไทยหลายๆ คน ยังไม่เข้าใจ ว่าจะต้องปฏิบัติตัวกับพวกเรายังไง”


การเปิดเผย ชีวิตว่า เป็นเกย์ จริงๆแล้ว 'เต็งหนึ่ง' ตั้งใจเปิดตัว ตั้งแต่รับแสดงซีรี่ส์ GAY OK BANGKOK

“ในซีรี่ส์ เรื่อง GAY OK BANGKOK ผมรับบทบาทเป็น นัท หนุ่มวัยทำงาน อายุ 30 ปี ที่ติดเชื้อ HIV ซึ่งการรับแสดงเรื่องนี้ ผมตั้งใจบอกทุกคน กลายๆ นะครับ จริงๆตั้งใจบอกตั้งแต่วันนั้น เพราะทางบ้านผมค่อนข้างจะเปิดเรื่องนี้อยู่แล้ว ผมก็เลยรู้สึกว่า ในเมื่อเราสบายใจ ที่บ้านเรามีความสุข ทำไมเราไม่ทำให้มันเป็นเรื่องปกติ แล้วก็สามารถที่จะสอนคนได้ ตอนนั้นพอได้รับการติดต่อ ผมก็รับเลย และอย่างที่ทราบว่าบทบาท นัท เป็นคนที่มีเชื้อ HIV ก่อนถ่ายทำ ผมได้มีโอกาสไปศึกษาเรื่องราวของผู้ป่วย กับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลที่โรงพยาบาลจริงๆ ซึ่งยอมรับว่า ตอนนั้นผมก็ไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ มันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากนะ สิ่งที่ผมชอบที่สุด ก็คือการที่ เราหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูดในมุมที่เหมือนคนเป็นหวัด ทุกอย่างมันดูง่ายแล้วก็เข้าใจได้”

ซึ่งหลังจากซีรี่ส์ชุดนี้ออกอากาศ มีคนที่ติดเชื้อ HIV ตอบกลับมาที่ทีมงาน ว่าเขารู้สึกดีใจที่ชมซีรี่ส์เรื่องนี้ ตอนแรกเขาหมดหวังไปแล้ว เพราะเขาเพิ่งตรวจพบเชื้อ HIV แต่พอได้ดูซีรีส์ เขาได้เห็นว่า จริงๆ แล้วคนที่เป็น HIV เขาก็ดูดีได้ เขายังดูแลตัวเองได้ ยังแต่งเนื้อแต่งตัว ออกไปทำงาน พบผู้คน มีเพื่อน และยังอยู่ในสังคมได้ เหมือนตัวละคร นัท ที่ผมรับบทบาท นอกจากนี้ กลุ่มคนที่เป็น LGBT ยังสะท้อนกลับมาเกี่ยวกับซีรีส์ชุดนี้ ว่าเป็นภาพที่ดีจังเลย นำเสนอมุมมอง ชีวิตคนวัยทำงาน ฐานะปานกลาง เป็นหนุ่มออฟฟิศ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่ในสังคมด้วยซ้ำ มันสะท้อนว่า โอเคนะ จริงๆ แล้ว ทุกอย่างมันดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายได้ โดยที่แบบ ไม่ต้องตลก ไม่ต้องหวือหวา ครับ

สัมภาษณ์เต็งหนึ่ง

โดย ซีรี่ส์ Gay ok Bangkok เป็นซีรีส์ที่นำเสนอมุมมองการใช้ชีวิตของเกย์ในกรุงเทพ ที่สอดแทรกแง่คิดของการรณรงค์ให้มีการป้องกันตัวเองจากโรคทางเพศสัมพันธ์ สามารถติดตามชมได้ทาง Voice TV 21 ทุกวันเสาร์อาทิตย์ เวลา 22.30 -23.30 น.