ไม่พบผลการค้นหา
ติดตามกลุ่ม 'คนทำหนัง' วัยเยาว์ในโครงการผลิตสารคดีสืบสานประเพณีวัฒนธรรม 'ชนเผ่าอิ่วเมี่ยน' อ.กระบุรี จ.ระนอง ถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตวัฒนธรรมชนเผ่า ผ่านการสนับสนุนของ สสส. เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะแก่เด็ก-เยาวชนทั่วประเทศ

สายหมอกยามเช้าที่จางตัวจากแสงแดดอุ่นสาดส่องผ่านช่องหุบเขา กองถ่ายสารคดีกำลังขนเครื่องไม้เครื่องมือไปยังศาลาของหมู่บ้าน สวนทางกับมอเตอร์ไซค์ที่ไต่เนินขึ้นไปตามถนนลูกรัง คนขับเหลียวมองกองถ่ายที่ท่าทางทะมัดทะแมงพลางนึกแปลกใจว่าทั้งหมดล้วนแล้วเป็นเด็ก แต่ก็สิ้นสงสัยเมื่อเห็นเด็กสาวรุ่นราวความเดียวกันแต่งชุดประจำเผ่าเดินสวนลงมา

วันนี้เด็กๆ กลุ่ม "คนทำหนัง" จาก โรงเรียนกระบุรีวิทยา จ.ระนอง มารวมตัวกันใน "โครงการผลิตสารคดีสืบสานประเพณีวัฒนธรรมของชนเผ่าอิ่วเมี่ยน" โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่สนับสนุนกิจกรรมดีๆ เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะให้แก่เด็กและเยาวชนทั่วประเทศ

09.JPG


"อิ่วเมี่ยน" เป็นชาติพันธุ์พื้นที่สูงที่รู้จักกันในชื่อ "ชาวเขาเผ่าเย้า" มีถิ่นเดิมทางตอนใต้ของจีนและอพยพมาอยู่ทางตอนเหนือของไทยและมีการย้ายถิ่นมาถึงเขตภูเขาบริเวณภาคเหนือตอนล่าง

ที่บ้านในกรัง ต.จ.ป.ร. อ.กระบุรี จ.ระนอง เป็นเขตต้นน้ำ ติดกับชายแดนสหภาพเมียนมาซึ่งมีแม่น้ำกระบุรีเป็นเขตแดน มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงไม่แตกต่างกับทางเหนือของไทย มีชาวไทยจากหลายพื้นที่อพยพมาตั้งรกรากทั้งชาวเหนือ ชาวอีสาน และชาวใต้ อิ่วเมี่ยนเป็นอีกกลุ่มที่อพยพมาตั้งรกรากที่นี่ราวสี่สิบปีมาแล้ว

โดยมาตั้งบ้านเรือนประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยาง สวนผลไม้ และปลูกกาแฟเป็นหลัก โดยที่ยังสืบสานประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อของชนเผ่าไว้ได้ ชุมชนอิ่วเมี่ยนบ้านในกรังซึ่งมีประมาณสิบกว่าครัวเรือนจึงยังมีการดำรงชีวิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตามประเพณี ที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจนคือ การแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง ชุดประจำชนเผ่าที่มีความงดงาม และภาษาที่ใช้ในการสื่อสารเป็นภาษาชนเผ่า ซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดระนอง

08.JPG

แม้ว่าจะมีการสืบทอดวัฒนธรรมกันเหนียวแน่น แต่ในปัจจุบันอัตลักษณ์ของชนเผ่าอิ่วเมี่ยนได้ถูกหลงลืมไปเนื่องจากเทคโนโลยีและสื่อเข้ามาอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตมากขึ้น คนรุ่นหลังในชนเผ่าไม่ค่อยสนใจที่จะสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมของตน ซึ่งมีเด็กๆ กลุ่มหนึ่งมองว่า ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป อาจจะทำให้วัฒนธรรมที่ดีงามนี้เลือนหายไปในที่สุด จึงเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาอยากเป็นกระบอกเสียง เป็นตัวแทนที่จะนำประเพณีวัฒนธรรมของชนเผ่าอิ่วเมี่ยน มาเผยแพร่เพื่อให้พี่น้องชาวบ้านในกรังซึ่งมาจากพื้นถิ่นอื่น และคนรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจได้รู้จักกับวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ของชนเผ่าอิ่วเมี่ยน ผ่านกระบวนการทำหนังสารคดี เพื่อส่งต่อ ถ่ายทอด เรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมของกันและกัน ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ซึมซับและสืบทอดต่อไป

"ชุดนี้หนักและหนามากค่ะ ซักไม่ได้ พอใส่แล้วค่อนข้างร้อนมาก" น.ส.สุพิชชา โมกสากุล หรือ น้องเหมย ผู้เป็นลูกหลานอิ่วเมี่ยนบ้านในกรังซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างทีมถ่ายสารคดีกับชาวบ้านในชุมชนอธิบาย วันนี้น้องเหมยแต่งชุดประจำเผ่าสวยงามเพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งข่าวของสารคดีด้วย โดยเข้ากล้องถ่ายทำกับบรรดาผู้อาวุโสของชุมชนเล่าประวัติความเป็นมาของชุมชนอิ่วเมี่ยนบ้านในกรัง

05.JPG

"ประทับใจมากค่ะ ทั้งคนในชุมชนที่ให้ความร่วมมือและเพื่อนๆ ที่ไม่ได้อยู่ในโครงการ แต่ละคนอยู่กันไกล ๆ แต่ก็เข้ามาช่วยกันอย่างเต็มที่" น.ส.พัชริดา ขุนเพ็ชช์ หรือ น้องฟาง ผู้กำกับและเขียนบทสารคดี ประทับใจในการทำงานครั้งนี้และบอกเล่าถึงที่มาของโครงการว่าเกิดขึ้นเพราะตนเองอยากเรียนรู้และอยากให้คนอื่นเรียนรู้ไปด้วยกัน

"หนูมีความสนใจทำสารคดีอยู่แล้ว และก็เคยทราบว่าเพื่อนเป็นอิ่วเมี่ยน เมื่อมีโครงการที่ สสส. สนับสนุน ก็เลยอยากทำ ไปชักชวนเพื่อนๆ มาทำสารคดีกัน โดยให้เหมยเป็นคนเดินเรื่องเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนตนเอง" น้องฟางเล่า

ลำพังโดยเด็กๆ กลุ่มนี้คงทำงานไม่สะดวกนักเพราะต้องขึ้นเขามาถ่ายทำสารคดีกันในพื้นที่ห่างไกล คนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเด็กๆ ที่ทุ่มเททั้งเวลา ลงทุนซื้อเครื่องมือถ่ายสารคดีระดับมืออาชีพ และพาหนะเดินทาง รวมทั้งจัดหาวิทยากรมาสอนให้เด็กๆ รู้จักวิธีทำสารคดีนั่นก็คือ ว่าที่ ร.ต. ชัชพงศ์ ด้วงงาม หรือ ครูรุจ อาจารย์โรงเรียนกระบุรีวิทยา ผู้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงโครงการด้วย

04.JPG

"จุดเริ่มต้นที่เด็กๆ ช่วยกันคิดคือ อยากให้นักเรียนในโรงเรียนได้รับรู้ว่าบ้านเรามีชนเผ่าชาวเขาที่มาจากทางเหนือด้วย อยากให้พวกเขาได้รู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมกัน นักเรียนที่เป็นชนเผ่าก็จะรู้สึกภูมิใจและซึมซับวัฒนธรรมของตนเองและรักษาไว้ เมื่อสารคดีถูกเผยแพร่ออกไป ยิ่งเป็นวงกว้างยิ่งเป็นผลดีต่อชุมชน ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวของจังหวัดระนอง ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้น" ครูรุจสรุปวัตถุประสงค์ของเด็ก ๆ ที่ร่วมกันทำโครงการนี้ ซึ่งก็สำเร็จได้ด้วยดีทั้งการเผยแพร่ทั้งหนังสั้นและสารคดีของชาวอิ่วเมี่ยนให้แก่นักเรียนในโรงเรียนและชาวอิ่วเมี่ยนในพื้นที่ได้รับชม รวมทั้งการเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ไปสู่วงกว้างก็ได้รับการตอบรับดีมาก

06.JPG

"จากที่เด็ก ๆ มักจะติดโทรศัพท์และสื่อโซเชี่ยล การที่เด็ก ๆ ได้มีโอกาสรวมตัวกันทำสารคดี เป็นการใช้สื่อได้อย่างสร้างสรรค์ ได้สร้างแรงบัลดาลใจด้วยกัน สามารถตอบโจทย์สุขภาวะทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ดี รวมทั้งเป็นการพัฒนาทั้งสติปัญญาและศักยภาพทางทักษะอาชีพให้แก่เด็ก ๆ ด้วย และที่สำคัญคือเด็ก ๆ เกิดความรักท้องถิ่นและรักชุมชนมากขึ้น ประทับใจจนอยากบอกเล่าสิ่งดี ๆ เหล่านี้ให้คนทั่วไปได้รับรู้ นับได้ว่าโครงการนี้มีความสำเร็จอย่างน่าพอใจมาก" น.ส.ณัฐกานต์ ไท้สุวรรณ ผู้จัดการโครงการพัฒนาศักยภาพและติดตามสนับสนุนการดำเนินงานโครงการสร้างเสริมสุขภาพงานด้านเด็กและเยาวชนจังหวัดระนอง ชื่นชมกันผลงานของเด็กๆ ที่สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ในทุกๆ มิติ

14.JPG

ซีนสุดท้ายของวันนี้ที่เด็ก กำลังถ่ายภาพดอกกาแฟบานหอมอบอวลเพื่อใช้เป็นตัวแทนบอกเล่าความสำเร็จของชาวอิ่วเมี่ยนที่สามารถพัฒนากระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟที่ดี จนติดอันดับโลกได้และมีความต้องการในตลาดสูงสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน สะท้อนให้เห็นหลากมิติของชุมชนบ้านในกรัง ชาวกระบุรี จังหวัดระนอง และประเทศไทยว่า ด้วยแรงสนับสนุนของผู้ใหญ่ จะส่งเสริมให้เด็กๆ ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างงดงามและมั่นคง