จริงอยู่ที่การวิเคราะห์เศรษฐกิจไม่อาจปฏิเสธการคงอยู่อย่างแนบสนิทของรูปแบบการปกครองทางการเมือง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า 'นักลงทุน' ต้องเลือกทุ่มเงินให้กับบริษัทที่ตอบโจทย์จุดยืนทางการเมืองเสมอไป
เมื่อพิจารณามูลค่าการซื้อขายหุ้นไอพีโอ (IPO) หรือการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกที่สูงสุดในโลก 10 อันดับแรก ข้อมูลจาก Statista ประกอบรวมกับ Investopedia พบการแทรกตัวอยู่ของบริษัทสัญชาติจีนถึง 3 แห่ง และอาจกลายเป็น 4 จากทั้งหมด 10 บริษัท (มหาชน) หากธนาคารกลางจีนจัดการปัญหาคาราคาซังกับ 'แอนท์ กรุ๊ป' ได้สักที
แม้จะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลในเชิงกายภาพและจิตใจของชีวิตมนุษย์ ทั้งยังเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของการคงอยู่หรือล่มสลายของประชาธิปไตยและความมั่นคงของประเทศชาติ แต่เมื่อย้อนกลับไปวันที่ 1 พ.ค. 2555 มูลค่าจากหุ้น IPO ของเฟซบุ๊ก อยู่เพียง 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 480,000 ล้านบาท ไม่ติด 10 อันดับแรกของมูลค่าหุ้น IPO ที่สูงที่สุดในโลก
โดยผู้ชนะที่แท้จริงของสถิติดังกล่าวตกเป็นของ 'ซาอุดี อารามโก' บริษัทน้ำมันและพลังงานของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียที่เปิดระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ตอดาวุล (Tadawul) ในราคาราว 30 - 32 ริยัลซาอุดีอาระเบีย หรือประมาณ 242 - 359 บาท ด้วยจำนวนทั้งหมด 3,000 ล้านหุ้น เมื่อเดือน ธ.ค. 2562
บริษัทสามารถทำเงินไปได้ถึง 29,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 882,000 ล้านบาท เอาชนะแชมป์เก่าอย่าง 'เครืออาลีบาบา' ที่ครองตำแหน่งสูงสุดในมูลค่าการซื้อขายที่ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 750,000 ล้านบาท
แม้จะเป็นบริษัทให้บริการอีคอมเมิร์ซออนไลน์ที่มี 'แจ็ค หม่า' เป็นผู้ก่อตั้ง แต่ในปี 2557 อาลีบาบาไปจดทะเบียนอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) ของสหรัฐฯ ไม่ได้เลือกจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (NASDAQ) ที่มีบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังของโลกมากมายเข้าไปจดทะเบียน อาทิ แอปเปิล, อัลฟาเบตซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล, ไมโครซอฟท์, เฟซบุ๊ก หรือเทสลา
ขณะ 'ซอฟต์แบงก์' บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2527 โดยมุ่งเน้นไปที่โทรโนโลยีโทรคมนาคมเป็นอันดับแรก ก่อนกลายมามีชื่อปรากฏอยู่ตามสื่อในฐานะผู้ลงทุนให้กับเหล่าสตาร์ทอัพทั่วโลก ติดอยู่ในลำดับที่ 3 บริษัทที่มีมูลค่าการขายหุ้นไอพีโอ สูงที่สุดตลอดกาล ด้วยตัวเลข 23,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 705,000 ล้านบาท
ความโดดเด่นอย่างมีนัยสำคัญของสถิตินี้อยู่ในบริษัทเจ้าของลำดับที่ 4 และ 5 ที่สามารถระดมทุนได้ใกล้เคียงกันด้วยตัวเลข 22,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 663,000 ล้านบาท และ 21,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 657,000 ล้านบาท โดยเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการธนาคารของจีนทั้งคู่
ธนาคารการเกษตรแห่งประเทศจีน (Agricultural Bank of China) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ธนาคารรายใหญ่ภายใต้ชื่อ 'บิ๊กโฟร์' ของประเทศ ยื่นขายไอพีโอครั้งแรกเมื่อ 7 ก.ค. 2553 คิดเป็นมูลค่าราว 19,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงิน 576,000 ล้านบาท ก่อนที่จะเพิ่มขนาดการขายไอพีโออีกราว 3,400 ล้านแชร์ ในมูลค่าหุ้นละ 2.68 หยวน (12.44 บาท) จนทำมูลค่าขึ้นไปแตะ 663,000 ล้านบาท ขณะที่ ธนาคารไอซีบีซี ซึ่งขายไอพีโอตั้งแต่ปี 2549 รั้งอยู่ในอันดับที่ 5
ด้านกลุ่มบริษัทประกันชื่อดังอย่าง AIA ติดเข้ามาอยู่ในอันดับที่ 6 ด้วยมูลค่า 20,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 615,000 ล้านบาท ขณะที่ผู้ประกอบการยานยนต์สัญชาติอเมริกันอย่าง General Motors หรือ GM ซึ่งเป็นเจ้าของทั้งแบรนด์อย่าง คาดิลแลค (Cadillac) และ เชฟโรเลต (Chevrolet) อยู่ในอันดับถัดมาที่มูลค่าไอพีโอ 20,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 603,000 ล้านบาท
ความน่าสนใจเกิดขึ้นอีกครั้งกับบริษัทโทรคมนาคมสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง NTT Docomo ที่ขายไอพีโอตั้งแต่ปี 2541 ด้วยมูลค่า ณ ขณะนั้นที่ 18,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 552,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากคำนวณเม็ดเงินที่บริษัทได้รับเมื่อมีการปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว มูลค่าปัจจุบันที่ NTT Docomo ทำได้ จะขึ้นไปสูงถึง 28,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 861,000 ล้านบาท เป็นรองแค่เพียงบริษัทน้ำมันของซาอุดีฯ เท่านั้น
ปิดท้ายสถิติดังกล่าวด้วยบริษัท VISA ในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับบัตรเดบิตและเครดิต ซึ่งยื่นไอพีโอครั้งแรกเมื่อปี 2551 ด้วยมูลค่า 17,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 534,000 ล้านบาท ในลำดับที่ 9 และมี Enel บริษัทพลังงานสัญชาติอิตาลีจบในอันดับสุดท้าย ด้วยเม็ดเงินที่น้อยกว่า VISA เพียง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท ขณะเฟซบุ๊กรั้งอันดับที่ 11
สำหรับประเทศไทยในช่วงต้นปี 2564 คนไม่มีหุ้นไอพีโอตัวไหนได้รับกระแสมากเท่า OR ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ที่ประกาศขายจำนวน 3,000 ล้านหุ้น โดยแบ่งเป็น จำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 2,610 ล้านหุ้น และจัดสรรหุ้นสามัญส่วนเกิน 390 ล้านหุ้น
ตามข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังมีอีกหลายบริษัทที่ยื่นขายไอพีโอในปี 2564 อาทิ DMT : บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบธุรกิจบริหารโครงการสัมปทานทางยกระดับดอนเมืองช่วงดินแดงจนถึงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ระยะทางประมาณ 21.9 กิโลเมตร
ทั้งยังมี NTL : บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ซึ่งให้บริการสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันแบบครบวงจร (รถจักรยานยนต์ รถยนต์ รถบรรทุก รถไถ และรถแทรกเตอร์) สินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสอง และบริการนายหน้าประกันภัยและประกันชีวิต ภายใต้ชื่อแบรนด์ 'เงินติดล้อ' ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแล
อย่างไรก็ดี ความสนใจของนักลงทุนโลกยังคงจดจ่ออยู่กับหุ้นของแอนท์ กรุ๊ป ซึ่งเคยได้รับการประเมินว่าอาจมีมูลค่าสูงกว่า 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่กลับถูกธนาคารกลางของประเทศดับฝันอย่างฉับพลันช่วงปลายปีที่ผ่านมาจากประเด็น 'การผูกขาดตลาด'
ล่าสุด 'ยี่ กาง' ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศจีน เปิดเผยว่ากระบวนการตรวจสอบบริษัทกำลังดำเนินไปอยู่ท่ามกลางความซับซ้อนมากมาย โดยเฉพาะประเด็นความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งานซึ่งต้องมีการร่างกรอบกฎหมายขึ้นมารองรับ แต่แอบเปรยถึงข่าวดีว่า หากทั้งฝั่งผู้กำหนดนโยบายและแอนท์ กรุ๊ป สามารถตกลงกันได้ "ทุกอย่างจะกลับสู่กระบวนการที่ควรเป็นตามกฎหมาย"
อีกหนึ่งบริษัทที่น่าสนใจสำหรับการยื่นขายไอพีโอในปีนี้คือ Coursera แพลตฟอร์มให้ความรู้ออนไลน์ซึ่งในช่วงต้นผู้ก่อตั้งแทบไม่มีความคิดในการพัฒนาช่องทางดังกล่าวให้กลายมาเป็นธุรกิจ เพียงแต่ต้องการทำให้นักเรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้เท่านั้น โดยนักวิเคราะห์มองว่าหาก Coursera ยื่นไอพีโอในปีนี้ จะสามารถทำมูลค่าได้มากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 150,000 ล้านบาท
อ้างอิง; Bloomberg(1), Bloomberg(2), The Verge, PWC, Nasdaq, Protocol, Statista, Visual Capitalist, WSJ, Brookings
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;