ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ 'ภูเก็ต' เรียกร้องความชัดเจนมาตรการ ศบค. ด้าน ส.ส.เพื่อไทย บี้รัฐเร่งกระจายวัคซีน ชี้ความเชื่อมั่นขึ้นอยู่กับความพร้อมรับมือ

งานเสวนา “ภูเก็ต sandbox ปลดล็อกการท่องเที่ยวไทยหรือไม่” ที่พรรคเพื่อไทย โดยมี นิพนธ์ เอกวานิช ประธานกรรมการ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด ร่วมสะท้อนภาพการท่องเที่ยวจ.ภูเก็ต ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ภาคธุรกิจและประชาชนต้องปรับตัวกันอย่างมาก จึงทำให้มีความเสียหายเกิดขึ้นหลายแสนล้าน ทั้งนี้จึงต้องพยายามหาทางออก โดยข้อเสนอโครงการ "ภูเก็ต Sandbox" คือ จะเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดส และมีการตรวจเชื้อแล้ว เข้ามาในพื้นที่จ.ภูเก็ต ก่อน 7 วัน ซึ่งสามารถไปท่องเที่ยวทั้งจังหวัด เมื่อครบ7วันแล้วนักท่องเที่ยวก็สามารถเดินทางออกไปยังจังหวัดอื่นๆในประเทศไทยได้ 

โดยจะต้องมีการตรวจหาเชื้อก่อน ส่วนที่มีการเสนอให้เพิ่มเป็น14 วันนั้น ทำให้เกิดผลกระทบกับนักท่องเที่ยวที่อาจจะเกิดความสับสน ซึ่งยังไม่ได้มีความชัดเจนจาก ศบค.ว่าจะให้ดำเนินการแบบไหน ทั้งนี้ หากจ.ภูเก็ต เปิดได้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการท่องเที่ยว แต่ในจังหวัดต้องมีวัคซีนเพียงพอ70% ขึ้นไป และต้องมีแผนรองรับว่าหากเกิดการติดเชื้อจะดำเนินการอย่างไร อีกทั้งจะต้อง บูรณาการทุกภาคส่วน

ชลน่าน C74A9636-1858-4C96-99CF-F8CE5EF92E98.jpegชนก F9751018-32C1-4859-B6FD-3E270C64A7D8.jpeg


ความชัดเจนต้องมาพร้อมการป้องกัน

ด้าน ชนก จันทาทอง ส.ส.หนองคายพรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ไทม์ไลน์ในการจะเปิดรับท่องเที่ยวจ.ภูเก็ตในวันที่ 1 กรกฎาคม นั้น คาดว่าจะดำเนินการได้ เพราะมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่ไปแล้วกว่า 60% แต่ยังไม่มีความชัดเจนจาก ศบค.ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับการกักตัวนักท่องเที่ยวจะใช้ 7 หรือ14 วัน ซึ่งหากไม่มีความชัดเจนเช่นนี้ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติยกเลิกการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ดังนั้นจึงขอความชัดเจนจาก ศบค.ให้เร็วที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว 

ด้านนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ทีมนโยบายสาธารณสุขพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มาตราการด้านการแพทย์สาธารณะสุขเป็นกุญแจดอกสำคัญ ถ้าสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ ก็จะสามารถปลดล็อกได้ทันที ถ้าจะสร้างความมั่นใจได้ 1.ทุกคนต้องไม่ติดโรค ทั้งคนที่อยู่ และคนที่มาเที่ยว คือต้องมีวัคซีน ร้อยละ70 ของประชากรในพื้นที่ จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ถ้าหากมีคนป่วยสามารถดูแลได้ทันที 2.การเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น มีการตรวจภูมิคุ้มกันให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งมีความสำคัญและทางการแพทย์ต้อง เตรียมพร้อม 

ดังนั้นภูเก็ตต้องใช้การบริหารรูปแบบพิเศษ ไม่ใช่ยังใช้บังคับมาตราการของศบค.อยู่ ถ้าคนภูเก็ตทั้งประชาชนและเอกชนร่วมกันบริหารแบบรูปแบบพิเศษ ก็จะทำให้เกิดภูเก็ต sandbox ได้ การจะใช้ภูเก็ต sandbox เป็นต้นแบบ รัฐบาลลงทุนน้อยมาก ที่จะใช้กับจังหวัดอื่นในภูมิภาคต่างๆ เช่น จ.หนองคาย จ.น่าน คือการลงทุนวัคซีน ซึ่งเป็นการลงทุนที่ถูกมาก หากมีวัคซีน เชื่อว่าศักยภาพของแพทย์พยาบาลพร้อมที่จะฉีดให้กับประชาชน ซึ่งถ้านำงบประมาณที่กู้มาไปใช้ลงทุนกับวัคซีนและภาคธุรกิจ จะทำให้ภาคเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วมาก 

พร้อมแนะนำให้ตั้งบอร์ดบริหารภูเก็ตในรูปแบบพิเศษ นำเสนอนโยบายที่ดีที่สุด เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเอง แล้ว ส.ส.ในสภาจะช่วยติดตามนโยบายให้ เพราะถ้าหากรอให้รัฐบาลคงช่วยอะไรไม่ได้มาก